- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Saturday, 25 September 2021 21:50
- Hits: 17951
ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.ลีซ อิท’ เป็น ‘BB+’ จาก ‘BBB-‘ และเปลี่ยนแนวโน้ม เป็น ‘Stable’ จาก ‘Negative’
ทริสเรทติ้ง ปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ ‘BB+’ จาก ‘BBB-‘ และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ จาก ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ การปรับลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยและความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอลง โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงการที่บริษัทมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง และมีแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่ค่อนข้างเล็ก รวมทั้งความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกหนี้ที่อยู่ในระดับสูง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
คุณภาพสินทรัพย์ยังน่ากังวล
การปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของคุณภาพสินทรัพย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 19.6% จาก 15.3% ณ สิ้นปี 2563 ทริสเรทติ้งเห็นความอ่อนแอต่อเนื่องของคุณภาพสินทรัพย์ในสินเชื่อของบริษัท ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ปี 2562 ผนวกกับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ทำให้เงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างคิดเป็น 56% ของเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด
การพุ่งขึ้นของเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้นเกิดจากการกระจุกตัวของลูกหนี้ในระดับสูงซึ่งยังเป็นข้อกังวลสำคัญและส่งผลกระทบต่อผลประกอบการทางการเงินของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 สัดส่วนสินเชื่อของลูกหนี้รายใหญ่ 20 รายแรกคิดเป็น 56% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นจาก 48% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าการกระจุกตัวของสินเชื่อจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วงระยะเวลาปานกลางจากการที่โดยทั่วไปแล้วจะต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้างของพอร์ตสินเชื่อและจำเป็นต้องมีการเพิ่มจำนวนพนักงานการตลาดและปรับระบบของบริษัท ซึ่งในระหว่างการเปลี่ยนแปลงนี้ บริษัทจะยังคงเผชิญกับการกระจุกตัวของลูกหนี้รายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว การกระจุกตัวของสินเชื่อที่ค่อยๆ ปรับลดลงจะสามารถช่วยลดแรงกดดันต่อสถานะความเสี่ยงของบริษัทลงได้
เพื่อเป็นการบริหารสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ บริษัทได้เพิ่มความรัดกุมในการอนุมัติสินเชื่อใหม่และลดสัดส่วนสินเชื่อในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อใหม่ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมามีคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงรุกขยายธุรกิจในปี 2560-2562 บริษัทได้ตัดหนี้สูญในส่วนของลูกหนี้ที่อยู่ในขั้นตอนทางกฎหมายและใช้ระยะเวลาดำเนินการนานกว่าที่คาดไว้ โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 บริษัทได้ตัดหนี้สูญเป็นจำนวน 112 ล้านบาทหรือคิดเป็น 4.2% ของสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ย เทียบกับการตัดหนี้สูญในอดีตในระดับที่ต่ำกว่า 1%
อย่างไรก็ตาม อัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 8.1% ในช่วงครึ่งแรกของ 2564 จาก 4.2% ในปี 2563 เป็นผลจากการค้างชำระของลูกหนี้รายใหญ่หนึ่งราย ซึ่งหากไม่นับรวมลูกหนี้รายใหญ่ดังกล่าว สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้น
ทริสเรทติ้ง คาดว่า คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หากคุณภาพสินทรัพย์ลดลงและไม่เป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ อันดับเครดิตก็จะยังคงอยู่ภายใต้ภาวะถูกกดดัน
ฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง
ฐานทุนที่แข็งแกร่งยังคงเป็นจุดแข็งสนับสนุนอันดับเครดิตของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งในระยะปานกลางจากการชะลอตัวในการเติบโตของสินเชื่อท่ามกลางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และกลยุทธ์การเติบโตที่มีการคัดเลือกมากขึ้น ฐานทุนของบริษัทได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยพิจารณาจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงซึ่งอยู่ที่ระดับ 28.3% และ 28.4% ณ สิ้นปี 2563 และสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ตามลำดับ
โดยฐานทุนที่แข็งแกร่งจะช่วยรองรับผลกระทบการขาดทุนทางด้านเครดิตที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม หากผลประกอบการทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องและทำให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่า 25% อย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้
สถานะทางตลาดที่ค่อนข้างเล็กและมีการกระจุกตัวของสินเชื่อในระดับสูง
สถานะทางการตลาดของบริษัทเมื่อพิจารณาจากยอดสินเชื่อรวมคงค้างแล้วถือว่ามีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 สินเชื่อคงค้างของบริษัทอยู่ที่ 2.7 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 โดยสินเชื่อของบริษัทนั้นประกอบไปด้วยสินเชื่อรับซื้อหนี้การค้า 39% สินเชื่อจัดหาสินค้า 52%
และส่วนที่เหลือนั้นเป็นสินเชื่อลีสซิ่งและเช่าซื้อ สินเชื่อสนับสนุนเงินทุน และสินเชื่อเติมทุนหมุนเวียนคู่ค้า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 สินเชื่อคงค้างของบริษัทปรับตัวลดลง 1.7% จากสิ้นปี 2563 ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโตอย่างระมัดระวัง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับสินเชื่อคงค้างให้อยู่ในระดับ 2.7 พันล้านบาทสำหรับช่วงระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้าได้
ความสามารถในการทำกำไรอ่อนแอลง
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 โดยบริษัทมีกำไรสุทธิ 3 ล้านบาท ลดลง 92% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ความสามารถในการทำกำไรเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยปรับลดลงเหลือ 0.2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จาก 3.1% และ 3.5% ในปี 2563 และ 2562 ตามลำดับ การลดลงของความสามารถในการทำกำไรเกิดจากการลดลงของคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ลดลงและทำให้ผลขาดทุน
ด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้นปรับเพิ่มสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์นั้นลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนลดลงเหลือ 9.4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จาก 10.1% และ 11.8% ในปี 2563 และ 2562 ตามลำดับ ซึ่งเกิดจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลงจากการปรับเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 69 ล้านบาท สูงกว่าปี 2563 ที่ 66 ล้านบาท โดยในครึ่งแรกของปี 2564 อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยซึ่งปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% จาก 2.5% ในปี 2563 การเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นเกิดจากการปรับเพิ่มขึ้นของลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นให้อยู่ในขั้นที่ 2 และ 3 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นให้อยู่ในขั้นที่ 1 มีสัดส่วนลดลงเหลือ 64.4% จาก 78.1% ณ สิ้นปี 2563
ทริสเรทติ้ง คาดว่า อัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถค่อย ๆ ปรับคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยปรับอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ให้ดีขึ้นและลดผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลง
แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้ง มองว่า บริษัทมีเงินทุนที่เพียงพอในการขยายธุรกิจ บริษัทยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายซึ่งประกอบไปด้วยวงเงินกู้ยืมที่ได้รับจากธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการออกตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ด้วย ในมุมมองของทริสเรทติ้ง การใช้เงินกู้ยืมระยะสั้นของบริษัทช่วยสนับสนุนสถานะสภาพคล่องของบริษัทและสอดคล้องกับอายุสัญญาของสินเชื่อรับซื้อหนี้การค้าซึ่งเป็นสัญญาระยะสั้น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีวงเงินคงเหลือระยะสั้นกับสถาบันการเงินที่ยังสามารถเบิกใช้ได้อยู่ที่ประมาณ 620 ล้านบาท
ในด้านโครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีเงินกู้ระยะสั้นคิดเป็น 29.7% เงินกู้ระยะยาว 30.5% และส่วนของผู้ถือหุ้น 39.8% ของเงินทุนทั้งหมด บริษัทไม่มีประเด็นความไม่สอดคล้องกันในอายุของสินทรัพย์และหนี้สิน โดยอายุเฉลี่ยของสินเชื่ออยู่ระหว่าง 3-6 เดือน ในขณะที่อายุเฉลี่ยของเงินกู้ยืมอยู่ที่ 15-18 เดือน
เงินกู้ยืมที่จะครบกำหนดชำระของบริษัทประกอบไปด้วยหุ้นกู้จำนวน 150 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนพฤศจิกายน 2564 และหุ้นกู้อีกจำนวน 520.6 ล้านบาทในเดือนธันวาคม 2564 โดยบริษัทมีแผนการจ่ายชำระคืนหุ้นกู้จำนวน 150 ล้านบาทด้วยกระแสเงินสดของบริษัท และจ่ายคืนหุ้นกู้ 520.6 ล้านบาทด้วยการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่สำหรับภาระหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระเหล่านี้ได้
อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในวันที่ 19 ธันวาคม 2564 นั้นนับว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก โดยคิดเป็นประมาณ 30.8% ของหนี้สินทั้งหมดของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 ดังนี้
- สินเชื่อใหม่จะหดตัวลงเล็กน้อยในปี 2564 และกลับมาขยายตัวอยู่ในระดับประมาณ 5% ต่อปีหลังจากนั้น
- อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะยังคงอยู่ในระดับประมาณ 28%-29%
- อัตราผลตอบแทนด้านดอกเบี้ยโดยรวมของบริษัทจะคงอยู่ในระดับ 9%-10%
- ต้นทุนทางด้านเครดิตจะรักษาระดับอยู่ที่ 5% ในปี 2564 และประมาณ 3% หลังจากนั้น
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับ 32%-33%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงความคาดหวังที่บริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและฐานทุนที่แข็งแกร่งไว้ได้ ขณะที่ผลประกอบการทางการเงินและคุณภาพสินทรัพย์จะค่อยๆ ปรับดีขึ้นตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มอันดับเครดิต อาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถพัฒนาสถานะทางการตลาดและปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างต่อเนื่องจนทำให้ความสามารถการทำกำไรปรับตัวดีขึ้นขณะที่ยังรักษาฐานทุนที่แข็งแกร่งไว้ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับลดลงได้หากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทมีการลดลงอย่างต่อเนื่องมากไปกว่าที่คาดไว้จนทำให้อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยลดลงต่ำกว่า 1.5% และอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่าระดับ 25% อย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) (LIT)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BB+ |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
|
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ