- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Saturday, 02 October 2021 20:45
- Hits: 16030
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ‘บ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์’ ที่ ‘BBB-‘ แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘BBB-‘ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดภายในประเทศ รวมถึงความสามารถในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) จำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง และการแข่งขันที่รุนแรงในงานรับเหมาก่อสร้าง อันดับเครดิตยังถูกลดทอนจากการลงทุนในหลายๆ โครงการที่ยังไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งยากต่อการทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในประเทศ
บริษัทยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศ บริษัทมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับ จากประสบการณ์และทรัพยากรที่มีอยู่ บริษัทสามารถรับงานรับเหมาก่อสร้างและงานบริการทางด้านวิศวกรรมได้ทุกประเภท อีกทั้ง บริษัทยังมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายทั้งในโครงการภาครัฐและเอกชนอีกด้วย โดยบริษัทเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างแนวหน้าที่สามารถรับงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ได้ เช่น งานก่อสร้างรางรถไฟฟ้าความเร็วสูง
บริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีรายได้สูงสุดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีรายได้อยู่ในช่วง 4.8-6.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น ในประเทศอินเดียที่บริษัทมีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งผ่านบริษัทย่อย ได้แก่ ITD Cementation India Ltd. นอกจากนี้ บริษัทยังรับงานโครงการในประเทศเพื่อนบ้านและในบังคลาเทศด้วย ซึ่งทำให้รายได้จากงานรับเหมาก่อสร้างจากต่างประเทศมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ของบริษัท
ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ดีกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งเล็กน้อย ถึงแม้ว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) จะแพร่ระบาดอย่างหนัก แต่รายได้รวมของบริษัทก็อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นก็ปรับตัวเป็น 11.3% เพิ่มขึ้นจาก 8.9% ในปี 2563
Backlog จำนวนมาก
ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีโครงการที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) จำนวนมากและมีความหลากหลาย บริษัทมีมูลค่างานในมือที่ยังไม่ส่งมอบจำนวน 3.15 แสนล้านบาท โดยมูลค่างานดังกล่าวรวมโครงการสัมปทานก่อสร้างทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกในประเทศโมซัมบิกมูลค่า 1.13 แสนล้านบาท รวมถึงโครงการสัมปทานทางด่วนในประเทศบังคลาเทศมูลค่า 3.76 หมื่นล้านบาท ซึ่งงานก่อสร้างของโครงการในประเทศโมซัมบิกยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ขณะที่โครงการในประเทศบังคลาเทศจะดำเนินโครงการภายใต้กิจการร่วมค้า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งไม่รวม 2 โครงการดังกล่าวในประมาณการเพื่อพิจารณามูลค่างานใน Backlog อย่างระมัดระวัง
หากไม่นับรวมโครงการในประเทศโมซัมบิกและบังคลาเทศแล้ว บริษัทยังมีมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบในปีนี้สูงถึง 1.65 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการขนาดใหญ่ๆ เช่น โครงการเหมืองหงสาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) มูลค่า 1.31 หมื่นล้านบาท และโครงการเหมืองแม่เมาะสัญญา 9 มูลค่า 2.32 หมื่นล้านบาท การที่บริษัทมีมูลค่างานจำนวนมากจะช่วยรักษารายได้ในอนาคตของบริษัทเอาไว้ได้
การแพร่ระบาดของโรคระบาดกระทบงานก่อสร้าง
บริษัทรับเหมาก่อสร้างต้องเผชิญกับผลกระทบอย่างมากในช่วงที่โรคโควิด 19 แพร่ระบาด เช่น การปิดที่พักคนงานก่อสร้างชั่วคราว ความยากลำบากในการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ หรือแม้กระทั่งงานก่อสร้างที่เกิดความล่าช้า เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น การแพร่ระบาดส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยชะลอตัว ซึ่งแนวโน้มของตลาดที่อยู่อาศัยจะยังคงซบเซาต่อไปเนื่องจากสภาพตลาดที่อ่อนแอและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ตึงตัว ทั้งนี้ การก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของการก่อสร้างภาคเอกชน และยังคงไม่สามารถปรับตัวกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโรคโควิด 19 ระบาดได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ได้
แนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้นในงานก่อสร้างภาครัฐ
ในขณะที่งานก่อสร้างภาคเอกชนซบเซาลง แต่งานก่อสร้างภาครัฐกลับมีแนวโน้มที่ดีในระยะสั้นถึงระยะกลาง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 การก่อสร้างภายในประเทศขยายตัวที่ระดับ 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวถึง 15.5% ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนหดตัวลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทริสเรทติ้งมองว่างบลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจต่างๆ จะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อความพยายามของรัฐบาลในการฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจที่เสียหายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ทริสเรทติ้ง ยังคงมีมุมมองในด้านบวกต่ออุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศในช่วงระยะปานกลาง เมื่อพิจารณาจากการที่ภาครัฐพยายามปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกน่าจะได้รับการส่งเสริมมากขึ้น
การแข่งขันมีความรุนแรงและการประมูลงานมีความล่าช้า
แม้ว่า ภาครัฐจะต้องการผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลาย โครงการก็ตาม แต่ทริสเรทติ้งก็ยังเห็นว่าจะมีความล่าช้าในการประมูลโครงการของภาครัฐเนื่องจากหลายๆ เหตุผล เช่น การเปลี่ยนแผนแม่บทของโครงการ ข้อพิพาทในการประมูลสัญญา ความล่าช้าในการตัดสินใจของภาครัฐ ความล่าช้าในการเจรจาสัญญา เป็นต้น
อีกทั้ง การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้รับเหมาก่อสร้างก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม โครงการส่วนใหญ่แข่งขันกันด้วยวิธีการประมูลซึ่งเป็นการบีบอัตรากำไรของผู้รับเหมาเอง อีกทั้งการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด 19 ยิ่งทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศยากลำบากต่อไป
ผลกำไรมีแนวโน้มเติบโต
ทริสเรทติ้ง คาดว่าผลกำไรของบริษัทจะเติบโตได้ต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาถึงโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะประมูลและโอกาสได้งานก่อสร้างใหม่ของบริษัท โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 2564 จะอยู่ที่ 5.9 หมื่นล้านบาทและเติบโตไปอยู่ที่ระดับ 6.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 ทริสเรทติ้ง คาดว่า มูลค่างานในมือจำนวนมากของบริษัทจะช่วยรักษาระดับรายได้ประมาณ 75% ของรายได้ในปี 2564 ประมาณ 65% ในปี 2565 และ 50% ในปี 2566
ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ คาดว่า จะอยู่ในระดับ 10%-11% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ 6.8-7.1 พันล้านบาทต่อปี
โครงการที่ลงทุนยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของสถานะทางการเงิน
อันดับเครดิตของบริษัทยังคงถูกกดดันจากเงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของสถานะการเงินของบริษัท บริษัทได้ลงทุนจำนวนมากในสัญญาสัมปทานโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ได้แก่ โครงการเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย โครงการนิคมอุตสาหกรรมทวายในเมียนมา โครงการเหมืองแร่ Bauxite และโรงงาน Alumina ใน สปป. ลาว และโครงการสัมปทานก่อสร้างทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกในประเทศโมซัมบิก
โครงการเหล่านี้บริษัทลงทุนไปแล้วประมาณ 1.46 หมื่นล้านบาท ทว่าโครงการเหล่านี้ยังไม่มีความคืบหน้าจากแผนการลงทุนเริ่มแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวายที่บริษัทลงทุนไปแล้วจำนวนมากในการปรับปรุงพื้นที่และก่อสร้างสาธารณูปโภคของโครงการ
ทริสเรทติ้ง มองว่า บริษัทยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงของประเทศที่บริษัทเข้าไปลงทุน รวมทั้งความเสี่ยงด้านกฎระเบียบซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อประโยชน์จากการลงทุน ทั้งนี้ ภาระดอกเบี้ยจ่ายจำนวนมากจากภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในโครงการเหล่านี้จะเป็นปัจจัยหลักในการทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงเป็นเวลาหลายปี ทั้งนี้ มีโอกาสน้อยที่โครงการเหล่านี้จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระยะอันใกล้
ข้อพิพาทในโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวาย
ทริสเรทติ้ง คาดว่าข้อพิพาทระหว่างบริษัทกับคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จากประเด็นที่คณะกรรมการฯ แจ้งยกเลิกสัญญาสัมปทานฝ่ายเดียวนั้น จะยังไม่สามารถมีข้อสรุปได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ หากบริษัทต้องรับรู้การด้อยค่าของเงินลงทุนสำหรับโครงการนี้ ก็จะส่งผลให้สินทรัพย์และส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญและมีโอกาสที่บริษัทจะผิดเงื่อนไขข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ได้
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความไม่ชัดเจนว่าข้อพิพาทระหว่างบริษัทและคณะกรรมการฯ ในท้ายที่สุดจะนำไปสู่การยกเลิกสัญญาสัมปทาน ในขณะที่รัฐบาลไทยยังคงดำเนินการหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่ ดังนั้น จึงยังไม่สามารถมีข้อสรุปในข้อพิพาทได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ อีกทั้ง เหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมาก็ยังดำเนินต่อไป ทริสเรทติ้ง จึงมองว่าโอกาสในการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนโครงการทวายของบริษัทไม่น่าจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้
ในการประเมินสถานะทางการเงินของบริษัท ทริสเรทติ้ง จึงไม่รวมโครงการลงทุนต่าง ๆ ข้างต้นในมูลค่างานที่รอรับรู้รายได้และในประมาณการรายได้ ซึ่งรวมถึงโครงการทวาย ดังนั้น การยกเลิกสัญญาสัมปทานจึงไม่กระทบกับประมาณการเงินทุนจากการดำเนินงาน และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัท
ภาระหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง
อันดับเครดิตของบริษัทถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีโครงสร้างทางการเงินที่ต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมาก แม้ว่าบริษัทจะมีความสามารถในการแข่งขันสูง แต่ภาระหนี้ของบริษัทก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมากเพื่อใช้ในการดำเนินงานโครงการก่อสร้าง ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังมีลูกหนี้การค้าจำนวนมากในบางโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งยังไม่สามารถเรียกชำระเงินได้
โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 73.7% ณ เดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งบริษัทจะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายมากกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี ส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทลดลงอย่างมาก อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทอยู่ที่ 3.5 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทอยู่ที่ 9.5% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับประมาณ 6%-7% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้ง คาดว่า ภาระดอกเบี้ยจ่ายจำนวนมากของบริษัทจะยังคงลดทอนกระแสเงินสดและความสามารถในการลดภาระหนี้ของบริษัทต่อไป ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะสามารถสร้างเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับ 4.2-4.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 9%-9.5% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 2.7 เท่า ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ที่ประมาณ 75%
โครงสร้างทางการเงิน
การจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทให้เท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทนั้น เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมต่ำกว่าเกณฑ์ที่ 50% ซึ่ง ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้สินรวมซึ่งไม่รวมหนี้สินจากสัญญาเช่าทางการเงิน อยู่ที่ 4.59 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้สินที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนจำนวน 2.21 หมื่นล้านบาทตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ของทริสเรทติ้ง และทำให้อัตราส่วนหนี้สินที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ 48%
บริษัทจะต้องรักษาอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นให้ไม่เกิน 3 เท่าเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาของหุ้นกู้ โดยอัตราส่วนนี้อยู่ที่ 2.31 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2564 ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ในช่วงที่ประมาณการนี้ไว้ได้
สภาพคล่องที่ค่อนข้างตึงตัว แต่สามารถบริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้ง มองว่า บริษัทมีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่ค่อนข้างตึงตัว ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 3.15 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาแหล่งเงินทุนของบริษัท ซึ่งประกอบด้วยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในแต่ละปี เงินสด และวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้ คาดว่าบริษัทจะต้องต่ออายุเงินกู้ยืมส่วนใหญ่ออกไปเพื่อที่จะรักษาสภาพคล่องเอาไว้และใช้เป็นเงินทุนในโครงการในอนาคตต่อไป
ทริสเรทติ้ง เชื่อว่า บริษัทจะสามารถจัดการต่ออายุเงินกู้ยืมออกไปได้ โดยภาระหนี้ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างซึ่งมีกำหนดชำระคืนตามความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้าง โดยบริษัทมีความสามารถในการทำงานให้สำเร็จลุล่วง และมีความเสี่ยงในการจ่ายค่าก่อสร้างของเจ้าของโครงการเป็นที่ยอมรับได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 ดังนี้
- บริษัทจะได้งานรับเหมาก่อสร้างใหม่มูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
- อัตรากำไรขั้นต้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10%
- อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในช่วง 10%-11%
- ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนสำหรับงานรับเหมาก่อสร้างอยู่ที่ 3.6-4.1 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดและความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ และสามารถประมูลงานใหม่จำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง ความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องจะปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทยังคงรักษาอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทให้อยู่สูงกว่า 10% ได้ และคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มกระแสเงินเพื่อใช้รองรับกับภาระหนี้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
จากสถานะการเงินที่ค่อนข้างอ่อนแอของบริษัททำให้โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้ามีค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ คาดว่าภาระหนี้จะยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตจะปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถลดภาระหนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในขณะที่อันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลง ซึ่งอาจเกิดจากจากการแข่งขันที่รุนแรงในการประมูลงานใหม่ งานก่อสร้างที่ล่าช้า หรือต้นทุนก่อสร้างเกินงบประมาณ โดยอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทลดลงเหลือเพียง 7% หรืออัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินลดลงต่ำกว่า 5% อย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB- |
อันดับเครดิตตราสารหนี้: |
|
ITD226A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 |
BBB- |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
|
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ