- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Saturday, 02 October 2021 20:41
- Hits: 15764
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.น้ำตาลและอ้อยตะวันออก’ ที่ ‘BBB’ และเปลี่ยนแนวโน้ม เป็น 'Stable' จาก ‘Negative’
ทริสเรทติ้งคง อันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” ในขณะเดียวกันยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ จาก ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ ด้วย
การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตในครั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากการผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของบริษัทที่จะลดลงจากผลกระทบของภาวะภัยแล้งที่รุนแรง และยาวนานในประเทศไทยรวมทั้งจากการลดลงของราคาน้ำตาลในตลาดโลก
ในขณะที่อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงผลงานที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย และการมีภาระหนี้ที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทมีขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กและความผันผวนซึ่งเป็นธรรมชาติของสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่นน้ำตาล
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
คาดว่าผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและราคาน้ำตาลที่ลดลงจะฟื้นตัว
ทริสเรทติ้ง คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะดีขึ้นในระหว่างปีประมาณการ โดยปริมาณอ้อยน่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวสำหรับปี 2565-2566 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มากพอสำหรับการเพาะปลูกอ้อย นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในรอบ 10 ปี ณ เดือนเมษายน 2563 และคาดว่าจะสามารถรักษาระดับราคาให้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (14-15 เซนต์ต่อปอนด์) หรือมากกว่าในช่วงปี 2564-2566 ได้
ปริมาณอ้อยรวมทั้งประเทศในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว 2563/2564 อยู่ที่ 67 ล้านตันซึ่งน้อยกว่าปริมาณอ้อยรวมทั้งประเทศที่ 75 ล้านตันในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว 2562/2563 ส่งผลให้รายได้ของบริษัทในปี 2564 คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 6.1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในปี 2564 ของบริษัทน่าจะอยู่ที่ประมาณ 20% เท่าๆ กับในปี 2563
เนื่องจากปริมาณฝนที่ค่อนข้างดีในปี 2564 จึงน่าจะทำให้ปริมาณอ้อยในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว 2564/2565 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 80 ล้านตัน ส่วนราคาน้ำตาลโลกนั้นก็คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 14-16 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2565 และปี 2566 ดังนั้น รายได้ของบริษัทจึงคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 7 พันล้านบาทในปี 2565 และ 7.9 พันล้านบาทในปี 2566 ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.2-1.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566
ข้อมูลจากผู้บริหารของบริษัทระบุว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้อยู่ที่จำนวน 4.2 พันล้านบาทและมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่จำนวน 536 ล้านบาทซึ่งคิดเป็นประมาณ 70% และ 45% ของประมาณการของทริสเรทติ้งสำหรับทั้งปี 2564 ตามลำดับ โดยการคาดการณ์ดังกล่าวได้พิจารณารวมไปถึงผลผลิตอ้อยที่อยู่ในระดับต่ำในฤดูการเก็บเกี่ยว 2563/2564 ด้วย
ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นแม้รายได้ปรับตัวลดลง
บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างมั่นคงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยเนื่องจากบริษัทมีกระแสเงินสดรับที่สม่ำเสมอจากธุรกิจพลังงาน (เอทานอลและไฟฟ้า) ในบางส่วน โดยบริษัทมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 14%-20% ในช่วงระหว่างปี 2558-2563 แม้ว่าในปี 2563 บริษัทจะมีรายได้น้อยกว่าในปี 2562 แต่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทก็สูงกว่าโดยอยู่ที่ระดับ 20% ในขณะที่ในปี 2562 อยู่ที่ระดับ 14%
อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 19%-20% ในช่วงปีประมาณการเนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลจะมีแนวโน้มดีขึ้น
มีประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจน้ำตาล
บริษัทมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ยาวนานต่อเนื่องมากกว่า 60 ปี โดยบริษัทมีสถานะเป็นหนึ่งในโรงงานน้ำตาลเพียง 8 แห่งในประเทศไทยที่ได้ใบรับรองมาตรฐาน ‘Bonsucro’ น้ำตาลดิบเป็นสินค้าหลักของบริษัทซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 52% ของยอดขายน้ำตาลทั้งหมดของบริษัทในปี 2563 และในปีเดียวกันบริษัทมียอดส่งออกน้ำตาลคิดเป็นสัดส่วน 73% ของรายได้รวมจากธุรกิจน้ำตาล โดยลูกค้าส่งออกของบริษัทส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value-added Product) ซึ่งได้แก่ น้ำตาลทรายดิบคุณภาพสูงมาก (Very High Polarization Sugar -- VHP) น้ำตาลทรายขาว (White Sugar) และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (Refined Sugar) บริษัทมีสัดส่วนยอดขายน้ำตาลดิบที่ค่อยๆ ลดลงและสัดส่วนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำตาลในแต่ละชนิดก็เปลี่ยนไปจากเดิมที่มียอดขายน้ำตาลดิบในสัดส่วน 64%
และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มในสัดส่วน 36% ในปี 2559 มาเป็นยอดขายน้ำตาลดิบในสัดส่วน 52% และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มในสัดส่วน 48% ในปี 2563 ทั้งนี้ น้ำตาลที่มีคุณภาพสูงให้ผลกำไรที่สูงกว่ารวมทั้งยังดึงดูดความสนใจให้ลูกค้าหันมาซื้อเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
บริษัทยังให้ความสำคัญกับการจำหน่ายภายในประเทศมากขึ้นอีกด้วย โดยจะเห็นได้ว่าบริษัทมีสัดส่วนยอดขายภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30% ในปี 2563 จาก 10% ของยอดขายน้ำตาลทั้งหมดในปี 2561 ทั้งนี้ ราคาขายภายในประเทศมีอัตราที่สูงกว่าราคาส่งออกและค่าขนส่งภายในประเทศก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีผลกำไรเพิ่มมากขึ้น
มีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย
บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยและผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลด้วยโดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่สำคัญคือธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอล
บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าโดยรวมที่ขนาด 123.6 เมกะวัตต์ โดยบริษัทใช้กากอ้อยที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลและใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพในการผลิตไฟฟ้า บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว
โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้าที่ขนาด 40 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ในขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ( กฟภ.) รับซื้อไฟฟ้าที่ขนาด 11 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP)
บริษัทมีกำลังการผลิตเอทานอลที่ขนาด 150,000 ลิตรต่อวันและมีลูกค้าเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันรายใหญ่ภายในประเทศ
รายได้จากธุรกิจในกลุ่มพลังงานทั้งในส่วนของธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอลนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและ ณ ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นสัดส่วนที่สำคัญของรายได้รวมของบริษัท ทั้งนี้ ในปี 2563 ธุรกิจในกลุ่มพลังงานสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 22% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำตาลคิดเป็นสัดส่วน 70% และรายได้ในส่วนที่เหลือมาจากการจำหน่ายปุ๋ยและการให้บริการต่างๆ แก่ชาวไร่อ้อย
ภาระหนี้และกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อยู่ในระดับยอมรับได้
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะยังคงอยู่ในระดับเดียวกับในปี 2563 ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนหลักๆ ของบริษัทจะใช้ไปในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่น การใช้พลังงานในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ การติดตั้งระบบซอฟแวร์ใหม่ และการซื้อเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวอ้อย
ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทในปี 2564 น่าจะอยู่ที่ระดับ 51% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 5 เท่าในปี 2564 และจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.4 เท่าในปี 2565 และ 4 เท่าในปี 2566
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า สภาพคล่องของบริษัทจะมีเพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า บริษัทน่าจะมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 20% ในปี 2566 จากระดับ 16% ในปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจะอยู่ในช่วง 8-9 เท่าในระหว่างปี 2564-2566 โดยทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะมีเงินสนับสนุนจากทางสถาบันการเงินหลายแห่งและจากกระแสเงินสดภายในที่เพียงพอสำหรับการลงทุนในอนาคต
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 6.1 พันล้านบาทในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้น 15% มาอยู่ที่จำนวน 7 พันล้านบาทในปี 2565 และเพิ่มขึ้นอีก 13% มาอยู่ที่จำนวน 7.9 พันล้านบาทในปี 2566 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอและราคาน้ำตาลที่ฟื้นตัวกลับมา
- อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 20% ในช่วงปี 2564-2566
- งบลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 550-750 ล้านบาทในช่วงปีประมาณการ
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถกลับมามีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในขณะที่ยังคงสามารถรักษาระดับโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในสัดส่วนที่ยอมรับได้หลังจากที่ความกังวลเกี่ยวกับภาวะภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานในประเทศไทยรวมทั้งราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ตกต่ำนั้นได้ผ่อนคลายลง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและยังคงรักษาอัตรากำไรได้อย่างสมดุลโดยไม่ทำให้งบการเงินอ่อนแอลง ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากความสามารถในการทำกำไรและรายได้ของบริษัทลดลงกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนเชิงรุกที่ทำให้เกิดภาระหนี้จำนวนมากจนส่งผลทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงก็อาจเป็นสาเหตุที่อาจทำให้ต้องมีการลดอันดับเครดิตของบริษัทได้เช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) (ESC)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB |
|
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
|
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ