WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

FITCH12 16ฟิทช์ คงอันดับเครดิต บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ BBB-/AA(tha); แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

      ฟิทช์ เรทติ้งส์ – สิงคโปร์ – 2 กุมภาพันธ์ 2565: บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev ที่ ‘BBB-’  อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันได้คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ ‘AA(tha)’

        การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของ ThaiBev แม้จะอยู่ท่ามกลางความท้าทายในอุตสาหกรรมจากข้อจำกัดในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และมาตรการต่างๆ ในการสกัดกั้นการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดสุทธิ (Free cash flow, FCF) ที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทที่วัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ลดลงมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน ฟิทช์เชื่อว่า ThaiBev จะยึดมั่นในนโยบายของบริษัทฯ ที่จะลดระดับหนี้สินและรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ

 

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อัตราส่วนหนี้สินลดลงอย่างต่อเนื่องแม้จะล่าช้า

 – ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สิน FFO net leverage ของ ThaiBev จะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 4.0 เท่า ในปีงบการเงินสิ้นสุดเดือนกันยายน 2566 (ปีงบการเงิน 2566) เนื่องจากการเติบโตของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำ ธุรกิจสุราของ ThaiBev มียอดขายส่วนใหญ่มาจากการขายปลีกทั่วไปเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน (off-premise)

      ในขณะที่ธุรกิจเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในภูมิภาคเอชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้การเติบโตของกำไรหยุดชะงักในช่วงครึ่งหลังของปีงบการเงิน 2564 ปัจจัยดังกล่าวประกอบกับกระแสเงินสดที่ใช้ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน Frasers Property Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2564 ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.8 เท่า ณ สิ้นปีงบการเงิน 2564 (5.3 เท่า ณ สิ้นปีงบการเงิน 2563)

       ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินของ ThaiBev อาจลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 4.0 เท่าได้ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า หาก BeerCo Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อถือครองหุ้นส่วนใหญ่ของธุรกิจเบียร์ของ ThaiBev ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม สามารถดำเนินการตามแผนที่จะนำหุ้นส่วนน้อยออกเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป (Spin-off) ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความไม่แน่นอนในเรื่องระยะเวลาการดำเนินการตามแผนและจำนวนเงินที่จะได้รับ ฟิทช์จึงไม่ได้พิจารณารวมแผนดังกล่าวในประมาณการทางการเงิน

 

การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของผลประกอบการ

        – ฟิทช์ คาดว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 4.4 หมื่นล้านบาท ในปีงบการเงิน 2565 ทั้งนี้ EBITDA ของบริษัทฯ ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 (4.0 หมื่นล้านบาทในปีงบการเงิน 2564, 4.2 หมื่นล้านบาท ในปีงบการเงิน 2563, 4.0 หมื่นล้านบาทในปีงบการเงิน 2562) ซึ่งเป็นผลมาจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของธุรกิจในประเทศไทย ถึงแม้ว่า EBITDA ในปีงบการเงิน 2564 จะลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยในอัตราร้อยละ 4 ก็ตาม

      ฟิทช์ เชื่อว่า ThaiBev จะสามารถรักษาอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต (EBITDA margin) ในระดับที่แข็งแกร่งประมาณร้อยละ 29-30 โดยได้รับการสนับสนุนจากการปรับเพิ่มระดับราคาสินค้า การประหยัดต้นทุนการผลิตภายในกลุ่มที่ดีขึ้น และประโยชน์จากการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

       ThaiBev สามารถสร้าง EBITDA margin ที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 29 ในช่วงปีงบการเงิน 2563-2564 จากร้อยละ 25 ในปีงบการเงิน 2562 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายทางการตลาดและค่าโฆษณาที่ลดลง ที่ผ่านมา ThaiBev ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายการกระจายสินค้าและขยายเครือข่ายค้าปลีกของตนเองอย่างต่อเนื่อง

       โดยบริษัทฯ ได้ประโยชน์อย่างมากจากความพยายามดังกล่าวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศของ ThaiBev โดยมีกลุ่มร้านค้าปลีกรายย่อยแบบดั้งเดิมเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายหลัก โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการรักษาความแข็งแกร่งของยอดขาย off-premise ของบริษัทฯ

 

การฟื้นตัวของธุรกิจในภูมิภาค

        – ฟิทช์ คาดว่า ผลการดำเนินงานของธุรกิจในประเทศเวียดนามและเมียนมาจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตของ EBITDA ที่ร้อยละ 18 ในปีงบการเงิน 2565 หลังจากที่ลดลงร้อยละ 12 ในปีงบการเงิน 2564 โดยการฟื้นตัวสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่คาดว่าจะคลี่คลายลงและความต้องการซื้อสินค้าที่น่าจะเติบโต ตลาดเบียร์ในประเทศเวียดนามและตลาดสุราในประเทศเมียนมาได้รับผลกระทบอย่างมากจากมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการสกัดกั้นการระบาดของเชื้อโควิด-19 และมาตรการปิดเมือง (lockdown) ในปีงบการเงิน 2564

      ในขณะที่เวียดนาม ได้รับผลกระทบจากกฎหมายควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์สำหรับผู้ขับขี่ตั้งแต่ปีงบการเงิน 2563 อย่างไรก็ตาม EBITDA margin ในทั้งสองประเทศปรับตัวสูงขึ้นในปีงบการเงิน 2563-2564 ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบจากยอดขายที่ลดลง

 

ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำในภูมิภาค

        – สถานะทางธุรกิจของ ThaiBev ได้รับการสนับสนุนจากการเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มในภูมิภาค รวมถึงสถานะผู้นำในตลาดสุราในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการจำหน่ายสุรา โดยธุรกิจนี้มุ่งเน้นการขายแบบ off-premise ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดจากมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการสกัดกั้นการระบาดของเชื้อโควิด-19 

        นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในระดับร้อยละ 35-40 ของปริมาณการจำหน่ายเบียร์ในประเทศไทยและเวียดนาม การขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศเวียดนามและเมียนมาช่วยให้ ThaiBev มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และช่วยให้มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น โดยสัดส่วน EBITDA จากประเทศไทยลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 80 ของ EBITDA รวม จากเดิมที่สูงกว่าร้อยละ 90 ในปีงบการเงิน 2560   

 

ส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยใน Sabeco

        – ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ ThaiBev ฟิทช์ มองว่า ThaiBev และ Saigon Beer-Alcohol-Beverage Corporation (Sabeco) บริษัทย่อยในประเทศเวียดนาม มีความเกี่ยวโยงในด้านการดำเนินงานและกลยุทธ์ทางธุรกิจอยู่ในระดับสูง แม้ว่า บริษัทฯ จะถือหุ้นใน Sabeco ในสัดส่วนเพียงร้อยละ 53.6 ฟิทช์จึงพิจารณากระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO) รวมของทั้งสองบริษัท แต่หักเงินปันผลที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นส่วนน้อยออกในการคำนวณ

       นอกจากนี้ ฟิทช์ ยังถือว่า เงินสดในมือของ Sabeco ในสัดส่วนตามการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (จำนวนประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีงบการเงิน 2564) เป็นเงินสดที่มีภาระผูกพัน ซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นรายการหักในการคำนวณหนี้สินสุทธิได้

 

 

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

        อันดับเครดิตของ ThaiBev สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำทางการตลาดในธุรกิจสุราและส่วนแบ่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเบียร์ ในประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมา ซึ่งถูกชดเชยด้วยการที่บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทั่วโลกที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า

      นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอันดับเครดิตสูงกว่าเหล่านี้ประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพียงธุรกิจเดียว ซึ่งทำให้มีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างสม่ำเสมอแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ในขณะที่ ThaiBev มีโครงสร้างกลุ่มธุรกิจที่ค่อนข้างซับซ้อน รวมถึงมีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีความผันผวนมากกว่า สถานะทางธุรกิจของ ThaiBev แข็งแกร่งกว่าผู้ผลิตเบียร์ในประเทศตุรกี ได้แก่ Anadolu Efes Biracilik ve Malt Sanayii A.S. (Efes, BBB-/Stable) โดย ThaiBev มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า สถานะทางการตลาดในประเทศและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งกว่า อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจที่เหนือกว่าของ ThaiBev ถูกชดเชยด้วยสถานะทางการเงินของ Efes ที่มีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำกว่ามาก ส่งผลให้ทั้งสองบริษัทมีอันดับเครดิตที่เท่ากัน

       เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ สถานะทางเครดิตของ ThaiBev อยู่ในระดับต่ำกว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS, อันดับเครดิต ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) เนื่องจาก ThaiBev มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า โดยทั้งสองบริษัทมีสถานะทางธุรกิจใกล้เคียงกัน ในฐานะผู้นำทางการตลาดในธุรกิจของตน

          ThaiBev มีความเสี่ยงทางธุรกิจในระดับที่ต่ำกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC, อันดับเครดิต AA(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ; สถานะทางเครดิตโดยลำพัง aa-(tha)) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, อันดับเครดิต AA+(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ; สถานะทางเครดิตโดยลำพัง aa-(tha))

        โดย ThaiBev มีฐานะความเป็นผู้นำตลาดและมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดสุทธิที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วน FCF ต่อรายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) อยู่ที่ระดับร้อยละ 8 รวมถึงการเผชิญกับการแข่งขันทางธุรกิจที่ต่ำกว่า ในขณะที่ DTAC ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทย และ PTTGC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจมากกว่า ThaiBev ซึ่งเป็นผลจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตรากำไรในธุรกิจการกลั่นน้ำมัน 

        ทั้ง DTAC และ PTTGC มี FCF เป็นลบเป็นส่วนใหญ่ตลอดช่วงวัฏจักรของธุรกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูงในธุรกิจโทรคมนาคม และความผันผวนของความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจปิโตรเคมี ดังนั้น ThaiBev จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่าสถานะทางเครดิตโดยลำพังของทั้งสองบริษัทหนึ่งอันดับ

 

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

-           รายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) จากธุรกิจในประเทศไทยเติบโตในอัตราร้อยละ 3-6 ต่อปี ในปีงบการเงิน 2565-2567 (ติดลบร้อยละ 2 ในปีงบการเงิน 2564)

-           รายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) รวมจาก Grand Royal Group (GRG) บริษัทย่อยในประเทศเมียนมา และ Sabeco เติบโตในอัตราร้อยละ 8-18 ต่อปี ในปีงบการเงิน 2565-2567 (ติดลบร้อยละ 14 ในปีงบการเงิน 2564)

-           EBITDA margin (โดยเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต) ทรงตัวอยู่ในระดับร้อยละ 34-35 สำหรับธุรกิจในประเทศไทย และร้อยละ 23-24 สำหรับ GRG และ Sabeco (ร้อยละ 22.3 ในปีงบการเงิน 2564)

-           ค่าใช้จ่ายลงทุนประมาณ 7 พันล้านบาท ในปีงบการเงิน 2565 และ 5 พันล้านบาทต่อปี ในปีงบการเงิน 2566-2567 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.5-3 ของรายได้

-           อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ประมาณร้อยละ 50-60 ในปีงบการเงิน 2565-2567

 

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

-           FFO net leverage อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง โดยที่ความเสี่ยงทางธุรกิจยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และการสร้างกระแสเงินสดสุทธิ ไม่อ่อนแอลง

-           โครงสร้างกลุ่มบริษัทที่มีความซับซ้อนน้อยลง ซึ่งนำไปสู่การที่ ThaiBev มีฐานะเป็นผู้ประกอบการและมีการลงทุนในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแต่เพียงธุรกิจอย่างเดียว

 

ปัจจัยลบ:

-           FFO net leverage ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 4.0 เท่า อย่างต่อเนื่อง

-           มีหลักฐานหรือเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งทางการตลาด หรือประสิทธิภาพในการดำเนินงาน หรืออำนาจในการต่อรองราคา ที่อ่อนแอลง ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตของรายได้และอัตรากำไรที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง

 

สภาพคล่อง

        สภาพคล่องที่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: ThaiBev มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจากสิ้นปี 2564 จำนวน 6.8 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท เงินกู้ยืมธนาคาร 4.5 พันล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท 

       โดยสภาพคล่องของบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท (ซึ่งไม่รวมเงินสดที่มีภาระผูกพันตามคำจำกัดความของฟิทช์) และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินประเภทไม่สามารถยกเลิกได้ (committed revolving facilities) ที่ยังไม่ได้เบิกถอนประมาณ 5 พันล้านบาท  สถานะทางเครดิตและการสร้างกระแสเงินสดสุทธิที่แข็งแกร่งของ ThaiBev เป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทฯ สามารถเข้าถึงตลาดทุนและเงินกู้ยืม ซึ่งสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทฯ

 

ข้อมูลบริษัท

         ThaiBev เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มี EBITDA อยู่ที่ระดับ 4 หมื่นล้านบาทในปีงบการเงิน 2564 บริษัทฯ มีการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจหลัก 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจสุรา ธุรกิจเบียร์ ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจอาหาร โดย ThaiBev มีสถานะผู้นำในตลาดสุราในประเทศไทยและตลาดวิสกี้ในประเทศเมียนมา และมีส่วนแบ่งการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดเบียร์ในประเทศไทยและเวียดนาม

       นอกจากนี้ ThaiBev ยังมีบริษัทร่วมที่สำคัญซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ได้แก่ Fraser and Neave Limited ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และ Frasers Property Limited ซึ่งดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

 

สรุปรายการปรับปรุงงบการเงินที่สำคัญ

         เงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดของ Sabeco ถูกปรับปรุงโดยรวมเฉพาะมูลค่าตามสัดส่วนการควบคุมกิจการที่ร้อยละ 53.6

 

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG)

        ThaiBev มีคะแนนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG Relevance Score) ในด้านโครงสร้างกลุ่มบริษัท (Group Structure) อยู่ที่ระดับ 4 เนื่องจากบริษัทฯ มีโครงสร้างกลุ่มบริษัทฯ ที่ค่อนข้างซับซ้อน ปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อสถานะทางเครดิต และมีผลต่ออันดับเครดิตเมื่อพิจารณาประกอบกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ 

         เว้นแต่ที่ได้เปิดเผยเพิ่มเติมในส่วนนี้  ระดับคะแนนสูงสุดของ ESG Relevance Score อยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายถึงประเด็นเกี่ยวกับ ESG ไม่มีผลต่อสถานะทางเครดิตหรือมีผลกระทบที่เล็กน้อยมากต่อบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ อันเนื่องมาจากลักษณะทางธุรกิจหรือวิธีการจัดการของบริษัท ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล ของฟิทช์ หาได้ที่ www.fitchratings.com/esg

 

ติดต่อ

Primary Analyst

Hasira De Silva, CFA (อันดับเครดิตสากล)

Senior Director

+65 6796 7240

Fitch Ratings Singapore Pte Ltd.

One Raffles Quay #22-11, South Tower

Singapore 048583

 

ณิชยา สีมานนทปริญญา (อันดับเครดิตภายในประเทศ)

Director

+662 108 0161

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ชั้น 17, อาคารปาร์คเวนเชอร์, เลขที่ 57 ถนนวิทยุ, แขวงลุมพินี, เขตปทุมวัน

กรุงเทพฯ 10330

 

Secondary Analyst

ณิชยา สีมานนทปริญญา (อันดับเครดิตสากล)

Director

+662 108 0161

 

สมฤดี ไชยวรรัตน์ (อันดับเครดิตภายในประเทศ)

Director

+662 108 0160

 

Committee Chairperson

Vicky Melbourne

Managing Director

+61 2 8256 0325

 

ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com

 Click Donate Support Web

 

EXIM One 720x90 C JGC 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100

วิริยะ 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!