- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 13 May 2017 18:04
- Hits: 12643
ผู้ว่าธปท.รับไทยยังเผชิญเงินไหลออก หลังเฟดจ่อขึ้นดบ. เร่งแก้ไขปัญหาส่วนต่างดบ. หนี้ครัวเรือนลดความเหลื่อมล้ำ
ผู้ว่าธปท.รับประเทศเกิดใหม่ ไทยเผชิญเงินไหลออก หลังเฟดจ่อขึ้นดบ. แนะนลท.ประกันความเสี่ยง พร้อมเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาส่วนต่างดบ. - หนี้ครัวเรือน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ชี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สะสมมานาน แนะสถาบันการเงินต้องยกระดับทุกด้านหนุนปชช.เข้าถึงและมีวินัยการเงิน
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกระแสเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ว่า สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย ยอมรับว่า ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ขณะที่เงินทุนไหลออกจากกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยในปัจจุบัน เนื่องจาก ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยชัดเจน ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
“แม้ว่าจะเริ่มเห็นเงินไหลออกมากขึ้น แต่นักลงทุนอย่าวางใจ เพราะเงินทุนเคลื่อนย้ายจะมีประเด็นจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ซึ่งถือว่าคาดเดาได้ยาก ดังนั้นนักลงทุนจะต้องบริหารความเสี่ยง เพราะถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ค้าขายต่างประเทศที่จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท กล่าวถึงกรณีที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการให้สถาบันการเงินแก้ไขปัญหาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่มีความแตกต่างระหว่างรายเล็กและรายใหญ่ว่า เป็นปัญหาสะสมมาเป็นเวลานาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหาแนวทางในการแก้ไขต่อไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในภาคการเงิน
สำหรับ นโยบายของธปท. ในการแก้ไขปัญความเหลื่อมล้ำนั้น ประกอบด้วย การให้ภาคสถาบันการเงินยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตภาพ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันภาคการเงินจะต้องมีความมั่นคง บริหารความเสี่ยงที่ดีโดยไม่รับความเสี่ยงมากจนเกินไป นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริม และสนับสนุนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญของภาคการเงินที่ต้องเร่งดำเนินการ
ด้านการแก้ไขปัญหาภาคครัวเรือน ซึ่งถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำเช่นเดียวกันนั้น ยอมรับว่า ปัญหาภาคครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ ที่ปัจจุบันพบว่า ประชาชนบางกลุ่มมีหนี้เกินตัว มีหนี้เร็วหรือตั้งแต่อายุยังน้อย รวมถึงมีเจ้าหนี้หลายราย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจะต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้มีวินัยทางการเงิน ขณะเดียวกันสถาบันการเงินจะต้องมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะการหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า รวมถึงเสนอแนะลูกค้าว่าจะทำอย่างไรให้ออกจากวงจรดังกล่าวได้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย