- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Sunday, 05 September 2021 21:30
- Hits: 19582
ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติมวงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาท ‘บ.ทรู คอร์ปอเรชั่น’ ที่ ‘BBB+’ แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘BBB+’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ ‘A-‘ โดยพิจารณาจากสถานะเครดิตของทั้งบริษัทซึ่งเป็นผู้ออกตราสารและผู้ค้ำประกันคือธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ‘AA+’ และแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ จากทริสเรทติ้ง’ โดยธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ในสัดส่วน 45% ของเงินต้นคงเหลือและดอกเบี้ยค้างชำระของหุ้นกู้มีการค้ำประกัน
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้ง ยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาทและหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ ‘BBB+’ ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวไปใช้ชำระหนี้เงินกู้และ/หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรในประเทศไทย ตลอดจนความแข็งแกร่งทางการแข่งขันของบริษัททั้งในธุรกิจการให้บริการสื่อสารแบบไร้สายและธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้ง ว่า บริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพีและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวยังมีปัจจัยลดทอนจากภาระหนี้จำนวนมากที่บริษัทกู้ยืมเพื่อใช้ลงทุนขยายโครงข่ายและชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ตามกำหนด นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมและผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อีกด้วย
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัททรู คอร์ปอเรชั่นยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบที่ยืดเยื้อจากวิกฤตการณ์โรค โควิด 19 แต่บริษัทก็มีรายได้จากการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่ระดับ 6.92 หมื่นล้านบาทซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 0.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในจำนวนนี้เป็นรายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจำนวน 5.35 หมื่นล้านบาทซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 จำนวนลูกค้าที่เป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบริษัทเติบโตมาอยู่ที่ 4.4 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้น 0.206 ล้านรายจากปี 2563 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ทั้งสิ้นจำนวน 1.45 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบริษัทจะยังคงเติบโตต่อไปตลอดปี 2564
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ ตลอดจนมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดของภาครัฐ และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง ก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทบางส่วน โดยรายได้จากธุรกิจให้บริการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ของบริษัทลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 5.4% มาอยู่ที่ระดับประมาณ 5 พันล้านบาทอันเป็นผลจากการลดลงของกิจกรรมบันเทิงและการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาตลอดจนการลดการใช้จ่ายของลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรม
ณ เดือนมิถุนายน 2564 ธุรกิจให้บริการสื่อสารแบบไร้สายของบริษัทซึ่งดำเนินงานภายใต้แบรนด์ ‘ทรูมูฟ เอช’ มีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 31.7 ล้านราย เพิ่มขึ้นจาก 30.6 ล้านราย ณ ปลายปี 2563 แม้ว่าบริษัทต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง แต่ ทรูมูฟ เอช ยังคงสามารถขยายฐานลูกค้าได้ทั้งในกลุ่มลูกค้าแบบเติมเงินและแบบรายเดือนอีกทั้งยังคงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งโดยเป็นผู้ให้บริการสื่อสารแบบไร้สายขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านของจำนวนลูกค้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 33.7%
ทั้งนี้ ทรูมูฟ เอช สร้างรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่ระดับ 4.01 หมื่นล้านบาทซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่รายได้ต่อเลขหมาย (Average Revenue Per User - ARPU) มีทิศทางที่ลดลงตามสภาวการณ์ของอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าแบบเติมเงิน โดยรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมายสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 209 บาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 จากระดับ 216 บาทในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 3 หมื่นล้านบาทและมีอัตรากำไรอยู่ที่ระดับ 43% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 40% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลจากมาตรการควบคุมต้นทุนของบริษัท ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่ายที่ลดลง และประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับ 2.04 หมื่นล้านบาท
อันดับเครดิตมีข้อจำกัด จากการที่สถานะความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับสูง กล่าวคือ ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับประมาณ 2.53 แสนล้านบาทและมีหนี้สินปรับปรุงสุทธิอยู่ที่ประมาณ 4.16 แสนล้านบาท บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อโครงสร้างเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 82% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 7 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 9.6%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากงบประมาณใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับการลงทุนโครงข่ายสื่อสารและการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ตามกำหนดแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีภาระหนี้สินอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกในระยะ 3 ปี ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ดังกล่าวซึ่งมีภาระการจ่ายชำระสูงสุดในปีที่แล้วกำลังค่อย ๆ ลดลง นอกจากนี้ บริษัทยังมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมส่วนใหญ่ที่จะครบกำหนดในช่วงเวลา 12-18 เดือนข้างหน้าอีกด้วย
ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินของบริษัทย่อยในสัดส่วน 48% ของหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทและหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งระดับหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนนั้นต่ำกว่าระดับ 50% ที่กำหนดไว้ใน ‘เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้’ ของทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจึงพิจารณาว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทไม่มีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าหนี้ในลำดับชั้นที่อยู่สูงกว่า ซึ่งส่งผลให้ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทให้อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดและมีผลการดำเนินงานในกลุ่มธุรกิจหลักที่น่าพอใจต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังได้รับการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์และ China Mobile อย่างต่อเนื่องต่อไปอีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทต่ำกว่าระดับ 5% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ในขณะที่โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตนั้นมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากฐานะการเงินของบริษัทในปัจจุบันซึ่งมีภาระหนี้สูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรและมีโครงสร้างเงินทุนที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทยังมีคดีความอีกบางส่วนที่อาจจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาตัดสิน ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากผลสรุปของคดีความเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบในทางลบอย่างมีสาระสำคัญต่อสถานะทางการเงินของบริษัท
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้, 15 มิถุนายน 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
* ในการพิจารณาอับดับเครดิตของธนาคารกสิกรไทยนั้น ทริสเรทติ้งใช้ข้อมูลสาธารณะซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าเป็นข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการประเมินสถานะเครดิตของธนาคาร ในการนี้ ธนาคารกสิกรไทยไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดอันดับเครดิตดังกล่าวแต่อย่างใด อันดับเครดิตองค์กรของธนาคารกสิกรไทยอยู่ที่ระดับ ‘AA+’ ด้วยแนวโน้ม ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ ซึ่งสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของธนาคารจากการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศเมื่อพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ ตลอดจนพอร์ตเงินให้กู้ยืมที่มีความหลากหลาย สถานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง และความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย
นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของธนาคารทั้งในด้านแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงจากการที่ธนาคารมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจากการมีลูกค้าอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับลูกค้าเงินกู้ในกลุ่มอื่นๆ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB+ |
อันดับเครดิตตราสารหนี้: |
|
TRUE21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,360 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 |
BBB+ |
TRUE221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 12,246 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 |
BBB+ |
TRUE221B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 |
BBB+ |
TRUE224A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,922 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 |
BBB+ |
TRUE225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 |
BBB+ |
TRUE227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 945 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 |
BBB+ |
TRUE228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,799.10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 |
BBB+ |
TRUE228B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 830 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 |
BBB+ |
TRUE232A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,330 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
BBB+ |
TRUE232B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,875 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
BBB+ |
TRUE237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,394.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
BBB+ |
TRUE239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
BBB+ |
TRUE23NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,438.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 |
BBB+ |
TRUE245A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,415.50 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
BBB+ |
TRUE248A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,841.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
BBB+ |
TRUE24OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,325 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
BBB+ |
TRUE24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,268.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 |
BBB+ |
TRUE251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,994.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB+ |
TRUE252A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,207.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB+ |
TRUE258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB+ |
TRUE25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,486.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 |
BBB+ |
TRUE261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,130.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB+ |
TRUE262A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,865.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB+ |
TRUE26NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,805.80 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 |
BBB+ |
TRUE272A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,636.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 |
BBB+ |
TRUE22NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วน 8,330 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 |
A- |
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาทและหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 7ปี |
BBB+ |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
|
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ