- Details
- Category: บล.
- Published: Thursday, 01 July 2021 17:17
- Hits: 12643
เอเซีย พลัส ประเมินตลาดหุ้นไทย 2Q64 ‘เราจะฝ่า 1,600 ไปด้วยกัน’
แนะลงทุนหุ้นสวยภายใน และภายนอก
เสริมความแข็งแกร่งธีมรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ในกลุ่มบริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP ประเมินภาพรวมการลงทุนในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 ยังมีปัจจัยบวก ทั้งสภาพคล่องส่วนเกินที่อยู่ในระดับสูง หนุนให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาส Outperform ได้ ส่วนผลกระทบจาก COVID-19 รอบ 3 ประเมินกระทบต่อคาดการณ์เศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2564 ในวงจำกัด โดย ASPS คงเป้าหมายดัชนีปี 2564 ที่ 1,670 จุด พร้อมแนะเสริมน้ำหนักลงทุนต่างประเทศในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด สอดรับปัจจัยเชิงบวก
คุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังมีมุมมองเชิงบวก ถึงแม้ช่วงสั้นตลาดหุ้นไทยจะเผชิญการระบาดโควิด-19 รอบที่ 3 โดยประเมินผลกระทบต่อคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 ซึ่งสายงานวิจัยประเมินไว้ที่ 2.6% จำกัด เนื่องจากตัวเลขประมาณการอยู่ในกรอบที่ต่ำเมื่อเทียบกับมุมมองส่วนใหญ่ที่คาดการณ์ในช่วง 2.5-3% ส่วนมาตรการที่รัฐออกควบคุมการระบาดในรอบนี้ ถือว่ามีผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจน้อยกว่าช่วง 2Q63 เนื่องจากไม่มีการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว นอกจากนี้ ยังน่าจะเห็นมาตรการที่รัฐบาลอัดฉีดเงินออกมาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อเนี่อง รวมทั้งการเร่งทยอยฉีดวัคซีนในไทย เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดในแต่ละเดือน
ในส่วนของคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2564 สายงานวิจัยประเมิน EPS ไว้ที่ 70.2 บาท/หุ้น ต่ำกว่า Consensus ที่รวบรวมโดยบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ซึ่งอยู่ที่ 79.6 บาท/หุ้น หากดูโครงสร้างกำไรหลักของตลาดหุ้นบ้านเราที่กว่าหนึ่งในสาม มาจาก Commodity และอีกราว 20% มาจากกลุ่มธนาคาร เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รอบนี้อย่างจำกัดเช่นกัน
คุณเทิดศักดิ์ กล่าวว่า “ทางด้านสภาพคล่องส่วนเกินยังมีอยู่สูง สะท้อนจากเงินฝากในระบบ ที่ปัจจุบันมีกว่า 15.72 ล้านล้านบาท และเริ่มเห็นการเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเดือน ก.พ.64 มียอดการเปิดบัญชีใหม่ถึง 2.7 แสนบัญชี ซึ่งสูงกว่า 8 เท่าของการเปิดบัญชีใหม่ต่อเดือนในอดีต ขณะที่การลงทุนผ่านกองทุนรวม มีการให้น้ำหนักลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน”
“ปัจจุบันยังเห็น Momentum การย้ายเม็ดเงินจากสินทรัพย์ปลอดภัย มาสู่สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอยู่ เพราะว่า Bond Yield ระยะยาวปรับตัวขึ้นเร็ว แต่ Bond Yield ระยะสั้นยังอยู่ในระดับต่ำ ใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายมานานกว่า 8 เดือน ทำให้นักลงทุนเริ่มค้นหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจกว่า อย่างเช่นตลาดหุ้น และยังสอดคล้องกับสถิติในอดีต ช่วงหลังปี 2552 ที่เมื่อ Bond Yield ระยะยาวขยับขึ้น และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นยังอยู่ในระดับต่ำ มักจะตามมาด้วยตลาดหุ้นที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น” คุณเทิดศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งสภาพคล่องส่วนเกิน บวกกับปัจจัยหนุนที่หลากหลายเกือบทุกด้าน พร้อมแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2564 คาดฟื้นตัวเด่นกว่า 32% อีกทั้งปลายเดือน เม.ย.64 มักจะมีแรงเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นปันผลเสมอ ทาง บล.เอเซีย พลัส มีมุมมองตลาดหุ้นไทยเดือน เม.ย.64 มีโอกาส Outperform ได้ตามสถิติในอดีต ย้อนหลัง 10 ปี ที่ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยสูงสุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ ที่ 3.1% โดย ASPS วางเป้าหมายดัชนีปีนี้ที่ 1,670 จุด
รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย มองกลยุทธ์การลงทุนในช่วง 2Q64 แนะนำลงทุนในหุ้นสวยทั้งภายใน (Valuation ดี) และภายนอก (มีปัจจัยสนับสนุน) พร้อมกับได้ประโยชน์ หากตลาดหลักทรัพย์ฯ เปลี่ยนวีธีการคำนวณดัชนีเป็นแบบ Free Float Adjusted Market Cap อย่าง BBL, BDMS, STEC, SCC, SPALI และ BLA สำหรับหุ้นที่มี Market Cap ไม่ใหญ่ แต่มีการเติบโตของกำไรสูง ที่น่าสนใจได้แก่ AS
คุณภาดร สุขสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า น้ำหนักการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ ยังคงให้น้ำหนักส่วนใหญ่ในหุ้นไทย และหุ้นต่างประเทศ โดยสัดส่วนหุ้นไทย 35% และหุ้นต่างประเทศ 35% เนื่องจากในไตรมาส 2 ปี 64 IMF มีการปรับการคาดการณ์ GDP โลกจะขยายตัวถึง 6% ประกอบกับการกระจายวัคซีนในต่างประเทศเป็นไปด้วยดี ส่งผลเชิงบวกกับตลาดลงทุนในต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสที่จะกระจายการลงทุนเพื่อสร้างทางเลือก
“งบดุลของธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยหนุนสภาพคล่องของสินทรัพย์เสี่ยงในกลุ่มทั่วโลก ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนในต่างประเทศ นอกจากหุ้นไทย เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนระยะยาว” คุณภาดร กล่าว
ขณะที่ฝ่ายลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ ASPS ให้มุมมองเพิ่มเติม การลงทุนต่างประเทศในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตดีในระยะยาว จากอานิสงส์แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และช่วยพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้กับบริษัทยานยนต์ รวมถึงให้เงินลดหย่อนภาษีสำหรับคนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ผนวกกับราคารถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ตัวรถและแบตเตอรี่ ก็ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
คุณกฤตยภรณ์ ธาดาสีห์ หัวหน้าฝ่ายลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ กล่าวเสริม “ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ ที่ออกนโยบายส่งเสริมการลดคาร์บอน ประเทศจีนก็ตั้งเป้าลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2060 เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีน มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา แม้ตัวเลขการส่งมอบรถอาจยังไม่สูงมาก และบริษัทส่วนใหญ่ยังขาดทุน แต่ถ้าบริษัทเหล่านี้ผลิตได้มากขึ้น ต้นทุนในการผลิตก็จะยิ่งลดลง ก็จะเริ่มทำกำไรได้เร็วขึ้นเช่นกัน แต่แน่นอนว่า Tesla ฝั่งสหรัฐฯ ยังเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ที่ทำกำไรติดต่อกันหลายไตรมาส แม้ตัวเลขส่งมอบรถปี 63 อยู่ที่ประมาณ 5 แสนคันเท่านั้น แต่มีมูลค่าตลาดสูงกว่าบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่หลายเจ้ารวมกัน”
สัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปัจจุบัน คิดเป็น 4-5% ของยานยนต์ทั่วไป ขณะที่รายงานของ Bloomberg คาดสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 10% ภายในปี 2025 และเป็น 28% ภายในปี 2030 ประกอบกับแนวโน้มต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ต่ำลง ส่งผลให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าก็จะถูกลง จึงมองว่าอุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคต
“อีกหนึ่งธีมการลงทุนที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี สอดคล้องไปกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ก็คือพลังงานสะอาด อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศให้การสนับสนุนการผลิตและใช้งานพลังงานทดแทนนี้ภายในประเทศ ทำให้ต้นทุนการปรับใช้พลังงานสะอาดมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ซึ่งจะสะท้อนมายังการใช้งานทั้งในภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นในอนาคต” คุณกฤตยภรณ์ กล่าวปิดท้าย
A7025
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ