- Details
- Category: บล.
- Published: Monday, 04 December 2017 09:04
- Hits: 6473
เจาะลึกการลงทุนเศรษฐกิจในยุค Thailand 4.0
กสิกรไทย จัดงานสัมมนา THE WISDOM Wealth Avenue เจาะลึกอนาคตประเทศไทย สู่โอกาสการลงทุนอย่างผู้นำ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการค้า การลงทุน รวมถึงศึกษาโอกาสและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องจับตามองในอนาคต โดยได้รับเกียรติบรรยายพิเศษจาก ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในหัวข้อ “เจาะลึกไทยแลนด์ 4.0 อนาคตประเทศไทย” ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต และผลักดันประเทศให้ก้าวไปสู่ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ได้อย่างแท้จริง
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2560 โดยเฉพาะการส่งออก ทำได้ดีกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะมีสัญญาณการเติบโตต่อเนื่อง ด้วยตัวเลขประมาณการจีดีพีที่ 3.7% เท่ากับปีนี้ มีการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนที่มีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนที่ทยอยฟื้นตัว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากนโยบายภาครัฐ และในอีกส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปลายปีหน้า แต่หากพิจารณาเบื้องลึกแล้ว ยังต้องมีการพัฒนาและปรับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากแรงดึงเศรษฐกิจจากฝั่งการค้าและการลงทุนเต็มที่เหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น เพื่อให้สามารถก้าวข้ามจุดเปลี่ยนนี้ไปได้ ควรเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และหาโอกาสในการสร้างประโยชน์ ในการลงทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทนตามที่คาดไว้
ในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ 'คว้าโอกาสการลงทุนอย่างผู้นำปี 2018'จากผู้เชี่ยวชาญด้านกองทุน และหุ้น เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และวิเคราะห์สถานการณ์สำคัญของเศรษฐกิจทั่วโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการลงทุน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้าน SMEs ที่มาให้ความรู้ในการปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดในยุคไทยแลนด์ 4.0 เนื่องจากธุรกิจ SMEs ที่มีอยู่กว่า 3 ล้านราย เป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการขับเคลื่อน จีดีพีให้กับประเทศสูงถึง 42-43% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีนี้ถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีตัวเลขการเติบโต จากปกติที่เป็นศูนย์หรือติดลบ จุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างคือเป็นปีแรกที่การส่งออกจากทั่วโลกเติบโตได้ดี เห็นได้จากปริมาณการส่งออกวัสดุกลุ่มทุนที่มากขึ้น การเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจโลกได้อย่างยั่งยืน สำหรับการลงทุนในปีหน้า ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) อย่าง เอเชีย ทั้งจีนและอินเดีย รวมถึงอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมถึงไทย ยังมีความน่าสนใจต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศเหล่านี้ มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ นโยบายรัฐบาล ก่อให้เกิดการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้น่าจะสามารถฟื้นตัวได้ดี
นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) พูดถึงตลาดหุ้นไทยในปีนี้ และสถานการณ์ที่น่าสนใจในปีหน้าไว้ว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย สามารถทำกำไรได้ดี ด้วยผลพวงจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ซึ่งสนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยโดยรวมปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดหุ้นก็มีวัฏจักรเช่นเดียวกับทุกสิ่งบนโลก ไม่มีขึ้นหรือลงอย่างเดียว นักลงทุนไทยจึงยังไม่ควรวางใจกับสถานการณ์ในตลาดหุ้นที่เป็นบวกในขณะนี้ เพราะความเสี่ยงของ New High จะมาพร้อมกับคำว่า New Crisis เสมอ แต่คงไม่มีวิกฤตการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นประเทศไทยแน่นอน สำหรับหุ้นที่แนะนำที่ให้ลงทุนเอาไว้ จะเป็นหุ้นที่เกาะกระแสการฟื้นตัวของการลงทุนและการบริโภคในประเทศ รวมถึงได้ประโยชน์จาก โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และ หุ้นขนาดใหญ่
นายพิภวัตว์ ภัทรนาวิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ยังมองเห็นสัญญาณการเติบโตของธุรกิจ SMEs ในหลายๆ กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวที่ปัจจุบันมีการกระจายตัวไปทั่วประเทศ ไม่กระจุกแค่ในจังหวัดใหญ่ การค้าปลีก ค้าส่ง มีกำลังซื้อมากขึ้น จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ต่างจังหวัด เป็นต้น ซึ่งในปีนี้ ธุรกิจ SMEs เติบโตอยู่ที่ 6% เป็นสองเท่าของตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งมองว่ายังสามารถเติบโตได้อีกมากในฐานะผู้ส่งออกและ Value Chain ของบริษัทที่ส่งออก โดยธุรกิจที่จะอยู่รอดในยุค 4.0 นั้น จะต้องรู้จักวางแผนธุรกิจล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น เช่น การใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ยกระดับสินค้าและบริการ ใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานเพื่อช่วยลดต้นทุน และต้องรู้จักบริหารความเสี่ยงควบคู่ไปพร้อมกัน