WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAวรไท สนตประภพ copy copyผู้ว่า ธปท.มองศก.ไทยปีนี้ดีกว่าปีก่อน แต่ยังเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนโลก-ปัญหาเชิงโครงสร้างในปท.

 ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวดีกว่าปีก่อน แต่ยังต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคาดเดาได้ยาก ในตลาดเงินตลาดทุน และปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศ ที่ฉุดรั้งการเติบโตในระยะยาว พร้อมแนะภาคธุรกิจ วางบทบาทยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจประเทศและคุณภาพของสังคมไทย โดยมีคณะกรรมการบริษัท เป็นมันสมองสำคัญ ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าว ปาฐกถาพิเศษในการประชุมใหญ่สามัญประจำาปี 2560 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และคณะกรรมการบริษัทกับการขับเคลื่อนประเทศไทย ว่า ก ขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ตามการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐิจโลกจะขยายตัว 3.5%

 แม้ว่า เศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะมีทิศทางดีขึ้น แต่ความเสี่ยงก็ปรับเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่สหรัฐอเมริกา อาจจะดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสถานะทางการเมืองของประธานาธิบดี Trump ที่จำเป็นต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสำคัญ ๆ โดยเฉพาะนโยบายปฏิรูปภาษี และนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทยอยปรับนโยบายการเงิน เข้าสู่ระดับปกติ (Monetary Policy Normalization) ซึ่งอาจจะทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมในตลาดการเงินโลกปรับสูงขึ้น ขณะที่ฟากยุโรปก็มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ยังต้องเผชิญปัญหา ภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitical Risk) ในทะเลจีนใต้ และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี จะส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนโลกผันผวนได้สูงมากเป็นช่วง ๆ

 นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดจะเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนรูปแบบการทำงานเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ และเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม โลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Cyber Attack” ซึ่งสามารถสร้างความปั่นป่วน ด้วย การเรียกค่าไถ่ได้พร้อมกันทั่วโลกในชั่วข้ามคืน

 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดก็เหมือน เหรียญสองด้านด้านหนึ่งก็เป็น โอกาสช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเราในหลายเรื่อง แต่เหรียญอีกด้านก็นำมาซึ่ง ความท้าทายเช่น จะส่งผลให้ตำแหน่งงานหลายอย่างหายไป ทุกธุรกิจต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 การเปลี่ยนแปลงที่เรากำลังเผชิญอยู่เวลานี้เป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เชื่อว่าเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงใน speed ที่เร็วขึ้น และรุนแรงมากในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ความไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ และไม่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ

 สำหรับ เศรษฐกิจไทย แม้ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคใหม่และสภาวะ VUCA (ผันผวน (Volatile) ไม่แน่นอน (Uncertain) ซับซ้อน (Complex) และยากจะคาดเดา (Ambiguous))ในตลาดเงินและตลาดทุนโลกที่เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น ยากที่จะคาดเดา ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยในภาพรวมสามารถเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะนี้ชัดเจนมากขึ้น กระจายตัวมากขึ้น คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าที่ผ่านมา

 โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยสามารถทนทานความผันผวน และแรงปะทะได้ดีระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 40 ทำให้ภาคส่วนต่างๆ มีความรอบคอบระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการจัดโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสม ขณะที่เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ ฐานะทางการคลัง ตลอดจนฐานะด้านต่างประเทศก็อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทำหน้าที่เป็นเสมือน กันชนที่ช่วยรองรับแรงปะทะและจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวและเติบโตได้ดีระดับหนึ่งท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

  อย่างไรก็ตาม ไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลายเรื่้องที่จะฉุดรั้งประเทศในระยะต่อไป ดังนั้นการดูแลประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยฟื้นและปรับตัวได้ในระยะสั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ต้องระวังไม่ให้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามาบดบังเรื่องสำคัญในระยะยาว

  โดยปัญหาแรก คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งในมิติของรายได้และโอกาส แม้การพัฒนาประเทศจะก้าวหน้าไปตามลำดับ แต่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำกลับไม่ดีขึ้น ตัวเลขสถิติหลายตัวสะท้อนว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เช่น กลุ่มคนรวยที่สุด 10% แรกของประเทศ มีรายได้มากกว่ากลุ่มคนที่จนที่สุด 10% สุดท้ายถึง 22 เท่า ที่ดินทั่วประเทศกว่า 60% ถือครองโดยคนกลุ่มที่รวยที่สุดเพียง 10% แรก เท่านั้น

 ปัญหาที่สองคือ ปัญหาศักยภาพการเติบโตที่ลดลง โดยไทยผ่านจุดสูงสุดของจำนวนประชากรในวัยทำงานมาแล้ว และขณะนี้ประชากรวัยทำงานจะลดลงทุกปี และอีกไม่ถึง 15 ปี ไทยกำลังเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ" โครงสร้างประชากรเช่นนี้จะทำให้ศักยภาพการเติบโตของประเทศลดลงมาก

 นอกจากนี้ ภาค ธุรกิจกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งด้านปริมาณและทักษะความชำนาญที่ตรงกับความต้องการ ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ด้อยลง กำลังสร้างความกังวล รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้มากขึ้น และเป็นหนี้นานขึ้น

 ปัญหาที่สามคือ ปัญหาคุณภาพขององค์กรภาครัฐ แม้ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามปรับปรุงการบริหารงานและการบริการในหลายด้าน แต่หลายเรื่องต้องได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น อาทิ ปัญหาคอร์รัปชันที่ยังเป็นปัญหารุนแรง อีกปัญหาสำคัญ คือ กฎหมายและกฎระเบียบจำนวนมากไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย นอกจากจะเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจ นำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชันแล้ว ยังทำให้การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม

  สำหรับบทบาทของภาคธุรกิจในการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และคุณภาพของสังคมไทย เห็นว่าคณะกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นมันสมองสำคัญในการคิดพิจารณา วางแผน สั่งการ และกำกับการทำงานของธุรกิจ สามารถมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างน้อย 3 มิติ ดังต่อไปนี้

 มิติที่ 1 ภาคธุรกิจต้องตระหนักว่าตนมีบทบาทของการเป็นพลเมืองที่ดี หรือ “Good Corporate Citizen” คือ ธุรกิจพึงตระหนักว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เป็นหน้าที่สำคัญ ตอบโจทย์ของสังคมพร้อมกับการขยายธุรกิจ การทำกำไรและสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ หากทำสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหาของประเทศในลักษณะที่เรียกว่า ธุรกิจชนะ สังคมวัฒนา"

 ด้านที่สอง การทำหน้าที่ Good Corporate Citizen คือการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ตนเองมีความชำนาญ หรือมีบทบาทเกี่ยวข้อง โดยไทยมีภาคธุรกิจที่เก่งในหลายด้าน ถ้าแต่ละแห่งช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาในงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือที่มีความชำนาญ เมื่อรวมกันก็จะกลายพลังใหญ่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพของสังคมได้

 มิติที่ 3 การร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ คือ ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการ สร้างภูมิคุ้มกันโดยธุรกิจจำเป็นต้องมีทักษะและความสามารถในการบริหารจัดการความผันผวนและความไม่แน่นอนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะด้านการเงิน การดำเนินธุรกิจ และความรับผิดชอบต่อสังคม

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!