- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 21 November 2021 21:03
- Hits: 9951
ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.บ้านปู เพาเวอร์’ ที่ ‘A+’ แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BPP) ที่ระดับ ‘A+’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ ‘A+/Stable’
โดยทริสเรทติ้ง อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจไฟฟ้าที่หลากหลาย คุณภาพของสินทรัพย์ด้านพลังงานของบริษัท และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโรงไฟฟ้าต่างๆ ของบริษัท ในทางกลับกัน อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นในช่วงขยายกำลังการผลิตตามแผนของบริษัท
อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทได้รับการปรับเพิ่มขึ้นสองระดับจากอันดับเครดิตเฉพาะ (Standalone Credit Profile -- SACP) ของบริษัทที่ ‘a-‘
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทย่อยหลักของ BANPU
ทริสเรทติ้ง พิจารณาว่าบริษัทเป็นบริษัทย่อยหลักของ BANPU โดย BANPU ดำเนินธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจแหล่งพลังงาน ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และเทคโนโลยีด้านไฟฟ้า บริษัทเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญที่รับผิดชอบธุรกิจผลิตไฟฟ้า
บริษัทมีความเกี่ยวข้องกับ BANPU เป็นอย่างมากในแง่ของการดำเนินงาน ธุรกิจ และกลยุทธ์ทางการเงิน นอกจากนี้ บริษัทยังมีส่วนสำคัญในการทำให้ห่วงโซ่อุปทานของ BANPU สมบูรณ์อีกด้วย ในแง่ของผลการดำเนินงาน บริษัทสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนให้กับ BANPU ซึ่งช่วยชดเชยความผันผวนด้านรายได้ในธุรกิจถ่านหินของ BANPU ได้ในระดับหนึ่ง ปัจจุบัน BANPU ได้ปรับกลยุทธ์การเติบโตไปในแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น ซึ่งคาดว่าบริษัทจะมีบทบาทสำคัญ
ในด้านการสนับสนุน ทริสเรทติ้งเชื่อว่า BANPU จะให้การสนับสนุนที่จำเป็นแก่บริษัทเพื่อที่บริษัทจะสามารถดำเนินการได้ตามกลยุทธ์ของ BANPU
มีธุรกิจไฟฟ้าที่หลากหลาย
บริษัทมีประวัติอันยาวนานในการพัฒนาและบริหารจัดการโรงไฟฟ้า โดยเริ่มจากการพัฒนาโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ไปจนถึง BLCP Power Ltd. (BLCP) โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Heat and Power -- CHP) ในประเทศจีนและ บริษัท หงสา เพาเวอร์ จำกัด (HPC)
ณ เดือนมิถุนายน 2564 โรงไฟฟ้าของบริษัทตั้งอยู่ใน 12 ประเทศโดยมีกำลังการผลิตสุทธิ 2,840 เมกะวัตต์ เมื่อวัดตามสัดส่วนการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าของบริษัท (กำลังการผลิตสุทธิ) โรงไฟฟ้าในประเทศจีนคิดเป็น 36% ของกำลังการผลิตสุทธิ ขณะที่ 52% ของกำลังการผลิตสุทธิตั้งอยู่ในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ส่วนที่เหลืออีก 12% กระจายอยู่ทั่วเอเชียและออสเตรเลีย
โรงไฟฟ้าถ่านหินแบบดั้งเดิมคิดเป็น 71% ของกำลังการผลิตสุทธิทั้งหมด รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่งภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) และโรงงาน CHP อีก 3 แห่งในประเทศจีน โรงไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงและปล่อยมลพิษต่ำ (High Efficiency, Low Emission -- HELE) คิดเป็น 17% ของกำลังการผลิตสุทธิทั้งหมด ในขณะที่ 12% ที่เหลือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจพลังงาน
กระแสเงินสดของบริษัทสามารถคาดการณ์ได้เนื่องจากโรงไฟฟ้ากว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทดำเนินงานภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยบริษัทถือหุ้น 50% และ 40% ในโรงไฟฟ้า BLCP และโรงไฟฟ้า HPC ตามลำดับ โรงไฟฟ้า BLCP และ HPC มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปีกับ กฟผ. โดยจะมีลักษณะเป็นแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take-or-pay Basis) ซึ่งช่วยปกป้องโรงไฟฟ้าจากความผันผวนของอุปทานและความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยสัญญาระบุว่าโรงไฟฟ้าจะได้รับกระแสเงินสดตราบเท่าที่โรงไฟฟ้ายังคงรักษาความพร้อมของโรงไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและพร้อมสำหรับการเรียกให้จ่ายไฟฟ้าจาก กฟผ.
โรงไฟฟ้า CHP 2 แห่งในประเทศจีน ได้แก่ โรงไฟฟ้าเจิ้งติ้ง (Zhengding -- ZD) และโรงไฟฟ้าหลวนหนาน (Luannan -- LN) จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานบริหารระบบสายส่งของรัฐที่มีสาขาในพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ ในขณะที่ไอน้ำและน้ำร้อนจำหน่ายโดยตรงหรือผ่านหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นให้แก่ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมและลูกค้าที่อยู่อาศัย สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในจีนมักเป็นสัญญารายปีกับบริษัทบริหารระบบสายส่งไฟฟ้าของรัฐ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในแต่ละปีจะกำหนดปริมาณไฟฟ้าที่จะขายในแต่ละปี
ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าเป็นราคาคงที่ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ที่ประกาศโดยสำนักงานกำหนดราคาประจำจังหวัดซึ่งจะสอดคล้องกับอัตราค่าไฟฟ้าที่กำหนดโดยคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน (The National Development and Reform Commission of the People’s Republic of China -- NDRC) อัตราค่าไฟฟ้าประจำปีสามารถปรับได้ตามราคาถ่านหิน
ในขณะที่ราคาของไอน้ำและน้ำร้อนจะกำหนดราคาผ่านสัญญาซื้อขายภายใต้แนวทางของรัฐบาล (สำนักงานกำหนดราคาท้องถิ่น) ราคาไอน้ำจะถูกปรับเป็นระยะๆ เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาถ่านหิน โรงไฟฟ้า CHP อีกแห่งในประเทศจีนคือโรงไฟฟ้าโจวผิง (Zouping -- ZP) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำเป็นระยะเวลา 28 ปีกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม ราคาไฟฟ้าและไอน้ำเป็นราคาคงที่ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงและต่อตันตามลำดับ และจะมีการปรับราคารายเดือนเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาถ่านหินและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
บริษัทยังถือหุ้นในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนโดยถือหุ้น 50% ในบริษัท บ้านปูเน็กซ์ จำกัด (BANPUNEXT) โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของบริษัทกว่า 90% เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สามารถคาดการณ์ได้จากอัตราค่าไฟฟ้าที่แน่นอนและความเสี่ยงในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่ต่ำ
กลยุทธ์สู่พลังงานสะอาด
บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 เพิ่มขึ้นจาก 2,750 เมกะวัตต์ในปี 2563 กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอีก 2,550 เมกะวัตต์นั้นจะมาจากโรงไฟฟ้า HELE และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ภายใต้กลยุทธ์การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ BANPU ในการมุ่งสู่พลังงานสะอาด
บริษัทยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า HELE เป็น 2,493 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 โดยเพิ่มขึ้นจาก 396 เมกะวัตต์ในปี 2563 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 บริษัทใช้เงินประมาณ 2.5 พันล้านบาทเพื่อซื้อหุ้น 13.4% ในโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้เทคโนโลยีการแปลงสถานะถ่านหินเป็นก๊าซเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง (Integrated Gasification Combined Cycle -- IGCC) ขนาด 543 เมกะวัตต์ในเมือง
ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังการผลิต 72.8 เมกะวัตต์ให้กับกำลังการผลิตของบริษัท ปัจจุบัน บริษัทประสบความสำเร็จในการซื้อกิจการของบริษัท Temple Generation I LLC (Temple I) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมขนาด 768 เมกะวัตต์ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทลงทุนผ่านบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นระหว่างบริษัทย่อยของบริษัทคือ BKV-BPP Power LLC และบริษัทย่อยของ BANPU โดยในการซื้อกิจการครั้งนี้ ใช้เงินประมาณ 215 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มกำลังการผลิต 384 เมกะวัตต์ให้กับบริษัทภายในปี 2564
ในช่วงปี 2564-2568 การลงทุนของบริษัทเกือบทั้งหมดจะเป็นการลงทุนในพลังงานสะอาด รวมถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง โรงไฟฟ้า HELE โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีด้านพลังงาน ทั้งนี้ ภายในปี 2568 BANPU คาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชาญฉลาดขึ้นจะมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของ EBITDA ทั้งหมด ทั้งนี้ ในฐานะที่เป็นบริษัทย่อยหลักในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของ BANPU บริษัทได้รับมอบหมายให้เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นที่ 2,550 เมกะวัตต์
เข้าสู่ตลาดซื้อขายไฟฟ้า
บริษัทเข้าสู่ตลาดซื้อขายไฟฟ้าในรัฐเท็กซัส (The Electric Reliability Council of Texas -- ERCOT) ผ่านการลงทุนในโรงไฟฟ้า Temple I โดยการจำหน่ายไฟฟ้านั้น บริษัทต้องแข่งขันกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่น ๆ โดยเสนอราคาที่น่าจูงใจเพื่อให้สามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้ รายได้ของบริษัทจึงอาจผันผวนกว่าเมื่อเทียบกับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ทั้งนี้ จากข้อมูลที่มีอยู่ อัตราความร้อนของโรงไฟฟ้าของ Temple I นั้นสามารถแข่งขันในตลาด ERCOT ได้ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้าสามารถเดินเครื่องได้อย่างเต็มที่ในช่วงฤดูร้อนซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในระดับสูง และอัตราการเดินเครื่องในช่วงนอกฤดูร้อนอาจอยู่ในระดับปานกลาง
ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น
ณ เดือนมิถุนายน 2564 หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ 13% ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2564 และบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายรวม 1.62 หมื่นล้านบาทในการขยายธุรกิจในช่วงปี 2564-2567 ซึ่งรวมถึงการลงทุน 2.5 พันล้านบาทในโรงไฟฟ้า Nakoso และ 1.37 หมื่นล้านบาท
สำหรับ Temple I และค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาอีก 1.4 พันล้านบาท หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 18%-22% ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า EBITDA จะอยู่ที่ประมาณ 1.4-3.6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2567 โดยเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทร่วมคาดว่าจะอยู่ที่ 32%-56% ของ EBITDA ในแต่ละปี
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA คาดว่าจะสูงสุดที่ประมาณ 9-11 เท่าในปี 2564 อัตราส่วนที่สูงนี้สะท้อนถึงสภาวะราคาถ่านหินที่สูงในปี 2564 ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อโรงไฟฟ้า CHP อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าราคาถ่านหินจะเข้าสู่ภาวะปกติภายในปี 2565 ตามมาตรการของรัฐบาลจีนในการบรรเทาปัญหาราคาถ่านหิน เช่น การเปิดเหมืองถ่านหินในมองโกเลียในอีกครั้ง
นอกจากนี้ บางจังหวัดในจีนยังขึ้นอัตราค่าไฟฟ้า 10% ในเดือนกันยายน 2564 เพื่อบรรเทาแรงกดดันให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้า ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะลดลงเหลือ 3-5 เท่าเมื่อบริษัทรับรู้การดำเนินงานทั้งปีของ Temple I ในปี 2565 และได้รับเงินปันผลจากโรงไฟฟ้า Nakoso และโรงไฟฟ้าซานซี ลู่ กวง (Shanxi Lu Guang -- SLG) ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
บริษัทมีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 บริษัทมีเงินสดในมือประมาณ 1.4 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 6.1 พันล้านบาท ทริสเรทติ้ง คาดการณ์ว่าบริษัทจะสร้างเงินทุนจากการดำเนินงานได้ประมาณ 1.0-2.5 พันล้านบาทในอีก 12 เดือนข้างหน้า เงินสดในมือและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้ใช้คาดว่าเพียงพอสำหรับหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระจำนวน 5.2 พันล้านบาทในอีก 12 เดือนข้างหน้า
โครงสร้างหนี้
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 หนี้สินตามงบการเงินรวมของบริษัทอยู่ที่ 8.2 พันล้านบาท หนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนของบริษัทอยู่ที่ 0.9 พันล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกัน 0.6 พันล้านบาท และหนี้ไม่มีหลักประกันที่ระดับบริษัทย่อยของบริษัท 0.3 พันล้านบาท ดังนั้น อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 11% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- ในระหว่างปี 2564-2567 รายได้จะอยู่ในช่วงระหว่าง 6.1-10.5 พันล้านบาทต่อปี รายได้เงินปันผลรับจากบริษัทร่วม 0.8-1.6 ล้านบาทต่อปี
- EBITDA จะอยู่ในช่วงระหว่าง 1.4-3.6 พันล้านบาทต่อปี
- ค่าใช้จ่ายลงทุนรวม 1.76 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2564-2567
- เงินปันผลจ่ายปีละประมาณ 1.5-1.9 พันล้านบาท
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ BANPU และยังคงมีความสำคัญในฐานะบริษัทย่อยที่สำคัญในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของ BANPU
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทย่อยหลักของ BANPU อันดับเครดิตของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตของ BANPU ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่หรือสถานะของบริษัทที่มีต่อกลุ่มก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากขึ้นและภาระหนี้เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลง หากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าด้อยกว่าประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ หรือโครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงอย่างมากซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนด้วยการก่อหนี้จำนวนมาก
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BPP)
อันดับเครดิตองค์กร: |
A+ |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
|
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ