- Details
- Category: บล.
- Published: Wednesday, 04 December 2019 23:44
- Hits: 7611
ทรีนีตี้ เผยมีมุมมองเชิงลบต่อสภาพคล่องในตลาดหุ้นระยะกลาง-ยาว (5 ปีข้างหน้า) เหตุการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2563- 2567 ส่งผลกระทบ ขณะเดียวกันยังส่งผลให้เม็ดเงินที่ปกติไหลเข้าสู่กองทุน LTF เฉลี่ยปีละประมาณ 6 หมื่นล้านบาทลดลงอีกด้วย
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่ามีมุมมองเชิงลบต่อสภาพคล่องในตลาดหุ้นระยะกลาง-ยาว (5 ปีข้างหน้า) จากประเด็นการจัดตั้งกองทุนรวม เพื่อการออม (SSF) ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2563 ไปจนถึงปี 2567 และมองว่าอุตสาหกรรมจัดการกองทุนมีโอกาสได้รับผลกระทบพอสมควรโดยประเมินว่าสำหรับประเด็นการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุดจาก 15% ไปเป็น 30% นั้น คงจะไม่ได้ทำให้มีเม็ดเงินออมใหม่เข้ามามากนัก เนื่องจากกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์จากกรณีนี้ เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการออมต่อรายได้ในระดับที่ไม่สูง พร้อมประเมินว่าในกลุ่มนี้จะมีผู้ลงทุนในสัดส่วนที่ไม่มากที่จะเลือกออมเพิ่มขึ้นเต็มเพดาน 30%
ขณะเดียวกันระยะเวลาการถือครองที่เพิ่มขึ้นจาก 7 ปีเป็น 10 ปี คาดว่าจะไม่เป็นการลดทอนแรงจูงใจสำหรับผู้ที่มีฐานภาษีในระดับกลาง-สูงที่ต้องการจะลดหย่อนภาษีอยู่แล้ว แต่อาจกระทบต่อแรงจูงใจของผู้ที่มีฐานภาษีอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจทำให้คนบางส่วนในกลุ่มนี้มีการลงทุนผ่านรูปแบบกองทุนประหยัดภาษีลดลงจากเดิมได้อีก นอกจากนี้หลักการลงทุนที่สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภทนั้น มองว่าจะเป็นผลดีต่อผู้ลงทุนเอง เนื่องจากในปัจจุบันนั้นความเสี่ยงเฉพาะตัวบริษัทมีค่อนข้างสูง ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวสามารถที่จะกระจายได้ด้วยการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น
“อย่างไรก็ตาม มองปัจจัยดังกล่าวจะเป็นผลลบต่อสภาพคล่องในตลาดหุ้น เนื่องจากมีโอกาสสูงที่ผู้ลงทุนจะหันไปลงทุนในกอง SSF ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น จากเดิมที่จะต้องบังคับลงทุนในตราสารทุนเท่านั้น” นายณัฐชาต กล่าว
สำหรับประเด็นสำคัญที่สุดที่ประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อเม็ดเงินในตลาดหุ้นนั่นก็คือ การนับวงเงินที่ซื้อกอง SSF เข้าร่วมกับกอง RMF, PVD, ประกันบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี โดยประเมินว่าจะมีเม็ดเงินการออมที่หายไปจากระบบค่อนข้างมาก จากกลุ่มคนที่มีฐานภาษีสูงที่ปกติแล้วมีสัดส่วนการออมอยู่ในระดับสูง เงินก้อนที่หายไปนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมจัดการกองทุนได้พอสมควร
นายณัฐชาต กล่าวต่อไปว่าการออกกอง SSF ในรูปแบบดังกล่าวอาจสร้างความเท่าเทียมกับผู้ลงทุนในตลาดให้มากขึ้นได้บ้าง แต่ประเมินว่าเม็ดเงินที่จะได้เพิ่มเข้ามาใหม่จากผู้ที่มีฐานภาษีกลาง-ต่ำ จะไม่สามารถชดเชยเม็ดเงินที่หายไปจากกลุ่มผู้ที่มีฐานภาษีสูงได้ นอกจากนี้ยังค่อนข้างมั่นใจว่าเม็ดเงินที่ปกติเคยไหลเข้าสู่กองทุน LTF เฉลี่ยปีละประมาณ 6 หมื่นล้านบาทนั้น จะลดลงตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปอย่างแน่นอน ที่สำคัญเม็ดเงินที่ไหลเข้ามานั้น จะไม่ได้ไหลเข้าสู่กองทุนหุ้นในอัตรา 1 ต่อ 1 แต่อย่างใด ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้ามีความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องได้ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนสถาบันในประเทศถือว่ามีบทบาทหลักในการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดได้พอสมควร
“ปีที่น่าเป็นห่วงสำหรับตลาดหุ้นจริงๆ น่าจะอยู่ในช่วงพ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีการไถ่ถอนกอง LTF ที่ครบกำหนดอายุจากการซื้อเมื่อปี 2559 ซึ่งหากไม่มีเงินใหม่จากกองประหยัดภาษีต่างๆ ในระดับที่มากพอ มองว่าตลาดหุ้นไทยอาจขาดปัจจัยประคับประคองที่สำคัญได้” นายณัฐชาต กล่าวทิ้งท้าย
AO12080
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web