WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

TRIS7 10ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.เบาด์ แอนด์ บียอนด์ที่ ‘BB’ แนวโน้ม ‘Negative’

      ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) เดิมชื่อ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘BB’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีของโรงแรมที่บริษัทเพิ่งซื้อกิจการ และสภาพคล่องที่ตึงตัวแต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้

       อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากระดับหนี้สินของบริษัทที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากแผนการลงทุน ตลอดจนความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทยซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ยังคงกดดันผลการดำเนินงานของบริษัทต่อไป และสินทรัพย์ของบริษัทที่กระจุกตัวอยู่ในโรงแรมเพียง 2 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในทำเลเดียวกัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

เปลี่ยนกิจการสู่ธุรกิจโรงแรมอย่างเต็มตัว

      บริษัทได้เปลี่ยนการดำเนินกิจการและหันเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมอย่างเต็มตัวโดยได้ทำการขายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ออกไปทั้งหมดและทำการซื้อกิจการโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 2 แห่ง ทั้งนี้ บริษัทได้ขายกิจการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ทั้งหมดในประเทศไทยออกไปในเดือนมีนาคม 2564 และขายโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่นออกไปในเดือนกันยายน 2564

      โดยได้รับเงินจากการขายกิจการจำนวน 1.7 พันล้านบาทและ 700 ล้านบาทตามลำดับ ต่อมาในช่วงปลายปี 2564 บริษัทได้ทำการซื้อหุ้นในสัดส่วน 76% ใน บริษัท เออร์เบิร์น รีสอร์ท โฮเต็ล จำกัด และ บริษัท วอเตอร์ฟร้อนท์ โฮเต็ล จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิในการใช้ทรัพย์สิน ที่ดิน และสิทธิอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของโรงแรม 2 แห่งคือ ‘Four Seasons Hotel Bangkok at Chao Phraya’ (FSH) และ ‘Capella Bangkok’ (CPH) ตามลำดับ มูลค่าการลงทุนในหุ้นสามัญสัดส่วน 76% ในโรงแรมทั้ง 2 แห่งอยู่ที่ระดับ 4.2 พันล้านบาท

    หลังจากนั้นบริษัทมีแผนจะซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 24% ในบริษัททั้ง 2 แห่งภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ซึ่งจะทำให้มูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ระดับ 1.05 หมื่นล้านบาทโดยรวมเงินลงทุนในการซื้อหุ้นสามัญจำนวน 5.5 พันล้านบาท และเงินกู้ยืมจำนวน 5 พันล้านบาท (ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะยาวจาก บริษัท แลนด์มาร์ค โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ขายกิจการโรงแรมทั้ง 2 แห่งจำนวน 2 พันล้านบาทและเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งจำนวน 3 พันล้านบาท) บริษัทยังมีแผนจะขายสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการหลักของบริษัทด้วย เช่น อาคารสำนักงาน 1 แห่งและที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดตากและจังหวัดระยองเพื่อนำไปใช้สนับสนุนการเติบโตในธุรกิจใหม่ของบริษัท

    ในอนาคตบริษัทมีกลยุทธ์ที่จะขยายไปสู่ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) หรือรูปแบบการใช้ชีวิตโดยมองหาการลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะตัวและตอบสนองต่อแนวโน้มของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งสูงที่มีอายุน้อยและกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อสูง ปัจจุบันบริษัทมีแผนการพัฒนาโรงแรมเพิ่มอีก 1 แห่งบนถนนสาทรโดยโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2567

มีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี

         ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าโรงแรมทั้ง 2 แห่งที่บริษัทลงทุนซื้อกิจการมานั้นมีคุณภาพดีเมื่อพิจารณาจากความใหม่ ตลอดจนทำเลที่ตั้งที่ดี และการออกแบบที่โดดเด่น โรงแรมทั้ง 2 แห่งเปิดดำเนินการในช่วงปลายปี 2563 โดย FSH ซึ่งมีห้องพักจำนวน 299 ห้องและ CPH ซึ่งมีห้องพักจำนวน 101 ห้องนั้นตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงบนที่ดินติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการพักผ่อนและการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในโอกาสต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ 

      โดยบริษัทวางตำแหน่งของโรงแรมดังกล่าวให้รองรับกลุ่มลูกค้าระดับสูงที่สุด (Ultra-luxury Segment) ทั้งนี้ ห้องพักของ FSH มีขนาดเริ่มต้นที่ 50 ตารางเมตร (ตร.ม.) และของ CPH ที่ขนาด 61 ตร.ม. ซึ่งเป็นขนาดที่ค่อนข้างใหญ่กว่าห้องพักของคู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุด นอกจากนี้ โรงแรมทั้ง 2 แห่งยังดำเนินงานโดยแบรนด์ระดับโลกคือกลุ่ม ‘Four Seasons Hotels and Resorts’ และ ‘Capella Hotel Group’ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีในเรื่องของการดำเนินงานที่มีความราบรื่นและคุณภาพบริการที่อยู่ในระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ

        โรงแรม FSH มีบริการร้านอาหาร 6 ร้านและโรงแรม CPH มี 5 ร้าน (ซึ่งรวมทั้งร้านอาหาร บาร์ และร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ) โดยโรงแรมแต่ละแห่งมีร้านอาหารที่ได้รับรางวัลดาวมิชลิน 1 ดวงได้แก่ร้าน’Yu Ting Yuan’ ของโรงแรม FSH และร้าน ‘Cote by Mauro Colagreco’ ของโรงแรม CPH นอกจากนี้ โรงแรมทั้ง 2 แห่งยังมีสถานที่จัดประชุมและงานเลี้ยงสังสรรค์ด้วยโดยโรงแรม FSH มีพื้นที่รวม 3,300 ตร.ม. และโรงแรม CPH มีพื้นที่รวม 1,600 ตร.ม. ซึ่งสามารถรองรับแขกได้มากกว่า 1,000 คน ในการนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าคุณภาพของสินทรัพย์ดังกล่าวจะสนับสนุนความแข็งแกร่งทางธุรกิจและรายได้ในระยะยาวให้แก่บริษัท

คาดว่าธุรกิจโรงแรมจะฟื้นตัวแต่อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการสะดุดเป็นบางช่วง

       ผลการดำเนินงานของโรงแรมทั้ง 2 แห่งของบริษัทมีอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) หลายระลอกนับตั้งแต่ที่โรงแรมเริ่มเปิดดำเนินงานในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา โดยโรงแรมทั้ง 2 แห่งมีอัตราการเข้าพักที่ระดับต่ำกว่า 10% และมีอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืนที่ต่ำกว่าปกติในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2564

      อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากบริษัทได้ซื้อกิจการโรงแรมมาในช่วงปลายปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และผลการดำเนินงานของโรงแรมเริ่มฟื้นตัว ทว่าการฟื้นตัวเริ่มชะลอลงอีกครั้งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทำให้ภาครัฐต้องกลับมาเพิ่มความเข้มงวดในการจำกัดการเดินทางอีกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจโรงแรมจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2565 แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่การฟื้นตัวสะดุดเป็นบางช่วงมาโดยตลอด

     ทริสเรทติ้ง คาดว่า ผลการดำเนินงานของโรงแรมของบริษัทจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 และจะฟื้นตัวเต็มที่สู่ระดับปกติได้ในระหว่างปี 2567-2568 โดยภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรมทั้ง 2 แห่งจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในช่วง 28%-65% และอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืนของโรงแรม CPH จะอยู่ในช่วง 16,000-21,000 บาทและของโรงแรม FSH จะอยู่ในช่วง 8,000-11,000 บาทในระหว่างปี 2565-2568 ซึ่งทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.0 พันล้านบาท ในปี 2566 ที่ระดับ 2.7 พันล้านบาทในปี 2567 และที่ระดับ 3.1 พันล้านบาทในปี 2568 จากระดับ 1.1 พันล้านบาทในปี 2565

   โดยทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะมีรายได้จากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็นประมาณ 58% ของรายได้รวมในปี 2565 และจะลดลงเหลือประมาณ 51% ของรายได้รวมในปี 2568 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะติดลบในปี 2565 (ไม่รวมกำไรจากการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลัก) และจะเปลี่ยนเป็นบวกที่ระดับประมาณ 290 ล้านบาทในปี 2566 ที่ระดับประมาณ 600 ล้านบาทในปี 2567 และที่ระดับประมาณ 770 ล้านบาทในปี 2568

การพึ่งพาสินทรัพย์โรงแรมจำนวนน้อยแห่ง 

      การที่บริษัทพึ่งพารายได้จากโรงแรมเพียง 2 แห่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จำกัดการประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจของทริสเรทติ้ง โดยทั้งโรงแรม FSH และโรงแรม CPH ตั้งอยู่ในทำเลเดียวกันและมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นกลุ่มลูกค้ารายได้สูงเช่นเดียวกัน ทริสเรทติ้งมองว่าอุตสาหกรรมโรงแรมในภาพรวมนั้นมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากเหตุการณ์เฉพาะและปัจจัยแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น ทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวลงได้คือบริษัทต้องมีสินทรัพย์โรงแรมที่กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่และต้องเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่กว้างขวางและหลากหลาย

     บริษัทอาจจะได้รับประโยชน์จากขนาดของธุรกิจได้อีกด้วยหากบริษัทมีสินทรัพย์โรงแรมเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันของบริษัทสามารถรองรับการบริหารโรงแรมได้มากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะรวมโรงแรมแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาบนถนนสาทรซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2567 เข้ามาด้วย ทริสเรทติ้งก็ยังมองว่าขนาดของสินทรัพย์โรงแรมของบริษัทยังคงค่อนข้างเล็กและมีความหลากหลายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

คาดว่าหนี้สินจะอยู่ในระดับสูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

      ทริสเรทติ้ง คาดว่า ภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากและคงอยู่ในระดับสูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากการซื้อกิจการโรงแรมทั้ง 2 แห่งด้วยจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูงและจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่กดดันผลการดำเนินงานของโรงแรม

      ทั้งนี้ ภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 24% ในโรงแรมทั้ง 2 แห่งในปี 2565 และบริษัทจะมีการลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงแรมบนถนนสาทรเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 900 ล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2565-2567 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 4.4 พันล้านบาทในปี 2564 และ 5.0-5.8 พันล้านบาทในระหว่างปี 2565-2568

           ทริสเรทติ้ง คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงมากในระหว่างปี 2564-2565 และจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 20 เท่าในปี 2566 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 10 เท่าในปี 2567 และ 7 เท่าในปี 2568 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 48% ในปี 2564 และอยู่ในช่วง 51%-53% ในระหว่างปี 2565-2568

สภาพคล่องตึงตัวขึ้นแต่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

       ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า สภาพคล่องของบริษัทจะตึงตัวขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2564 ในขณะที่ความต้องการในการใช้เงินทุนประกอบด้วยการซื้อหุ้นสัดส่วน 76% ในโรงแรม 2 แห่งจำนวน 3.2 พันล้านบาทในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2564 (บริษัทได้จ่ายเงินล่วงหน้าในการซื้อหุ้นไปแล้วจำนวน 1 พันล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2564) และการชำระหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดจำนวน 500 ล้านบาทในเดือนธันวาคม 2564

        นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนในการซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 24% ในโรงแรมทั้ง 2 แห่งซึ่งคิดเป็นเงินจำนวน 1.3 พันล้านบาทภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 อีกด้วย การซื้อหุ้นดังกล่าวต้องพึ่งพาเงินจากการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัทซึ่งประกอบไปด้วยที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดตากและจังหวัดระยอง

      ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องของบริษัทน่าจะยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้เนื่องจากบริษัทยังมีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจในการซื้อหุ้นที่เหลือเพิ่มเติมทั้งในแง่ของสัดส่วนและช่วงเวลาที่จะซื้อเพิ่มเมื่อพิจารณาจากความเหมาะสมของกระแสเงินสดของบริษัท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • รายได้รวมของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.1 พันล้านบาทในปี 2565 ประมาณ 2.0 พันล้านบาทในปี 2566 ประมาณ 2.7 พันล้านบาทในปี 2567 และประมาณ 3.1 พันล้านบาทในปี 2568
  • EBITDA จะยังคงติดลบในปี 2565 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 290 ล้านบาทในปี 2566 เป็น 600 ล้านบาทในปี 2567 และเป็น 770 ล้านบาทในปี 2568
  • บริษัทจะซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 24% ในโรงแรมทั้ง 2 แห่งที่มูลค่า 1.3 พันล้านบาทในปี 2565
  • งบที่ใช้ลงทุนก่อสร้างโรงแรมบนถนนสาทรจะอยู่ที่จำนวนราว ๆ 900 ล้านบาทตลอดช่วงปี 2565-2567
  • การขายสินทรัพย์อาคารสำนักงานและที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดตากและจังหวัดระยองจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565


แนวโน้มอันดับเครดิต

         แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ สะท้อนถึงความไม่แน่นอนในระดับสูงของการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมซึ่งอาจจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อผลการดำเนินงานของบริษัทต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

       การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้ง ประมาณการไว้ซึ่งอาจเป็นผลจากการฟื้นตัวที่ช้ากว่าคาดของธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย นอกจากนี้ แรงกดดันในด้านลบต่ออันดับเครดิตยังอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทมีการลงทุนเพิ่มโดยการก่อหนี้ หรือมีสัญญาณว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ด้วยเช่นกัน

        ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งอาจปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตกลับมาเป็น ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ หากมีสัญญาณที่ชัดเจนว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมของบริษัทฟื้นตัวดีกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป,  26 กรกฎาคม 2562

บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) (BEYOND)

อันดับเครดิตองค์กร:

BB

แนวโน้มอันดับเครดิต:

Negative

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com  

ติดต่อ [email protected]  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

        © บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2565 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้

          ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

 Click Donate Support Web

 

EXIM One 720x90 C JGC 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100

วิริยะ 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!