- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Saturday, 02 October 2021 20:20
- Hits: 9775
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง’ ที่ ‘BBB-‘ แนวโน้ม ‘Negative’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘BBB-‘ พร้อมทั้งคงแนวโน้มอันดับเครดิต’Negative’ หรือ ‘ลบ’ เช่นเดิม โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งที่มีต่อคุณภาพสินทรัพย์และผลประกอบการทางการเงินของบริษัทว่ายังคงมีความไม่แน่นอนท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอแม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงการที่บริษัทมีสถานะเงินทุนที่แข็งแรงรวมทั้งมีแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอเช่นเดิม
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
คาดว่าสถานะทางการตลาดจะค่อยๆ ฟื้นตัว
ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะสามารถฟื้นสถานะทางการตลาดกลับมาได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทลดลงเหลือ 5.7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 หรือชะลอตัวลง 19% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่คณะผู้บริหารของบริษัทมีกลยุทธ์ในการขยายสินเชื่อที่ระมัดระวังโดยเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับการติดตามหนี้เพื่อที่จะปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งส่งผลทำให้สินเชื่อคงค้างของบริษัทหดตัวลง ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทลดลงอีก 13% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2563 โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5 พันล้านบาท
ทริสเรทติ้ง คาดว่ายอดสินเชื่อใหม่ของบริษัทในปี 2564 จะหดตัวลง 5% เหลือ 1.4 พันล้านบาทจาก 1.5 พันล้านบาทในปี 2563 ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อใหม่ของบริษัทลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถขยายสินเชื่อได้อีกตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ไปจนถึงปี 2566 โดยทริสเรทติ้งคาดว่ายอดสินเชื่อที่เติบโตขึ้นนั้นจะเกิดจากผลของความพยายามทางการตลาดของบริษัทในการขยายการเติบโตของบริการที่มีอยู่เดิมและการเสนอบริการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (Auto Title Loan) ให้แก่กลุ่มลูกค้าเก่า นอกจากนี้ บริษัทยังมีความร่วมมือกับ บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการด้านสินเชื่อแก่ผู้ที่จะเข้าทำการประมูลรถกับบริษัทสหการประมูลอีกด้วย
โดยรวมแล้วทริสเรทติ้ง ประมาณการว่า ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทจะหดตัวลง 15% ในปี 2564 และจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 3% ต่อปีในช่วงปี 2565-2566 โดยมีสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบค์ (Big Bike) ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยขับเคลื่อน
คุณภาพสินทรัพย์ยังคงเป็นสิ่งที่กังวลถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2564 โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ลูกหนี้ที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต หรือลูกหนี้ชั้นที่ 3) ต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือ 6.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 จาก 8.3% เมื่อปีก่อน ในขณะเดียวกัน สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นใหม่ (NPL Formation) ก็ลดลง -2.6% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากระดับ 3.04% ในปี 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากการติดตามหนี้ที่มีประสิทธิภาพและนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่รัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
ในขณะเดียวกัน ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นเป็น 87% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 จาก 26% ณ สิ้นปี 2562 โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) ซึ่งบังคับให้มีการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของลูกหนี้ให้สูงยิ่งขึ้น
แม้ว่า คุณภาพสินทรัพย์จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่ทริสเรทติ้งเชื่อว่าลูกค้าของบริษัทยังคงมีความอ่อนไหวต่อสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยลงจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) เช่นเดียวกับผู้ให้สินเชื่อรายอื่น อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลางทริสเรทติ้ง คาดว่าเกณฑ์ในการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด ตลอดจนกระบวนการติดตามหนี้ที่ปรับปรุงดีขึ้น และการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพียงพอของบริษัทจะช่วยค้ำจุนสถานะความเสี่ยงของบริษัทที่อยู่ในระดับปานกลางเอาไว้ได้ ในการนี้
ทริสเรทติ้ง ประมาณการว่า สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดใหม่ของบริษัทจะลดลงถึงระดับ 5% ในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้น 1.5% ในระหว่างปี 2565-2566 ส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นน่าจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 0.7%-1.7% ในระหว่างปี 2564-2566 จากประมาณการค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นดังกล่าว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยที่ประมาณ 89% ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า
ความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับปานกลางภายใต้ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความท้าทาย
ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะรักษาความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางต่อไปได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าด้วยวิธีการบริหารจัดการทั้งในส่วนของสำรองหนี้สูญ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ โดยความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยนั้นยังถือว่าอยู่ในระดับปานกลางแต่มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยอยู่ที่ระดับ 4% (ปรับอัตราส่วนเป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากระดับ 1.2% ในปี 2563
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 89 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยสาเหตุหลักมาจากการมีค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่ลดลง
ในการนี้ ทริสเรทติ้งประเมินว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทในช่วงปี 2564-2566 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.6%-3.4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะควบคุมค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้จากนโยบายการขยายสินเชื่อที่ระมัดระวังโดยให้ความสำคัญกับคุณภาพสินทรัพย์และการติดตามหนี้
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้ง คาดว่าค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระหว่างปี 2564-2566 จากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และคุณภาพสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มเสื่อมถอยลงหลังจากมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลงในปี 2564
ในขณะเดียวกัน บริษัทมีอัตราดอกเบี้ยรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 10.2% จากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ซึ่งส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยรับที่ปรับลดลง ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะคงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ที่ระดับประมาณ 6.4% เอาไว้ได้จากการมีต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มลดลง นโยบายของบริษัทในการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น การลดจำนวนพนักงานและการจ้างบริษัทให้บริการติดตามหนี้จากภายนอกน่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลงได้ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้ต่ำกว่าระดับ 50% ของรายได้รวมในช่วงปี 2564-2566 เอาไว้ได้
สถานะเงินทุนยังคงแข็งแรง
ทริสเรทติ้ง ประเมินว่า สถานะเงินทุนของบริษัทนั้นอยู่ในระดับที่แข็งแรงมาก โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 32.8% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 เมื่อเทียบกับระดับ 29.3% ณ สิ้นปี 2563 ทั้งนี้ สถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากสินเชื่อที่หดตัวในปี 2563 จากกลยุทธ์การขยายสินเชื่อที่ระมัดระวัง โดยสถานะเงินทุนของบริษัทนั้นเพียงพอที่จะสนับสนุนแผนการขยายสินเชื่อของบริษัทได้ในระยะปานกลาง
ทริสเรทติ้ง ประมาณการว่า บริษัทจะคงฐานทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้โดยรักษาอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงให้อยู่ที่ระดับประมาณ 36% เอาไว้ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้าโดยอยู่ภายใต้การคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่านโยบายการขยายสินเชื่อและจ่ายเงินปันผลของบริษัทจะอยู่ในระดับปานกลาง บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.1 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 จากระดับ 2.4 เท่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 และยังคงสอดคล้องกับข้อตกลงที่มีกับสถาบันการเงินที่บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 4 เท่า
เงินทุนและสภาพคล่องยังคงอยู่ในระดับเพียงพอ
ทริสเรทติ้ง มองว่า บริษัทน่าจะมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทคาดว่าจะได้รับเงินสดจากการชำระคืนหนี้สินเชื่อของลูกหนี้ในช่วงดังกล่าวที่ประมาณ 3 พันล้านบาทในขณะที่ภาระการชำระคืนหนี้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 1.9 พันล้านบาท
นอกเหนือจากวงเงินสินเชื่อที่มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 8.6 พันล้านบาทที่ได้รับจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งแล้ว บริษัทยังสามารถออกตั๋วแลกเงินเพื่อบริหารสภาพคล่องได้เป็นระยะอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวงเงินกู้ยืมจากธนาคารส่วนใหญ่มีการค้ำประกันโดยการโอนสิทธิลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ บริษัทจึงอาจมีข้อจำกัดในการขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมในอนาคตได้ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีสัดส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้ชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 93%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 มีดังนี้
- การขยายตัวของสินเชื่อใหม่จะชะลอตัวที่ระดับ 5% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจะเติบโตที่ระดับ 20% ต่อปีในระหว่างปี 2565-2566
- ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับประมาณ 6.4%
- ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจะอยู่ที่ระดับ 0.7%-1.7%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ยังคงมีอยู่ต่อไปซึ่งอาจส่งผลต่อการลดงลงของคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอันจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานและสถานะเครดิตของบริษัทในที่สุด
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทถดถอยลงและ/หรือผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเปลี่ยนกลับมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ได้หากคุณภาพสินทรัพย์และผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างมั่นคงในระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563 |
บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (ECL)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB- |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Negative |
|
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ