- Details
- Category: บริษัทจดทะเบียน
- Published: Saturday, 03 July 2021 22:19
- Hits: 22261
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร ‘บ.ซิงเกอร์ประเทศไทย’ ที่’BBB-‘ แนวโน้ม ‘Stable’
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘BBB-‘ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดและคุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคของบริษัทที่เข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการขยายสินเชื่อผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอและฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากธุรกิจที่ความเสี่ยงค่อนข้างสูงคือธุรกิจสินเชื่อเพื่อการบริโภคและอุปโภครายย่อยและสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งนี้ ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแออันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ยังเป็นความท้าทายของบริษัทในการรักษาผลการดำเนินงานและคงคุณภาพสินทรัพย์เอาไว้ให้ได้
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางแต่ปรับตัวดีขึ้น
สถานะทางการตลาดในระดับปานกลางของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อซึ่งดำเนินการผ่านบริษัทลูกคือ บริษัท เอสจี แคปปิตอล นั้นยังเป็นข้อจำกัดของอันดับเครดิต อย่างไรก็ตามบริษัทมีการขยายสินเชื่ออย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 สินเชื่อคงค้างของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างมากจนถึงระดับ 6.6 พันล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 83% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามในการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องและกลยุทธ์ในการเปลี่ยนมารุกเข้าสู่ตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (Auto Title Loan) ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
ในไตรมาสแรกของปี 2564 สินเชื่อรวมของบริษัทยังคงเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเพิ่มขึ้นถึง 14% มาอยู่ที่ระดับ 7.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจยังคงอ่อนแออยู่ก็ตาม โดยการขยายตัวของสินเชื่อดังกล่าวนั้นเกิดจากการขยายตัวของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เป็นหลัก ทริสเรทติ้งคาดว่าสินเชื่อของบริษัทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ระดับ 27% ในปี 2564 และ 18% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2565-2566 ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการที่บริษัทเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและการเกษตรซึ่งมีความอ่อนไหวค่อนข้างน้อยต่อสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นั้นน่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนอุปสงค์ของสินเชื่อให้ยังคงแข็งแกร่งต่อไป
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 สัดส่วนสินเชื่อของบริษัทประกอบไปด้วยสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 54% สินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ 39% และสินเชื่ออื่นๆ อีก 7% ทริสเรทติ้งคาดว่าสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันจะยังคงเป็นส่วนที่สนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อรวมต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มรถบรรทุกในภาคการขนส่งซึ่งยังคงมีอุปสงค์ที่ค่อนข้างมากแม้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
โดยทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันจะเติบโตถึง 60% ของยอดสินเชื่อรวมของบริษัทในปี 2566 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าสินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์จะยังคงมีการเติบโตในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าด้วยเช่นกันจากการขยายเครือข่ายสาขาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่บริการ โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อในกลุ่มดังกล่าวให้ได้ถึงระดับ 4 พันล้านบาทภายในปลายปี 2564 จากระดับ 3.5 พันล้านบาทในปัจจุบัน
การทำกำไรจะยังคงแข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิเติบโตที่ระดับ 267% มาอยู่ที่ระดับ 443 ล้านบาทจาก 166 ล้านบาทในปี 2562 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากยอดสินเชื่อที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนกำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น การลดลงของค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
โดยความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยนั้นถือว่าอยู่ในระดับปานกลางแต่มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยอยู่ที่ระดับ 5.4% ในปี 2563 จาก 3.2% ในปี 2562 ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยเมื่อปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีของบริษัทยังคงอยู่ที่ระดับ 6.5% โดยบริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 140 ล้านบาท
ทริสเรทติ้ง ประมาณการว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 5%-7% ในระหว่างปี 2564-2566 ซึ่งประมาณการดังกล่าวอยู่ภายใต้พื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ประมาณ 46% ในขณะที่ยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเติบโตที่ระดับ 5%-8% และสินเชื่อจะเติบโตที่ระดับ 18%-27% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2566 นโยบายในการรักษาอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงนั้นจะช่วยสนับสนุนการเติบโตที่แข็งแรงของผลการดำเนินงานของบริษัท
ทริสเรทติ้ง ยังคาดด้วยว่าการขยายเครือข่ายผ่านตัวแทนจะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40% ของรายได้รวมได้ถึงแม้ว่าการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยและการแข่งขันที่รุนแรงของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันจะทำให้อัตราดอกเบี้ยรับลดลงก็ตาม ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราดอกเบี้ยรับโดยรวมในพอร์ตสินเชื่อของบริษัทจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 17.5%-18.0% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจากระดับ 18.2% ในไตรมาสแรกของปี 2564 แต่ก็เชื่อว่าการขยายตัวของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันจะช่วยพยุงผลกำไรของบริษัทให้มีเสถียรภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้ง คาดว่าค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทในระหว่างปี 2564–2566 อาจจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าในช่วงที่ผ่านมาเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการระบาดของโรคโควิด 19 และแนวโน้มที่สินทรัพย์จะเสื่อมถอยลงภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลงในปี 2564
คุณภาพสินทรัพย์ยังอยู่ภายใต้การควบคุม
สถานะความเสี่ยงของบริษัทดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากในอดีต คุณภาพสินทรัพย์และค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการรุกเข้าสู่ตลาดสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันที่มีอัตราการค้างชำระหนี้ต่ำกว่าซึ่งช่วยทำให้คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมแข็งแกร่งขึ้น ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าคุณภาพสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันของบริษัทยังอยู่ในระดับค่อนข้างมีเสถียรภาพในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
โดยมีสัดส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยรวมลดลงสู่ระดับ 4.4% ณ สิ้นปี 2563 จากระดับ 9.3% ณ สิ้นปี 2562 และอัตราส่วนดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.2% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ในขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดขึ้นใหม่ (NPL Formation) ก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.6% ในปี 2563 จากระดับ 13.3% ในปี 2562 ค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทก็ลดลงเช่นกัน โดยมาอยู่ที่ระดับ 2.8% ในปี 2563 จากระดับ 17.6% ในปี 2562
แม้ว่าคุณภาพสินทรัพย์จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงได้รับผลกระทบด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลงจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 1.6%-2.4% ของสินเชื่อถัวเฉลี่ย และอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะอยู่ในช่วง 3.7%-3.9% ในระหว่างปี 2564-2566 ทั้งนี้ การอนุมัติสินเชื่อที่มีความระมัดระวัง ตลอดจนกระบวนการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการตั้งสำรองสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพียงพอนั้นทำให้ทริสเรทติ้งเชื่อว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทน่าจะยังคงจัดการได้ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนสำรองสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 86% ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า
ฐานทุนที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้ง คาดว่าระดับฐานทุนของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าโดยประมาณการว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในช่วง 24%-27% ในระหว่างปี 2564-2566 แม้ประมาณการของทริสเรทติ้งมองว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อของบริษัทจะอยู่ในระดับสูงและอัตราการจ่ายเงินปันผลตามนโยบายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 60% แต่ทริสเรทติ้ง ก็ยังเชื่อว่าฐานทุนของบริษัทที่เกิดจากการสะสมผลกำไรอย่างต่อเนื่องน่าจะช่วยสนับสนุนสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทได้ การที่บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงที่ระดับ 28.9% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 นั้นทำให้บริษัทมีฐานทุนที่เพียงพอในการสนับสนุนแผนการขยายสินเชื่อของบริษัทในระยะปานกลางได้
ในเวลาเดียวกัน อัตราการก่อหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับปานกลาง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ระดับ 2.2 เท่า ในขณะที่เงื่อนไขสำคัญทางการเงินกำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไว้ที่ระดับ 3 เท่า
สถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องมีเพียงพอ
ทริสเรทติ้ง เชื่อว่า บริษัทน่าจะมีสถานะของแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทประมาณการณ์ว่าจะได้รับเงินจากการชำระคืนสินเชื่อของลูกหนี้ในช่วงดังกล่าวที่ประมาณ 4.2 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทไม่มีภาระการชำระคืนหุ้นกู้ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีตราสารหนี้คงค้างมูลค่า 6.3 พันล้านบาทซึ่งมีวันครบกำหนดชำระเกิน 1 ปี
นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่คิดเป็นมูลค่า 596 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งเงินกู้ยืมทั้งหมดเป็นวงเงินกู้ระยะสั้น ถึงแม้ว่าสถานะสภาพคล่องในระยะปานกลางของบริษัทยังไม่เป็นที่น่ากังวล แต่การมีวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินเพื่อรองรับการจัดหาเงินทุนและบริหารสภาพคล่องในอนาคตจะช่วยสนับสนุนสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทให้อยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอได้
สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยังคงเติบโตต่อไปแม้จะมีแรงกดดันด้านดอกเบี้ยรับ
ถึงแม้ว่าผู้ให้บริการรายใหญ่ 3 อันดับแรกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของสินเชื่อลดลงมาอยู่ที่ระดับ 13% ในปี 2563 จากระดับ 30%-40% ในปีก่อนจากผลของมาตรการปิดเมือง (City Lockdown) ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกแรก แต่สภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากการแพร่ระบาดที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดอุปสงค์ในการกู้ยืมเพื่อนำกระแสเงินสดมาช่วยพยุงธุรกิจและใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชนในกลุ่มเปราะบางด้วยเช่นกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวน่าจะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ยังคงเติบโตต่อไปในระยะที่ยาวนานขึ้น
ถึงแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ให้เหลือ 24% ต่อปีแล้วก็ตาม แต่อัตราผลตอบแทนของสินเชื่อก็ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น อีกทั้งคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมในระบบก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุม ส่งผลให้มีผู้ประกอบการรายใหม่สนใจเข้าสู่ตลาดดังกล่าวมากยิ่งขึ้น การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยรับของผู้ประกอบการโดยเฉลี่ยปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 20% ในปี 2563
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่หรือธุรกิจที่สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียม เช่น ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตที่บรรดาผู้ประกอบการพัฒนาออกมานำเสนอนั้นก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยชดเชยรายได้ดอกเบี้ยรับที่ปรับลดลง ซึ่งสิ่งดังกล่าวน่าจะช่วยพยุงผลการดำเนินงานทางการเงินของผู้ประกอบการให้ยังคงแข็งแกร่งต่อไปได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 มีดังนี้
- สินเชื่อคงค้างรวมเติบโตที่ระดับ 27% ในปี 2564 และที่ระดับ 18% ต่อปีในช่วงปี 2565-2566
- อัตราดอกเบี้ยรับอยู่ที่ระดับประมาณ 17.5%-18.0%
- ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอยู่ในช่วง 1.6%-2.4% ต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถพัฒนาสถานะทางการตลาดของบริษัท ตลอดจนมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่น่าพึงพอใจ รวมทั้งคงคุณภาพสินทรัพย์และสถานะเงินทุนเอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ทริสเรทติ้ง อาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตในกรณีที่บริษัทสามารถพัฒนาสถานะทางการตลาดให้ดีขึ้นอย่างมีเสถียรภาพในขณะที่ยังคงสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และรักษาผลการดำเนินงานพร้อมทั้งฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลง และค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับที่ทำให้อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทจะลดต่ำกว่าระดับ 2.5% ซึ่งเป็นปัจจัยที่บ่งบอกถึงฐานทุนที่เสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564 |
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563 |
บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER)
อันดับเครดิตองค์กร: |
BBB- |
แนวโน้มอันดับเครดิต: |
Stable |
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
© บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง
ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ