- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 31 October 2021 18:40
- Hits: 4092
ฟิทช์ คงอันดับเครดิต ของ GPSC ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
ฟิทช์ เรทติ้งส์ – กรุงเทพฯ – 27 ตุลาคม 2564 : บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จากัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ในขณะเดียวกันฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ GPSC ที่ ‘A+(tha)’
อันดับเครดิตของ GPSC ได้รวมถึงอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสองอันดับจากอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ที่ ‘a-(tha)’ ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ ระหว่าง GPSC และบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ที่อยู่ในระดับปานกลาง ฟิทช์คาดว่า GPSC จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจของกลุ่มปตท. ไปสู่พลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาในด้านห่วงโซ่ยานยนต์ไฟฟ้า
อันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง เนื่องจากบริษัทฯเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศมีกำลังผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของกำลังผลิตทั้งหมดของประเทศ และมีกระจายตัวของสินทรัพย์ในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้บริษัทได้รับประโยชน์จากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายไฟฟ้าภายใต้สัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวกับคู่ค้าที่มีสถานะทางธุรกิจและการเงินที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวถูกลดทอนด้วยสัดส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง จากการลงทุนอย่างต่อเนื่องของบริษัท
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความสัมพันธ์กับ ปตท. ที่เพิ่มขึ้น: ฟิทช์เชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง GPSC และ ปตท. มีความแข็งแกร่งมากขึ้น GSPC เป็นบริษัทหลักในแผนการเปลี่ยนผ่านพลังานของกลุ่มปตท. การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดีย และ โรงไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศไต้หวัน ก็ได้มีแหล่งเงินลงทุนหลักมาจาก เงินกู้ยืมจาก ปตท. ซึ่งสอดคล้องกับ แผนธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 12 GW ภายในปี 2573
ความเสี่ยงด้านราคา: กำไรจากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมของ GPSC รวมถึงบริษัทลูกในกลุ่ม ปตท.นั้นอาจได้รับผลกระทบจากการปรับราคาขายไฟฟ้าอยู่บ้าง แม้ว่าสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าจะใช้ราคาเชื้อเพลิงเข้ามาร่วมประกอบการพิจารณา แต่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะกำกับและรักษาค่าไฟฟ้าในประเทศอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ซึ่งจะเห็นจากในอดีต บางช่วงเวลา ราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น มิได้รับการส่งผ่านอย่างเต็มที่ในค่าไฟฟ้า อย่างไรก็ตามผู้ผลิตไฟฟ้าจะได้รับการชดเชย ในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง
ฟิทช์ คาดว่า ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 จะทำให้กําไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA margin) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 26 ในปี 2564 จากร้อยละ 28 ในปี 2563 เนื่องมาจากค่าไฟฟ้าอาจไม่ได้รับการปรับเพิ่มตามราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม EBITDA margin ของบริษัทน่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 28 ในปี 2565 จากค่าไฟฟ้าที่คาดว่าจะได้รับการปรับเพิ่ม ราคาก๊าซธรรมชาติที่ต่ำลงจากสัญญาแบ่งปันผลผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ และประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าที่ดีขึ้น หลังจากการซ่อมแซมโรงไฟฟ้าที่ได้มีการหยุดเดินเครื่องนอกแผนในปี 2564 แล้วเสร็จ
สถานะทางการเงินที่อ่อนแอลง: ฟิทช์คาดว่าแผนการลงทุนของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ของบริษัทฯเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงกว่า 5.5 เท่า จนถึงปี 2566 (ปี 2563 อยู่ที่ 4.4 เท่า) การลงทุนดังกล่าวประกอบด้วย การลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) ที่จะหมดอายุลง และลงทุนในโครงการ Energy Recovery Unit ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP; อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) FFO net leverage ของ GPSC น่าจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวมาอยู่ที่ระดับ 7.5 เท่าในปี 2566 จากการชำระเงินลงทุนส่วนสุดท้ายของโครงการให้กับ TOP อย่างไรก็ตาม รายได้จากโครงการดังกล่าว ประกอบกับกระแสเงินสดจากการลงทุนจากโครงการในประเทศไต้หวัน จะช่วยให้สัดส่วนหนี้สินลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่า 6.5 เท่าในปี 2567
การกระจายตัวของสินทรัพย์ที่ดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังานหมุนเวียนของบริษัท คิดตามสัดส่วนการถือหุ้น จะมีสัดส่วนมากว่าร้อยละ 30 หลังจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดีย และ โรงไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศไต้หวัน ซึ่งทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 2 GW นอกจากนี้การลงทุนดังกล่าวจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของ GPSC ในอัตราร้อยละ 25 มาอยู่ที่ระดับ 7 GW ในภายปี 2567 และเพิ่มการกระจายด้านภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่าสถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้น จะถูกลดทอนจากความเสี่ยงเนื่องจากผู้รับซื้อไฟฟ้าของโครงการในประเทศอินเดีย มีสถานะทางการเงินด้อยกว่าผู้รับซื้อไฟฟ้าในประเทศไทย และคุณภาพของกระแสเงินสดที่มีลักษณะด้อยกว่า จากการที่ GSPC เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย
คุณภาพรายได้ที่ดี: ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ GPSC จะยังคงแข็งแกร่ง จากการที่สินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัทฯอยู่ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล สินทรัพย์ส่วนใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทมีการลงทุนในลักษณะบริษัทร่วมทุน เป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพเช่นกัน เนื่องจากมีสัญญาระยะยาว และมีความเสี่ยงจากคุณภาพของผู้รับซื้อกระแสไฟฟ้าที่ไม่สูงมากนัก โดยบริษัทมีรายได้ประมาณร้อยละ 42 จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ในลักษณะ take or pay กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศที่ ‘BBB+’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และอีกประมาณร้อยละ 30 จากกลุ่ม ปตท. ฟิทช์คาดว่า บริษัทจะมี EBITDA อยู่ที่ระดับ 1.7 ถึง 2.0 หมื่นล้านบาท ในช่วงสามปีข้างหน้า
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ GPSC ได้รวมถึงอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสองอันดับจากอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) สะท้อนถึงความสัมพันธ์ ระหว่าง GPSC และ ปตท. ที่อยู่ในระดับปานกลาง GSPC เป็นบริษัทหลักของกลุ่มในธุรกิจไฟฟ้า และมีบทบาท สำคัญในการเติบโตของกลุ่ม ปตท.
GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต โดยมีบริษัทมีรายได้และกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ใกล้เคียงกับ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในสนามบินหลักของประเทศไทย และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จากัด หรือ NNEG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทย โดย BAFS และ NNEG ต่างมีรายได้ที่สม่ำเสมอ จากการแข่งขันทางธุรกิจที่ต่ำ และ NNEG ยังได้รับประโยชน์จากสัญญาซื้อขายระยะยาวเช่นเดียวกับ GSPC
GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า BAFS เนื่องจาก GPSC มีการกระจายตัวของทรัพย์สินและรายได้และกำไรที่สูงกว่า นอกจากนี้ BAFS ยังได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมการบินที่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส ทำให้รายได้อ่อนแอ่ลง และมีอัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้น ดังนั้น อันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับเครดิตของ BAFS
ฟิทช์ คาดว่า GPSC จะมีอัตราส่วนหนี้สินในระดับที่สูงกว่า NNEG ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูง ดั้งนั้นอันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของ NNEG ถึงแม้ GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่า เนื่องจากมีการกระจายตัวของทรัพย์สินที่สูงกว่า และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สูงกว่า NNEG อย่างมีนัยสำคัญ
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
- รายได้รวมอยู่ที่ระดับ 6.7-7 หมื่นล้านบาทในปี 2564-2567 (ปี 2563 อยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท)
- EBITDA Margin อยู่ที่ระดับร้อยละ 26-28 ในช่วงปี 2564-2567(ปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 28)
- ค่าใช้จ่ายในการลงทุนประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท และการลงทุนจากการซื้อกิจการประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2564-2565 ซึ่งรวมการลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดีย และประเทศไต้หวัน
- จ่ายเงินปันผลร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ ปตท. ที่เพิ่มสูงขึ้น
- การเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของบริษัท ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง หลังจากมีการเข้าซื้อกิจการที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามฟิทช์อาจพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC หากอัตราส่วน FFO net leverage ลดลงต่ำกว่า 5.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยลบ:
- อัตราส่วนหนี้สินที่ลดลงช้ากว่าที่ฟิทช์คาด เนื่องจากเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาด หรือกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่ำกว่าที่คาด ซึ่งส่งผลให้ FFO net leverage ของบริษัทอยู่ในระดับสูงกว่า 6.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
- สถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอลงจากการลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานสูง
- ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ ปตท. ที่ลดลง
- อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิอาจถูกปรับลดจากอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท หากอัตราส่วน prior-ranking debt to EBITDA เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง (ณ สิ้นปี 2563 เท่ากับ 2.0 เท่า)
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่เพียงพอ: สภาพคล่องของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากเงินสดหรือเทียบเท่า จำนวน 2 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน ปี 2564 บริษัทมีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายในอีก 12 เดือนข้างหน้า จากเดือน มิถุนายน 2564 จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะยาว ทั้งนี้บริษัทยังได้รับวงเงินเงินกู้ยืมเพิ่มเติมจาก ปตท. จำนวน 2 หมื่นล้านในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อรองรับการลงทุนในต่างประเทศ
ข้อมูลของบริษัท
GSPC เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำใช้เพื่ออุตสาหกรรม ให้แก่ลูกค้าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. และขายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย GPSC มีโรงไฟฟ้าในประเทศไทย และต่างประเทศ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น และลาว โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำได้ของบริษัทได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการ GLOW และการลงทุนในโครงการต่างๆ ซึ่งทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำได้ เพิ่มขึ้นเป็น 7 GW และประมาณ 2,900 ตันต่อชั่วโมง ตามลำดับ
สรุปรายการปรับปรุงงบการเงินที่สำคัญ
ฟิทช์ ได้ปรับงบการเงินรวมของ GPSC โดยใช้วิธี Proportionate Consolidation ในส่วนของ รายได้, กระแสเงินสด, เงินสด และหนี้ของ IRPC-CP ตามสัดส่วนการถือหุ้น IRPC-CP ของจำนวน 51% โดย GPSC ฟิทช์มองว่า GPSC ไม่สามารถเข้าถึงกระแสเงินสดของ IRPC-CP อย่างเต็มที่ และมีความรับผิดชอบที่จากัดสาหรับหนี้ของ IRPC-CP ตามสัดส่วนการถือหุ้นและเงื่อนไขตามสัญญาเงินกู้ของ IRPC-CP
ติดต่อ
Primary Analyst
ชาลี ฉัตรเสถียรพงศ์
Associate Director
+66 2 108 0162
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ชั้น 17, อาคารปาร์คเวนเชอร์, เลขที่ 57 ถนนวิทยุ, แขวงลุมพินี, เขตปทุมวัน
กรุงเทพฯ 10330
Secondary Analyst
โอบบุญ ถิรจิต
Director
+66 2 108 0159
Committee Chairperson
Muraliadharan Ramakrishnan
Senior Director
+65 6796 7236
ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ