- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 31 October 2021 19:03
- Hits: 5486
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ‘บ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น’ ที่ ‘A-‘
หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ที่ ‘BBB’ และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘A-‘ พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนของบริษัทที่ระดับ ‘BBB’ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็น ‘Stable’ หรือ ‘คงที่”
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ของบริษัทในวงเงินไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทที่ระดับ ‘A-‘ ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้เดิมที่มีอยู่และใช้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่เป็นผลมาจากความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน ตลอดจนการมีบูรณาการระหว่างธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจการตลาดของบริษัท รวมถึงสถานะทางการตลาดที่มั่นคงในธุรกิจการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel Marketing Business) และประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย
แต่ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงบางส่วนจากการที่บริษัทมีค่าการกลั่น (Gross Refinery Margin – GRM) ที่ยังอยู่ในระดับต่ำรวมถึงมีความอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันที่มีความผันผวน นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงการลงทุนของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจผลิตไฟฟ้าซึ่งจะทำให้บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง
ผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงมาก ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวกลับมาหลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยหลายๆ ประเทศได้มีการผ่อนปรนมาตรการปิดเมือง (Lockdown) รวมไปถึงดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ
โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ฟื้นตัวในเวลาพร้อมๆ กันเมื่อผนวกกับความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรทั่วโลกนั้นได้ส่งผลทำให้อุปสงค์ในการใช้น้ำมันกลับมาฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง
แต่ในทางกลับกัน ตลาดต้องเผชิญกับอุปทานน้ำมันที่ขาดแคลนเนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปก (Organization of the Petroleum Exporting Countries --- OPEC) ยังคงจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบอยู่ในขณะที่การลงทุนในการผลิตปิโตรเลียมที่ผ่านมาก็ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 63.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งแรกของปี 2564
ผลการดำเนินงานทางการเงินโดยรวมของบริษัทฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564
โดยบริษัทมีกำไรจากสต็อกน้ำมันประมาณ 3.8 พันล้านบาทในช่วงดังกล่าวซึ่งตรงกันข้ามกับสถานการณ์ขาดทุนอย่างหนักในปีก่อนหน้า ส่งผลให้บริษัทกลับมามีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ 8.6 พันล้านบาท
ค่าการกลั่นยังคงเปราะบาง
แม้ว่า ราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก แต่ค่าการกลั่นของบริษัทยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 3.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 โดยฟื้นตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยจากจุดต่ำสุดที่ 2.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากปริมาณการใช้น้ำมันอากาศยานที่ลดต่ำลงอย่างมาก โรงกลั่นหลาย ๆ แห่งจึงได้ปรับตัวโดยการลดการผลิตน้ำมันอากาศยานลงและหันไปผลิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจนส่งผลทำให้ส่วนต่างของราคาน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบแล้วยังคงอยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งมองว่าค่าการกลั่นพื้นฐานของบริษัทจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น ในขณะที่ส่วนต่างของราคาน้ำมันสำเร็จรูปในทุกผลิตภัณฑ์นั้นมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีจึงจะกลับมาอยู่ในระดับก่อนการระบาดของโรคโควิด 19
ในการนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงน่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะใกล้เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในขณะที่อุปทานนั้นยังมีจำกัด อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่ยังยืดเยื้อของโรคโควิด 19
ความยืดหยุ่นของโรงกลั่นช่วยเพิ่มค่าการกลั่น
ความยืดหยุ่นของโรงกลั่นน้ำมันช่วยให้บริษัทสามารถนำน้ำมันดิบหลากหลายประเภทมากลั่นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดต่างๆ และเพื่อลดปัญหา อุปสงค์น้ำมันอากาศยานที่ลดต่ำลง บริษัทยังสามารถที่จะปรับปรุงการผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ให้กำไรสูงขึ้นได้ เช่น Unconverted Oil (UCO) และสารทำละลาย (White Spirit) เพื่อเพิ่มค่าการกลั่นพื้นฐานของบริษัทให้สูงขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ส่วนต่างของราคา UCO เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ประมาณ 6-8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในขณะที่ส่วนต่างของราคาน้ำมันอากาศยานอยู่ที่ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัทได้เชื่อมต่อหน่วยเพิ่มค่าออกเทนของน้ำมันเบนซิน (Continuous Catalyst Regeneration Unit) ชุดใหม่เข้ากับโรงกลั่นน้ำมันและดำเนินการขยายกำลังการผลิตของหน่วยแตกโมเลกุล (Hydrocracking Unit) จนแล้วเสร็จ ซึ่งการปรับปรุงประสิทธิภาพในครั้งนี้จะช่วยยืดอายุรอบการซ่อมบำรุงโรงกลั่นตามวาระรวมถึงช่วยให้บริษัทสามารถใช้กำลังการกลั่นน้ำมันดิบได้มากขึ้น
โดยบริษัทวางแผนจะเพิ่มปริมาณการกลั่นน้ำมันดิบให้เป็นประมาณ 1.2 แสนบาร์เรลต่อวันจากปัจจุบันที่ 1.1 แสนบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ ในช่วงปี 2565-2566 บริษัทมีแผนจะลดสัดส่วนน้ำมันอากาศยานลงให้เหลือประมาณ 8% ของกำลังการผลิตรวมจากประมาณ 13% ในช่วงก่อนปี 2563 ในขณะเดียวกัน บริษัทก็จะเพิ่มสัดส่วนการผลิต UCO ให้เป็น 13% จากประมาณ 3%-5% ในช่วงปีก่อนๆ ซึ่งจากแผนการปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะมีค่าการกลั่นพื้นฐานที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวมาอยู่ที่ประมาณ 4-5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565 และประมาณ 5-6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2566
การค้าปลีกน้ำมันจะฟื้นตัว
การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อของโรคโควิด 19 ส่งผลทำให้ธุรกิจการตลาดของบริษัทมียอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยอยู่ที่ 2,422 ล้านลิตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงก็มีสัญญาณของแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านสถานีบริการน้ำมันของบริษัทเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยอยู่ที่ 2,049 ล้านลิตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงโดยมีเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นที่จดจำเป็นปัจจัยสนับสนุนรวมถึงการมีสินค้านอกเหนือจากน้ำมันเชื้อเพลิงและบริการในสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศด้วย บริษัทมีแผนจะเพิ่มจำนวนสถานีบริการน้ำมันให้เป็นประมาณ 1,600 แห่งภายในปี 2568 ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมียอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและช่วยรองรับกำลังการผลิตน้ำมันเบนซินและดีเซลของโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กำไรโดยรวม
จากการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐและการกลับคืนมาของกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงจากธุรกิจการตลาดของบริษัทน่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในระหว่างปี 2565-2566 และเห็นว่าธุรกิจการตลาดของบริษัทจะยังคงเป็นแหล่งสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนเนื่องจากค่าการตลาดมีความผันผวนน้อยกว่าค่าการกลั่น
ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีการขยายการลงทุนอย่างมาก
สำหรับ ธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้น บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินงานในโรงไฟฟ้าหลายประเภทโดยผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ปัจจุบัน บริษัท บีซีพีจี มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้วด้วยกำลังการผลิตรวม 475 เมกะวัตต์ซึ่งคิดตามสัดส่วนการลงทุน ทริสเรทติ้งประมาณการว่า บริษัท บีซีพีจี จะใช้เงินลงทุนที่ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2564-2566 โดยจะครอบคลุมทั้งในส่วนของการซ่อมบำรุง การลงทุนทั้งในโครงการใหม่และการขยายงานในโครงการเดิม รวมทั้งการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว
ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทจะสร้างกระแสเงินสดเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ประมาณ 4-6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2564-2566
โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.5-3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2560-2562 ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าการกระจายการลงทุนเชิงกลยุทธ์จะช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้แก่บริษัทเพื่อให้สามารถรองรับความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าการกลั่นได้ในระยะยาว
รวมธุรกิจของ OKEA เข้ามา
ปัจจุบันบริษัทถือหุ้น 46.09% ใน OKEA ASA (OKEA) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศสัญชาตินอร์เวย์ OKEA ดำเนินการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแหล่งที่มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ผ่านการพิสูจน์แล้วนอกชายฝั่งนอร์เวย์ เนื่องจากบริษัทมีอำนาจการควบคุมใน OKEA ดังนั้น บริษัทจึงได้นำผลการดำเนินงานทางการเงินของ OKEA เข้ามารวมในงบการเงินของบริษัทโดยเริ่มตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เป็นต้นไป
ในปี 2563 OKEA จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมได้ประมาณ 5.8 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยที่ประมาณ 70% เป็นน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว ส่วนอีกประมาณ 30% นั้นเป็นก๊าซธรรมชาติ ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างมากในปี 2563 ส่งผลทำให้ราคาจำหน่ายปิโตรเลียมโดยเฉลี่ยของ OKEA ลดลง 35% มาอยู่ที่ 30.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการดำเนินงานของ OKEA นั้นค่อนข้างต่ำโดยอยู่ที่ประมาณ 12-15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
ทั้งนี้ ในปี 2563 OKEA มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ประมาณ 2.9 พันล้านบาทและมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ประมาณ 50% และสำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 นั้น ราคาจำหน่ายปิโตรเลียมโดยเฉลี่ยของ OKEA เพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ประมาณ 52 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งส่งผลให้ OKEA มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่จำนวน 2 พันล้านบาท
ทริสเรทติ้ง ประมาณการว่ายอดขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของ OKEA จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 7 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2565 โดยจะมีกำลังการผลิตเพิ่มมาจาก ‘แหล่ง Yme’ ด้วย หลังจากนั้น ยอดขายจะทยอยลดลงเหลือประมาณ 4.5-5.5 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปีถัดๆ ไปตามปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า OKEA จะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้แก่บริษัทที่จำนวน 5-9 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2566
อย่างไรก็ตาม การรวมผลการดำเนินงานของ OKEA เข้ามาในงบการเงินของบริษัทนั้นจะเพิ่มเงินกู้ที่มีภาระดอกเบี้ยมูลค่าประมาณ 8.8 พันล้านบาทและหนี้สินสำหรับต้นทุนในการรื้อถอนอีกประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทเข้ามาด้วย
ภาระหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง
ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะยังคงมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงจากแผนการลงทุนขนาดใหญ่ โดยภาพรวมแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้งบในการลงทุนและใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2564-2566 โดยเงินลงทุนจำนวน 3.6 หมื่นล้านบาทจะนำไปใช้ในธุรกิจผลิตไฟฟ้า จำนวน 8.5 พันล้านบาทจะใช้ในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจการตลาด จำนวน 1.8 พันล้านบาท จะใช้ในธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ จำนวน 5.7 พันล้านบาท จะใช้ในกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และที่เหลืออีกจำนวน 0.5 พันล้านบาทจะใช้ในกิจกรรมอื่นๆ
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราวๆ 60% ในช่วงระหว่างปี 2564-2566 จากประมาณ 50% ณ เดือนมิถุนายน 2564
ทริสเรทติ้ง ประมาณการว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1.8-2 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ซึ่งรวมผลการดำเนินงานของ OKEA ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ด้วย
ทริสเรทติ้ง คาดว่า กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2.1-2.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2566 จากการมีค่าการกลั่นที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ตลอดจนยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และผลการดำเนินงานของ OKEA ที่รวมเข้ามา โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4-4.5 เท่าในช่วงระหว่างปี 2565-2566
สถานะสภาพคล่องอยู่ในระดับที่มั่นคง
บริษัทมีสถานะสภาพคล่องเป็นที่แข็งแรง โดย ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวนประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.7 หมื่นล้านบาท
ในขณะเดียวกัน บริษัทจะมีหนี้สินที่ใกล้ครบกำหนดชำระซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ระยะยาว หนี้สินตามสัญญาเช่า และหุ้นกู้อยู่ที่ประมาณ 8.6 พันล้านบาท
โครงสร้างหนี้
ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีภาระหนี้รวมอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท (รวมหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน) โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประกอบด้วยหนี้ของบริษัทย่อยซึ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกันมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาทและหนี้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันมูลค่า 8 พันล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 44% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- ราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ระดับ 66 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564 และ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565 และ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2566
- กำลังการกลั่นน้ำมันดิบของโรงกลั่นของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.1-1.2 แสนบาร์เรลต่อวันในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จนถึงปี 2566
- ค่าการกลั่นพื้นฐานของบริษัทจะอยู่ที่ 3.5-4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2564 และ 4-6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงปี 2565-2566
- ยอดขายผ่านสถานีบริการน้ำมันของบริษัทจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ประมาณ 4%-6% ในช่วงปี 2564-2566
- ประมาณการเงินลงทุนทั้งสิ้น 5.2 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากำไรจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทจะฟื้นตัวต่อไปในช่วงระยะเวลาประมาณการจากการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมันและค่าการกลั่นรวมถึงประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้นของบริษัท ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจการตลาดของบริษัทเอาไว้ได้ในขณะที่การลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าก็คาดว่าจะสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนให้แก่บริษัทได้อีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีจำกัดในระยะใกล้ ในขณะที่ปัจจัยที่มีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ หรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงซึ่งอาจเกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องมีการก่อหนี้ หรือบริษัทประสบผลขาดทุนอย่างมากจากการลงทุนซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 8 เท่าเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 28 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP)
อันดับเครดิตองค์กร: |
A- |
อันดับเครดิตตราสารหนี้: |
|
BCP224A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 |
A- |
BCP225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 |
A- |
BCP238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
A- |
BCP244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
A- |
BCP258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
A- |
BCP273A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
A- |
BCP275A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
A- |
BCP28DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 |
A- |
BCP303A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 |
A- |
BCP305A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 |
A- |
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 12 ปี |
A- |
BCP19PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 10,000 ล้านบาท |
BBB |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
|
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ