- Details
- Category: บล.
- Published: Sunday, 26 January 2020 10:50
- Hits: 2802
ทริสเรทติ้ง เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร 'บล.เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์'เป็น 'BBB' จาก 'BBB-'แนวโน้ม 'Stable'
ทริสเรทติ้ง ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) เป็น “BBB” จาก ‘BBB-‘ ด้วยแนวโน้ม ‘Stable’ หรือ “คงที่” การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้น รวมไปถึงสินเชื่อที่ขยายตัวและโครงสร้างสินเชื่อและรายได้ที่กระจายตัวมากขึ้น อีกทั้งบริษัทยังรักษาความสามารถในการทำกำไร มีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี มีภาระหนี้ และบริหารจัดการความไม่สอดคล้องกันในโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินได้
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น
สินเชื่อแก่นักลงทุนเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทมีการพัฒนาระบบปฏิบัติงานและแผนการตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการปรับโครงสร้างราคาด้วย ในปี 2561 บริษัทเสนอขายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เช่น สินเชื่อแก่บริษัทหลักทรัพย์เพื่อการทำธุรกรรมเครดิตบาลานซ์กับลูกค้า (LBMT) โดยสินเชื่อรวมของบริษัท ซึ่งรวมทั้งสินเชื่อแก่นักลงทุนเพื่อซื้อหลักทรัพย์และสินเชื่อชนิดอื่น ๆ อยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนเดือนกันยายน 2562 จาก 3.3 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 ซึ่งการเติบโตดังกล่าวมาจากสินเชื่อแก่นักลงทุนเพื่อซื้อหลักทรัพย์เป็นหลัก สินเชื่อแก่นักลงทุนเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3.7 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 จาก 2.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2559
ในขณะเดียวกัน สินเชื่อแก่บริษัทหลักทรัพย์ขยายตัวไปอยู่ที่ 1.0 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 จาก 462 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 จากความต้องการสินเชื่อจากบริษัทหลักทรัพย์ขนาดกลางถึงเล็กที่เพิ่มมากขึ้น ทริสเรทติ้งมองว่าการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อของบริษัท โดยเฉพาะสินเชื่อแก่บริษัทหลักทรัพย์ช่วยเน้นย้ำหน้าที่ของบริษัทในฐานะบริษัทที่ให้สินเชื่อแก่บริษัทหลักทรัพย์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบริษัทหลักทรัพย์ในอุตสาหกรรม
บริษัทยังสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อแก่นักลงทุนเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทไว้ได้ โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 5.3% (อันดับ 6) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 เมื่อเทียบกับบริษัทหลักทรัพย์ในอุตสาหกรรม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะทางการตลาดไว้ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าแม้ว่ายอดสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ในอุตสาหกรรมจะเติบโตช้าลง เนื่องจากบริษัทยังคงมีการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องและขยายสู่ตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่เจ้าของธุรกิจ อีกทั้งทริสเรทติ้งคาดว่าสินเชื่อแก่บริษัทหลักทรัพย์ของบริษัทจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทกำลังหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในส่วนที่นอกเหนือจากบริการจากสถาบันการเงินอื่นๆ
โครงสร้างสินเชื่อและรายได้ที่กระจายตัวมากขึ้น
อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่สนับสนุนสถานะทางธุรกิจของบริษัทคือการกระจายตัวของสินเชื่อและรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น โดย
ทริสเรทติ้ง คาดว่าทิศทางการกระจายตัวดังกล่าวมีแนวโน้มที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทได้ขยายขอบเขตของผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายและเน้นการขยายธุรกิจไปยังลูกค้าสถาบันมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีการกระจายตัวของโครงสร้างสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากการเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายซึ่งช่วยผลักดันความสามารถในการปฏิบัติตามพันธกิจของบริษัทในการช่วยส่งเสริมบริษัทหลักทรัพย์ในอุตสาหกรรม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 สินเชื่อแก่บริษัทหลักทรัพย์ของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 20.1% ของสินเชื่อรวม เทียบกับ 11.7% ณ สิ้นปี 2559 ในขณะที่สินเชื่อแก่นักลงทุนเพื่อซื้อหลักทรัพย์คิดเป็น 79.9% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 เทียบกับ 88.3% ณ สิ้นปี 2559
โครงสร้างรายได้ของบริษัทก็มีการกระจายตัวที่เป็นไปในทางที่ดีขึ้นโดยกระจายไปสู่รายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อแก่บริษัทหลักทรัพย์มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามการกระจายตัวของสินเชื่อ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 รายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อแก่บริษัทหลักทรัพย์คิดเป็น 10.2% ของรายได้รวม เทียบกับประมาณ 5% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อแก่นักลงทุนเพื่อซื้อหลักทรัพย์ยังคงเป็นสัดส่วนหลักที่ 87.4% ของรายได้รวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562
ความสามารถในการทำกำไรในระดับที่ยอมรับได้
ในฐานะบริษัทผู้ให้สินเชื่อแก่บริษัทหลักทรัพย์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย บริษัทมีพันธกิจเพื่อสนับสนุนบริษัทหลักทรัพย์ในอุตสาหกรรมพร้อมกับสร้างผลกำไรในระดับที่สมเหตุสมผลมากกว่าการสร้างผลกำไรสูงสุด ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงมองว่าความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางของบริษัทนั้นอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับบริษัทที่ให้สินเชื่อแก่บริษัทหลักทรัพย์อื่น ๆ ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี บริษัทยังคงมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยในระดับที่สูงกว่าบริษัทดังกล่าว โดยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่ 1.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับในช่วงปี 2560-2561 ที่ประมาณ 2% เทียบกับอัตราส่วนที่ต่ำกว่า 1% ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจเดียวกัน
ทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจากการขยายสินเชื่อและการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ กำไรสุทธิของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 93 ล้านบาทในปี 2561 จาก 46 ล้านบาทในปี 2559 โดยบริษัทสามารถรักษาต้นทุนทางการเงินในระดับต่ำไว้ได้ที่ 2.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 จากการพึ่งพาเงินกู้ระยะสั้นเป็นแหล่งเงินทุนหลัก อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินของบริษัทอาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างช้า ๆ หากบริษัทมีการกระจายแหล่งเงินทุนไปยังเงินกู้ระยะยาวมากขึ้นในอนาคต บริษัทยังมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมในระดับต่ำที่ 37.0% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 จากการควบคุมดูแลค่าใช้จ่ายพนักงานที่มีประสิทธิภาพ
ควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ดีและมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์น้อย
บริษัทยังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ของทั้งสินเชื่อแก่นักลงทุนเพื่อซื้อหลักทรัพย์และสินเชื่อแก่บริษัทหลักทรัพย์ในระดับที่ดีจากการมีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่รัดกุมซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนด้านความเสี่ยงของบริษัท บริษัทไม่มีต้นทุนทางเครดิตเพิ่มเติม ณ เดือนกันยายน 2562 และปี 2561 อีกทั้งบริษัทยังมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ที่จำกัดเนื่องจากบริษัทมีเงินลงทุนแค่ในตราสารหนี้รัฐบาลเพื่อการบริหารสภาพคล่องเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดโดยคณะกรรมการบริษัท โดยเงินลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลดังกล่าวคิดเป็นเพียง 2.1% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 จากการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ซึ่งรวมไปถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง เป็นผู้ควบคุมดูแลนโยบายการบริหารความเสี่ยงและการลงทุนของบริษัท ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์และความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์จะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ในระยะยาว
ภาระหนี้ในระดับต่ำพร้อมกับความไม่สอดคล้องกันของโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินในระดับที่จัดการได้และสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้ง คาดว่าภาระหนี้ของบริษัทอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจากความจำเป็นในการใช้เงินกู้ยืมเพื่อสนับสนุนสินเชื่อที่เติบโตของบริษัท ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นจะอยู่ในระดับประมาณ 2 เท่า จาก 1.7 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งพิจารณาว่าระดับหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นตามประมาณการดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 ซึ่งเหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปัจจุบัน
บริษัทมีความไม่สอดคล้องกันของโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินอยู่เล็กน้อยในโครงสร้างเงินทุนของบริษัท บริษัทพึ่งพาเงินกู้ยืมระยะสั้นหมุนเวียนจากตั๋วสัญญาใช้เงินจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเป็นแหล่งเงินทุนหลัก ในขณะที่แหล่งการใช้เงินทุนหลักคือสินเชื่อแก่นักลงทุนเพื่อซื้อหลักทรัพย์จำนวนหนึ่งที่มีอายุสินเชื่อยาวกว่า 1 ปีตามพฤติกรรมของลูกค้าของบริษัทซึ่งมักจะเป็นนักลงทุนระยะยาว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งไม่มีความกังวลในเรื่องความไม่สอดคล้องกันดังกล่าวเนื่องจากบริษัทสามารถเรียกสินเชื่อแก่นักลงทุนเพื่อซื้อหลักทรัพย์คืนได้เมื่อมีความจำเป็น ในอนาคตบริษัทมีแผนจะกระจายแหล่งเงินทุนไปสู่เงินทุนระยะยาวมากขึ้น โดยถึงแม้ว่าจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นแต่จะช่วยลดความเสี่ยงด้านการ
รีไฟแนนซ์ของบริษัทลงได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2562-2565 ดังต่อไปนี้
- • สินเชื่อรวมอยู่ที่ประมาณ 4.5-6 พันล้านบาท
- • ส่วนต่างดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 3%-4%
- • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 35%-38%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable' หรือ 'คงที่' สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถดำรงผลประกอบการทางการเงินและฐานเงินทุนและสภาพคล่องในระดับปัจจุบันเอาไว้ได้ นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสร้างความหลากหลายของสินเชื่อและแหล่งรายได้และรักษามาตรฐานในการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่องต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถเพิ่มการกระจายตัวของโครงสร้างรายได้ได้อย่างมีนัยสำคัญพร้อมกับมีสถานะทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งสถานะเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัท ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีผลประกอบการหรือสถานะทางธุรกิจที่เสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญและ/หรือสถานะเงินทุนเสื่อมถอยลงและภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- การจัดอันดับเครดิตบริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร, 7 พฤษภาคม 2561
บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) (TSFC)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web