WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

FITCH12 41ฟิทช์ คงอันดับเครดิต AIS และ AWN ที่ ‘AA+(tha)’; แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

       ฟิทช์ เรทติ้งส์ - กรุงเทพฯ - 8 ตุลาคม 2564 : บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS และบริษัทลูก ซึ่งได้แก่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ของทั้งสองบริษัทที่ ‘F1+(tha)’ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของ AIS และ AWN ที่ ‘AA+(tha)’

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

       นดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการเงินรวม: ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของ AIS และ AWN โดยพิจารณาจากสถานะทางการเงินรวมของกลุ่มซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัททั้งสอง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) AIS ถือหุ้นทั้งหมดใน AWN ทำให้มีอำนาจควบคุมการดำเนินธุรกิจ และนโยบายด้านการเงิน และการลงทุนของ AWN     

     โดย AWN เป็นผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลุ่ม โดยมีสัดส่วนรายได้ และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คิดเป็นร้อยละ 93 และ 81 ของกลุ่ม ตามลำดับในปี 2563

      ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสที่ยืดเยื้อ: ฟิทช์คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในระดับต่ำ หลังจากการแพร่ระบาดใหม่อีกรอบของโคโรน่าไวรัส ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564 และมาตรการต่างๆในการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ของ AIS ในปี 2564  

      ฟิทช์ คาดว่า การฟื้นตัวของธุรกิจของ AIS จะเป็นไปอย่างช้าๆ ในปี 2565 โดยมีการเติบโตของรายได้จากการให้บริการที่ประมาณร้อยละ 2-3

      เศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับแรงกดดันจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ และการพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ผู้ใช้บริการของ AIS ส่วนใหญ่จะอยู่ในระบบเติมเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่า กลุ่มผู้ใช้บริการระบบรายเดือน จากสภาวะการว่างงานที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

      การแข่งขันด้านราคาที่ไม่มาก : ฟิทช์ คาดว่า การแข่งขันด้านราคาในปี 2565 จะยังคงไม่สูงมาก เนื่องจากผู้ประกอบการน่าจะมุ่งเน้นการทำกำไร มากกว่าการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดโดยการให้ส่วนลดค่าเครื่อง ฟิทช์คาดว่านโยบายดังกล่าวน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรจากการให้บริการด้านข้อมูลให้ดีมากขึ้น และสนับสนุนให้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นการให้บริการด้านข้อมูลที่สำคัญมากขึ้นในระยะยาว

      ความสามารถในการรองรับการลงทุน : ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Net Leverage) จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 1.3 เท่าในปี 2564 (2563 อยู่ที่ 1.1 เท่า) เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน และค่าคลื่นความถี่ ที่อยู่ในระดับสูง 

       AIS มีแผนใช้จ่ายด้านการลงทุน (ไม่รวมค่าคลื่นความถี่) ประมาณ 2.5-3.0 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 (ปี 2563 อยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท) ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านคลื่นความถี่จะลดลงมาอยู่ในระดับ 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 และ 1.1 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 (ปี 2563 อยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท)

ฟิทช์ เชื่อว่า อัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำที่ 1.1 เท่า ณ สิ้นปี 2563 น่าจะรองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตได้

        ความคล่องตัวทางการเงินที่สูง: ฟิทช์เชื่อว่า AIS มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการอัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งได้แก่การปรับลดการลงทุนในเครือข่าย 5G หรือปรับลดการจ่ายเงินปันผล หากความต้องการใช้งานเครือข่าย 5G อยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาด AIS ดำเนินการขยายเครือข่าย 5G ในหัวเมืองหลักอย่างต่อเนื่อง และได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563  

           แม้ว่า ความต้องการใช้งานเครือข่าย 5G ในประเทศไทยยังคงมีความไม่แน่นอน บริษัทคาดว่าจะใช้ประโยชน์จากเครือข่าย 5G ในการขยายความครอบคลุมของการให้บริการระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สายได้มากขึ้น ฟิทช์คาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนเครือข่าย 5G จะอยู่ในระดับต่ำในช่วงเริ่มต้น และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในการก่อสร้างเครือข่าย 5G ที่สูงจะกดดันกระแสเงินสดสุทธิในช่วง 2 ปีข้างหน้า

           ผู้นำตลาด: AIS เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในประเทสไทย ฟิทช์เชื่อว่า AIS จะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการให้อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 45-50 ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า (ไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 46) นอกจากนี้สถานะทางธุรกิจของ AIS ยังได้รับการสนับสนุนจาก ขนาดธุรกิจและฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ ชื่อเสียงทางการค้าที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมมากที่สุด    AIS ได้ขยายธุรกิจไปสู่การให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

      โดยรายได้จากการให้บริการดังกล่าวมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดย ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 12 (2561 อยู่ที่ร้อยละ 8) อย่างไรก็ตาม รายได้จากการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงยังคงมีสัดส่วนที่ต่ำที่ประมาณร้อยละ 6 ของรายได้จากการให้บริการทั้งหมดของ AIS ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

      อันดับเครดิตของ AIS สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง  AIS มีอันดับเครดิตสูงกว่าบริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ เนื่องจาก DTAC มีขนาดรายได้ที่เล็กกว่า มีสถานะทางการตลาดที่ด้อยกว่า

      และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่ต่ำกว่า AIS  อันดับเครดิตของ DTAC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ที่ ‘aa-(tha)’ เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC

      อันดับเครดิตของ AIS มีความแข็งแกร่งกว่าอันดับเครดิตของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดสุราและเบียร์ในประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมาร์     

      AIS และ ThaiBev มีสถานะทางธุรกิจในระดับใกล้เคียงกัน เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นผู้นำในธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่  AIS มีการกระจายตัวของธุรกิจในด้านภูมิภาคที่น้อยกว่า ThaiBev แต่อันดับเครดิตภายในประเทศของ AIS อยู่ในระดับสูงกว่า ThaiBev อยู่หนึ่งอันดับเนื่องจาก AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า

      อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ AIS อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

      เนื่องจาก AIS มีสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ปตท. มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีการกระจายตัวของธุรกิจมากกว่า AIS  ปตท. เป็นผู้ดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติในขั้นกลางน้ำและปลายน้ำเพียงผู้เดียวในประเทศไทย และเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในธุรกิจผลิตและสำรวจปิโตรเลียม รวมทั้งยังเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรายใหญ่ในธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทย  AIS และ ปตท. มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วน FFO Net Leverage อยู่ที่ระดับประมาณ 1.2-1.3 เท่า สำหรับ AIS และ 2 เท่าสำหรับ ปตท.

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

- รายได้เติบโตในระดับต่ำที่ร้อยละ 1-2 ในปี 2564 เนื่องจากความต้องการที่ต่ำหลังจากการระบาดของโคโรน่าไวรัสระลอกใหม่ และมาตรการต่างๆในการควบคุมการแพร่ระบาด ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2564; โดยรายได้จะเติบโตประมาณร้อยละ 3-4 ในปี 2565 เนื่องจากกิจกรรมทางเศรฐกิจที่เพิ่มขึ้นหลังจากมีการผ่อนคลายมาตราการควบคุมการแพร่ระบาด

- EBITDA margin ที่ร้อยละ 42-43 ในปี 2564 และ 2565 (ครึ่งปีแรกของปี 2564 อยู่ที่ ร้อยละ 43)

- เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2564 และ 2565 (2563 อยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท)

- จ่ายเงินปันผลในอัตราร้อยละ 80 ของกำไร

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

AIS

ปัจจัยบวก

- บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวก และอัตราส่วน FFO Net Leverage ลดลงต่ำกว่า 1.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้การให้บริการ

ปัจจัยลบ

- การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน FFO Net Leverage สูงกว่า 1.8 เท่าอย่างต่อเนื่อง

- การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท

AWN

ปัจจัยบวก

- การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตในแง่บวกของ AIS โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง AIS และ AWN ไม่อ่อนแอลง

ปัจจัยลบ

- การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของ AIS ในแง่ลบ

สภาพคล่อง

           สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้: ฟิทช์มองว่าสภาพคล่องของ AIS สามารถบริหารจัดการได้ โดยสภาพคล่องของ AIS ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่อยู่ในระดับสูงจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ซึ่งเพียงพอต่อหนี้ที่ถึงกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท AIS น่าจะมีกระแสเงินสดที่ติดลบในปี 2564 จำนวนประมาณ 5 พันล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนก่อสร้างเครือข่าย 5G และการชำระค่าคลื่นความถี่ แต่ฟิทช์คาดว่า บริษัทน่าจะสามารถหาแหล่งเงินกู้ใหม่ในการสนับสนุนการลงทุนดังกล่าว

           ฟิทช์ เชื่อว่า AIS มีความสามารถในการเข้าถึงตลาดเงินกู้ภายในประเทศเนื่องจากสถานะทางเครดิตที่ดี นอกจากนี้สภาพคล่องของ AIS ยังได้รับการสนับสนุนจากวงเงินจากธนาคารที่สามารถเบิกกู้ได้จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2564

           เกี่ยวกับบริษัท: AIS เป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของไทย และเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศแก่ลูกค้าจำนวน 1.5 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามจำนวนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงประมาณร้อยละ 12 บริษัท อินทัช โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) และ Singapore Telecommunication Limited เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 40 และ 23 ตามลำดับ

ติดต่อ

Primary Analyst

โอบบุญ ถิรจิต

Director

+662 108 0159

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ชั้น 17, อาคารปาร์คเวนเชอร์, เลขที่ 57 ถนนวิทยุ, แขวงลุมพินี, เขตปทุมวัน

กรุงเทพฯ 10330

Secondary Analyst

ณิชยา สีมานนทปริญญา

Director

+662 108 0161

Committee Chairperson

Steve Durose

Managing Director

+61 2 8256 0307

ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

 

EXIM One 720x90 C J

BITKUB Ad

SAM720x100px bgGC 790x90

smed banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!