- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 24 October 2021 17:31
- Hits: 17974
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์’ ที่ ‘BBB-‘ แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘BBB-‘ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทลูกหลักของบริษัทคือ บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานเงินทุน รวมทั้งภาระหนี้ และความสามารถในการสร้างผลกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัท ตลอดจนสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพออีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากสถานะความเสี่ยงที่เกิดจากความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับเงินลงทุนของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
สถานะทางธุรกิจของคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ มีปัจจัยสนับสนุนจากเสถียรภาพทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นของ บล. คันทรี่กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทลูกหลัก ทั้งนี้ บล.คันทรี่กรุ๊ป มีส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาโดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.3% ในปี 2563 จากระดับ 1% ในปี 2561 บริษัทมีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.4% ในไตรมาสแรกของปี 2564
ส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายตราสารอนุพันธ์ของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกันและอยู่ในอันดับที่ 1 ของอุตสาหกรรมในปี 2563 ด้วยส่วนแบ่งที่ระดับ 12.6% จากระดับ 2.6% ในปี 2561 และต่อมาในไตรมาสแรกของปี 2564 บริษัทมีส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 13.8% โดยพัฒนาการดังกล่าวเกิดจากฐานลูกค้าที่ขยายตัวขึ้นจากการขยายทีมงานด้านการตลาดและการจัดงานส่งเสริมการขายที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
บล.คันทรี่กรุ๊ป มีแผนจะขยายทีมงานด้านการตลาดและพัฒนาโครงการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ทางออนไลน์ (Online Trading Platform) เพื่อให้ได้ฐานลูกค้าที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นของ บล. คันทรี่กรุ๊ป ในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จะส่งเสริมให้สถานะทางธุรกิจของบริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ แข็งแกร่งมากขึ้นด้วย
การพึ่งพารายได้ค่านายหน้า
บริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ พึ่งพารายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จาก บล. คันทรี่กรุ๊ป เป็นแหล่งรายได้หลักเมื่อพิจารณาจากงบการเงินรวม ในขณะที่รายได้ค่านายหน้าฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นก็อาจส่งผลให้รายได้ของทั้งบริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บล.คันทรี่กรุ๊ป ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดได้เช่นกัน ดังนั้น บล. คันทรี่กรุ๊ป จึงต้องมีการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ให้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์จาก บล. คันทรี่กรุ๊ป คิดเป็น 68% ของรายได้รวมของบริษัท ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 59% เล็กน้อย ส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการยังคงมีสัดส่วนไม่สูงมากโดยอยู่ที่ 8% ของรายได้รวม ซึ่งเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 18% แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหน่วยลงทุน (Selling agent fee) จะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม
บริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ มีสัดส่วนรายได้ที่มาจากส่วนแบ่งกำไรของบริษัทร่วมที่ปรับตัวดีขึ้นโดยอยู่ที่ระดับ 7% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 จากระดับ 4% ในปี 2563 จากผลการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าสัดส่วนรายได้ดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่ยังไม่มีนัยสำคัญ การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ของบริษัทมาอยู่ที่ 39% จาก 25% และการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายการลงทุนของบริษัทผาแดงอินดัสทรีไปสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นนั้นเป็นปัจจัยที่กดดันต่อสถานะเครดิตโดยรวมของบริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์
ทั้งนี้ เสถียรภาพของรายได้และผลกำไรของบริษัทในกลุ่มที่ปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนจึงถือว่าจะเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการพัฒนาสถานะเครดิตของกลุ่ม
ฐานทุน ภาระหนี้ และความสามารถในการสร้างผลกำไรยังคงแข็งแกร่ง
อันดับเครดิตของบริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ มีปัจจัยสนับสนุนจากฐานทุนและภาระหนี้ที่ได้รับการประเมินว่าอยู่ในระดับเข้มแข็งโดยวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 17% โดยเฉลี่ย 5 ปี ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานทุนของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งต่อไปในระยะปานกลางจากการมีกำไรสะสมที่เกิดจากความสามารถในการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้นของ บล. คันทรี่กรุ๊ป และจากนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ระมัดระวังของบริษัท
อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของบริษัทที่นำไปสู่ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกดดันต่อการประเมินฐานทุนและภาระหนี้และท้ายที่สุดก็จะส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตองค์กรของบริษัทได้
ทริสเรทติ้ง ประเมินฐานทุน ตลอดจนภาระหนี้ และความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทโดยอยู่บนพื้นฐานความสามารถในการสร้างผลกำไรที่อยู่ในระดับปานกลาง ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.3% จากระดับ 0.4% ในระหว่างปี 2562-2563 เนื่องจากกำไรก่อนภาษีเงินได้ที่แข็งแกร่งขึ้น
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่า ความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตด้วยอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับประมาณ 0.7% โดยเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งน่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้และการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เข้มแข็งขึ้นของ บล. คันทรี่กรุ๊ป
สถานะทางความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง
สำหรับ ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ นั้น ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่า บล. คันทรี่กรุ๊ป มีนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงทางด้านเครดิตในระดับที่ยอมรับได้โดยจะเห็นได้จากเกณฑ์การอนุมัติวงเงินสินเชื่อที่รัดกุมและนโยบายการวางหลักประกันสำหรับทั้งเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ที่มีความเข้มงวด ซึ่งปรากฏให้เห็นจากการที่บริษัทมีต้นทุนทางเครดิตที่ระดับ 0.01% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 โดยเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 0.04%
บริษัทคันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์อยู่ในระดับหนึ่งเนื่องจากบริษัทมีธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยบัญชีของบริษัทเอง (Principal Trading) ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกรรมการซื้อขายตราสารหนี้ (Fixed Income Trading) ตลอดจนการซื้อขายหลักทรัพย์เชิงกลยุทธ์ (Tactical Trading) และการลงทุนในหุ้นระยะยาว (High-conviction Equity)
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอที่จะป้องกันผลขาดทุนจำนวนมากที่เหนือความคาดหมายจากธุรกรรมดังกล่าวซึ่งรวมไปถึงเกณฑ์การควบคุมผลขาดทุน (Stop Loss Criteria) การจำกัดผลขาดทุนต่อพนักงานที่ทำการซื้อขาย (Loss Limit per Trader) และการจำกัดจำนวนเงินลงทุน (Investment Holding Limit)
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ความกังวลต่อเงินลงทุนของบริษัทเป็นปัจจัยกดดันสถานะความเสี่ยงของบริษัทเนื่องจากเงินลงทุนจำนวนมากในบริษัทที่มีกระแสเงินสดไม่คงที่นั้นอาจสร้างแรงกดดันต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้ตัวอย่างเช่น บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท ผาแดงอินดัสทรี (ได้รับอันดับเครดิต BB/Negative จากทริสเรทติ้ง) เป็น 39% จาก 25% ผ่านทางการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ผาแดงอินดัสทรีด้วยเงินลงทุนทั้งหมด 565 ล้านบาท บริษัท ผาแดงอินดัสทรีได้เปลี่ยนการดำเนินธุรกิจอย่างสิ้นเชิงจากธุรกิจพลังงาน ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้ที่แน่นอน
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ไปสู่ธุรกิจด้านการให้บริการซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการให้บริการยังคงมีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) (Bound and Beyond, ชื่อย่อ BEYOND) เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจดังกล่าวอีกด้วย
แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า บริษัทจะมีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอโดยพิจารณาจากอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพโดยเฉลี่ย 5 ปีที่ระดับประมาณ 117% และอัตราส่วนความครอบคลุมของสภาพคล่องที่ประมาณ 1.2 เท่าตามงบการเงินรวมซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพเพียงพอสำหรับการดำเนินงาน โดยแม้ว่าบริษัทจะไม่มีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินใดๆ แต่พอร์ตเงินลงทุนของบริษัทก็สามารถใช้เป็นแหล่งสภาพคล่องในยามจำเป็นได้
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นจำนวน 2.9 พันล้านบาท อีกทั้ง บริษัทยังสามารถเข้าถึงตลาดเงินและตลาดทุนซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทได้อีกด้วย อนึ่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหุ้นกู้คงค้างจำนวน 880 ล้านบาทตามงบการเงินรวม
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 มีดังนี้
- ส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5%-3%
- อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.07%
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิจะอยู่ที่ระดับประมาณ 60%
- เงินลงทุนในบริษัทร่วมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2 พันล้านบาท
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต’Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า บล.คันทรี่กรุ๊ป ในฐานะที่เป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจหลักทรัพย์และผลการดำเนินงานทางการเงินเอาไว้ได้เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวยังอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ที่ว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับฐานทุนและภาระหนี้เอาไว้ได้ในขณะที่ยังคงดำรงนโยบายในการลงทุนที่ระมัดระวังไปด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการตลาดของธุรกิจในทุกๆ สายงานของ บล.คันทรี่กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทลูกหลักของบริษัทนั้นปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่องในขณะที่บริษัทยังคงความสามารถในการสร้างผลกำไรเอาไว้ได้ รวมถึงในกรณีที่การลงทุนในอนาคตของบริษัทนำมาซึ่งแหล่งรายได้ที่หลากหลายทและเป็นรูปธรรม
ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากรายได้ของ บล.คันทรี่กรุ๊ป หรือผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทเองปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือระดับภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจนทำให้สถานะของฐานทุน ภาระหนี้ และความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทอ่อนแอลง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- Securities Company Rating Methodology, 9 เมษายน 2563
บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (CGH)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB- |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
|
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ