- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 05 December 2021 13:19
- Hits: 11076
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร’บ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น’ที่ ‘BBB+’ แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘BBB+’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงตำแหน่งผู้นำของบริษัทในธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนชื่อเสียงที่แข็งแกร่ง และประวัติการดำเนินงานที่ยาวนานของ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ จำกัด
รวมถึงความสามารถในการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นจากกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูงและการปรับปรุงด้านต้นทุน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสายไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานผลิตสายไฟฟ้าในประเทศไทยและเวียดนาม โดยในปี 2563 ธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าในประเทศไทยสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 58% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่ธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าในเวียดนามสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 32% โดยส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจโลจิสติกส์
อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ จำกัด (PDITL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักในกลุ่ม โดย PDITL มีชื่อเสียงในฐานะผู้ผลิตสายไฟฟ้าชั้นนำในประเทศไทยโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตจากเจ้าของเดิม ซึ่งได้แก่ บริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จ คอร์เปอเรชั่น และบริษัทเจเนอรัล เคเบิล PDITL ยังคงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เป็นอันดับสองในประเทศไทย ซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจสายไฟฟ้าในปี 2563 ที่ 20%
PDITL ยังคงได้รับประโยชน์จากชื่อเสียงที่แข็งแกร่งในด้านคุณภาพสินค้า ประวัติการดำเนินงานที่ยาวนานในประเทศไทยมากกว่า 50 ปี และความหลากหลายของสินค้าที่มากที่สุด โดย PDITLเป็นผู้ผลิตในประเทศเพียงรายเดียวที่สามารถผลิตสายไฟฟ้าแรงดันสูงพิเศษซึ่งมีแรงดันมากกว่า 230 กิโลโวลต์ได้
ธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าในประเทศเวียดนามของบริษัทนั้นดำเนินการภายใต้บริษัท Thipha Cables และ Dong Viet Non-Ferrous Metal and Plastic (TPC&DVN) ซึ่งบริษัทได้ซื้อกิจการของบริษัททั้งสองในไตรมาสแรกของปี 2563 ทั้งนี้ TPC&DVN เป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้ารายใหญ่ในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิตของ TPC&DVN มีขนาดที่ใหญ่กว่าของ PDITL ถึงประมาณ 80% แต่โรงงานยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำอยู่
ทั้งนี้ หลังจากเริ่มปฏิบัติงานร่วมกับ PDITL ผลการดำเนินงานของโรงงานในประเทศเวียดนามก็ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นจากการนำแนวทางการดำเนินงานที่ดีและความเชี่ยวชาญด้านการผลิตของ PDITL มาประยุกต์ใช้
ผลกำไรดีขึ้นจากกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นสินค้าที่มีอัตรากำไรที่สูงและการปรับปรุงด้านต้นทุน
อัตรากำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ โดยมุ่งเน้นในการจำหน่ายสายไฟฟ้าที่มีอัตรากำไรสูงมากขึ้น บริษัทได้ลดยอดขายของสินค้าที่มีอัตรากำไรต่ำ เช่น สายไฟฟ้าเปลือยและโลหะวัตถุดิบ
ในขณะที่เร่งการจำหน่ายสายไฟฟ้าแรงดันปานกลางถึงสูงพิเศษซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่า นอกจากนี้ บริษัทได้ปรับปรุงการดำเนินงานภายในให้ดีขึ้น และเริ่มประสานการดำเนินงานระหว่างโรงงานในประเทศไทยและเวียดนาม เช่น การให้ PDITL เป็นศูนย์กลางในการจัดซื้อวัตถุดิบของทั้งกลุ่มบริษัท ตลอดจนการย้ายฐานผลิตลวดทองแดงทั้งหมดไปยังโรงงานในประเทศเวียดนามซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า
กลยุทธ์ดังกล่าว ส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทมีการปรับตัวดีขึ้น โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเมื่อคิดเปอร์เซนต์ต่อรายได้ (EBITDA Margin) (ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 12.7% ในไตรมาสแรกของปี 2563 เป็น 17.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564
มีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบและอัตราแลกเปลี่ยน
ต้นทุนของวัตถุดิบทองแดงและอลูมิเนียมของบริษัทนั้นคิดเป็นประมาณ 70%-80% ของต้นทุนการผลิตสายไฟฟ้าทั้งหมด ในมุมมองของทริสเรทติ้ง สัดส่วนของต้นทุนวัตถุดิบโลหะที่สูงในโครงสร้างต้นทุนนั้นจะส่งผลทำให้บริษัทมีกำไรที่ผันผวนอันเนื่องมาจากการขึ้นลงของราคาโลหะได้
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ลดความเสี่ยงดังกล่าวผ่านกลยุทธ์ตั้งราคาขายโดยส่งผ่านต้นทุน (Cost Plus Pricing Strategy) และนโยบายในการทำสัญญากำหนดราคาวัตถุดิบและอัตราแลกเปลี่ยนทันทีหลังจากได้รับการยืนยันการสั่งสินค้าจากลูกค้า ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นรายไตรมาสของบริษัทนั้นยังอยู่ในช่วง 16.7%-22.7% ในระหว่างไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ซึ่งมีความผันผวนน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับราคาทองแดงซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 65% ในช่วงเวลาดังกล่าว
ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งมองว่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน มีผลกระทบต่อกำไรของบริษัทเพิ่มมากยิ่งขึ้นจากการเติบโตของยอดขายที่รวดเร็วและการได้รับเครดิตเทอมจากผู้จำหน่ายโลหะที่ยาวนานมากขึ้นสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบ โดยบริษัทบันทึกผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 815 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมากเมื่อพิจารณาจากกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 2,578 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน
ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 รายได้ของบริษัทอยู่ที่ 1.97 หมื่นล้านบาทคิดเป็นการเติบโตที่ 65.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การเติบโตของรายได้ส่วนใหญ่มาจากการรวมรายได้ของบริษัทย่อยในประเทศเวียดนามและคำสั่งซื้อสายไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่รับรู้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 โดย EBITDA ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 2.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ลดลงเหลือ 3.4 เท่าในเดือนกันยายน 2564 จาก 3.8 เท่า ณ สิ้นปี 2563
ทริสเรทติ้ง มองว่าความสามารถในการทำกำไรในส่วนของธุรกิจผลิตสายไฟฟ้านั้นดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนจำนวนมากจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเกิดจากการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลทำให้อัตรากำไรโดยรวมลดลง ทั้งนี้ จากการคำนวณของเรา EBITDA Margin ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ลดลงมาอยู่ที่ 13.1% จาก 16.1% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
การเติบโตของรายได้จะมาจากธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าในประเทศเวียดนาม
ทริสเรทติ้ง เชื่อว่าการดำเนินงานในประเทศเวียดนามจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญของบริษัท พิจารณาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของประเทศและโอกาสที่ยังมีมากในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ทริสเรทติ้งเชื่อว่าประสิทธิภาพการดำเนินงานในประเทศเวียดนามจะค่อยๆ ดีขึ้นด้วยความช่วยเหลือจาก PDITL นอกจากนี้ TPC&DVN มีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์จากชื่อเสียงของ PDITL ทั้งในแง่การส่งเสริมการขายและการเข้าสู่ตลาดที่มีอัตรากำไรสูงในประเทศเวียดนามอีกด้วย
ทริสเรทติ้ง คาดว่า รายรับและกำไรของปี 2564 จะสูงเป็นพิเศษ จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 จากกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง รายได้ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท และมี EBITDA ที่ 3.4 พันล้านบาทในปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดการณ์รายได้ของบริษัทน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และมีอัตราการเติบโตของรายได้ที่ 4%-5% ต่อปีหลังจากนั้น โดย EBITDA Margin น่าจะอยู่ที่ 14%-15% เป็นอย่างต่ำ หรือคิดเป็น EBITDA เฉลี่ยที่ประมาณ 2.8-3 พันล้านบาทต่อปี
งบดุลมีแนวโน้มจะฟื้นตัวดีขึ้นก่อนเริ่มเข้าซื้อธุรกิจใหม่อีกครั้ง
ทริสเรทติ้ง คาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้สินมีแนวโน้มที่จะปรับลดลง จากแผนการลดภาระหนี้ของบริษัทเพื่อที่จะฟื้นฟูความแข็งแกร่งของงบดุล ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการหลายมาตรการเพื่อลดความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนและปรับโครงสร้างทางการเงิน ทั้งนี้ บริษัทไม่มีแผนในการซื้อกิจการขนาดใหญ่ และจะยังไม่มีการจ่ายปันผลในช่วงปี 2564-2565
ในปี 2564-2566 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA จะปรับตัวดีขึ้น โดยลดลงเหลือประมาณ 3 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้ทางการเงินสุทธิจะปรับตัวดีขึ้นโดยอยู่ที่มากกว่า 15% ในช่วงประมาณการ หลังจากนั้น ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะกลับมาใช้กลยุทธ์การเติบโตผ่านการซื้อกิจการอีกครั้งเพื่อขยายธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าหรือธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
มีสภาพคล่องที่จัดการได้
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า สภาพคล่องของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะยังอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 1.13 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 และเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระในการชำระหนี้เงินกู้ประมาณ 2.44 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะมีการลงทุนประมาณ 0.9 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าซึ่งบริษัทอาจต้องใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมบางส่วน
โครงสร้างหนี้
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีหนี้สินซึ่งไม่รวมหนี้จากสัญญาเช่าการเงินอยู่ที่จำนวน 1.36 หมื่นล้านบาท ในขณะที่หนี้ที่มีลำดับในการรับชำระคืนก่อน ซึ่งรวมทั้งหนี้ที่มีหลักประกันและหนี้ที่เป็นของบริษัทย่อยมีจำนวนทั้งสิ้น 1.12 หมื่นล้านบาท ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 82% ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์ของทริสเรทติ้งซึ่งอยู่ที่ระดับ 50% ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงมองว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในแง่ของลำดับในการเรียกร้องต่อสินทรัพย์ของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และประมาณ 2.0-2.1 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2565-2566
- EBITDA จะอยู่ที่ 3.4 พันล้านบาทในปี 2564 และอยู่ในช่วง 2.8-3.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566
- เงินลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 0.4-1.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566
- จะไม่มีการจ่ายเงินปันผลในระหว่างปี 2564-2565 และมีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 50% ในปี 2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต’Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดในธุรกิจสายไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและในประเทศเวียดนามเอาไว้ได้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะรักษาอัตรากำไรที่แข็งแกร่งขึ้นไว้ได้ จากสัดส่วนรายได้จากสายไฟฟ้าแรงดันสูงที่มากขึ้นและการปรับปรุงต้นทุนอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากฐานรายได้และกระแสเงินสดของบริษัทขยายตัวเป็นอย่างมากจากระดับปัจจุบัน ซึ่งอาจเกิดจากการที่บริษัทประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าหรือในธุรกิจอื่นๆ ได้
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทสูงเกินกว่า 5 เท่าเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการทำธุรกรรมซื้อและควบรวมกิจการใหม่ ๆ โดยใช้การกู้ยืมเงินมากเกินไปจนทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB+ |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
|