- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 14 August 2014 22:26
- Hits: 3527
ธปท.เผย สินเชื่อแบงก์ทั้งระบบ Q2/57 ลดลง 7.3% จาก Q2/56 ส่วนหนี้เน่าอยู่ที่ 2.3%
ธปท.เผย สินเชื่อแบงก์ทั้งระบบ Q2/57 ลดลง 7.3% จาก Q2/56 แต่เพิ่มขึ้น 1.1% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนี้เน่าแบงก์ทั้งระบบอยู่ที่ 2.3% สัดส่วนเงินสำรองอยู่ที่ 169.20% เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 15.9% มองสินเชื่อแบงก์ครึ่งปีหลัง ดีกว่าครึ่งปีแรก เหตุได้กลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภค-เอสเอ็มอีหนุน ยันไม่ห่วงหนี้เสียจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ แม้สินเชื่อ"กล่าวถึงเป็นพิเศษ"เพิ่มขึ้น เหตุ มั่นใจแบงก์บริหารจัดการได้
นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงินสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/57 ว่า สินเชื่อขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องอยู่ที่ 7.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยสินเชื่อชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินค้าอุปโภคบริโภค
อย่างไรก็ตาม จากสัญญาณเศรษฐกิจที่ดีขึ้นปลายไตรมาส 2/57 ทำให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/57 จำนวน 1.1% โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัว 6.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน ธุรกิจสินเชื่อ SME ขยายตัว 8.9% ชะลอลงจากไตรมาสก่อน ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลง 8.8% จากสินเชื่อรถยนต์ที่ลดลง
ขณะนี้ สถานการณ์การเมืองเริ่มคลี่คลายส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังคงเป้าการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับ 6-8% จากก่อนหน้านั้นที่มีแนวโน้มว่าจะปรับลดเป้าหมายลง เพราะกังวลการเมืองและเศรษฐกิจชะลอตัว
ในงวดไตรมาส 2/57 สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ทรงตัวอยู่ที่ 2.3% และสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Gross NPL)หลังหักสำรองทรงตัวอยู่ที่ 1.1%
ขณะที่สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (SM) มียอดคงค้าง 298.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.4% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตามธนาคารพาณิชย์ได้กันเงินสำรองเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันอยู่ในระดับสูงที่ 169.2%
"แนวโน้ม SM ของสินเชื่อทั้งระบบเพิ่มขึ้นบ้างแต่ไม่มากนัก ซึ่งในระยะต่อไปการเพิ่มขึ้นของ SM จะขึ้นอยู่กับภาวะเศษรฐกิจ ซึ่ง ธปท. มองว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นและการดูแลลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์น่าจะมีผลให้ SM ไม่เพิ่มขึ้นมากนักจากระดับปัจจุบัน" นายอานุภาพ กล่าว
ในขณะที่ยอดเงินกันสำรองทั้งระบบแบงก์อยู่ที่ 4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้คิดเป็นสำรองส่วนเกิน 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองส่วนเกินเพื่อรองรับปัญหาคุณภาพสินเชื่อ ดังนั้นความจำเป็นในการกันสำรองเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปในจำนวนมากเชื่อว่าจะยังไม่มี
ทั้งนี้ จากการที่สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์กระเตื้องขึ้นช่วงปลายไตรมาส 2 ที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าในครึ่งปีหลังสินเชื่อจะขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก จาก Q1/57 สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้น 86,000 ล้านบาท และ Q2/57 สินเชื่อเพิ่มขึ้น 1.2 แสนล้านบาท โดยเฉพาะช่วง 2 เดือนหลังสุดของช่วงไตรมาส 2 สินเชื่อเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส
ส่วนสินเชื่อที่จะขยายตัวได้ดีคือ สินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งจะฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศและสินเชื่อเอสเอ็มอีที่จะขยายตัวได้ดีจากการสนับสนุนของนโยบายภาครัฐ อย่างไรก็ตามในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลอาจจะเติบโตได้ยากเนื่องจากธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อประเภทต่างๆ เนื่องจากประชาชนมีภาระหนี้ครัวเรือนสูง
"คาดว่า ในครึ่งปีหลังถ้าอุปสงค์ในประเทศดีขึ้น สินเชื่ออุปโภคบริโภคก็จะขยายตัวได้สินเชื่อเอสเอ็มอีก็น่าจะไปได้ดีแม้จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดย Q2/57 ยังขยายตัว 8.9%" นายอานุภาพ กล่าว
ทั้งนี้ ณ Q2/57 ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 1,890.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรงวดปี 56 เข้าเป็นเงินกองทุน ส่งผลให้อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS retio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.9% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 15.5% และอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Tier 1) เพิ่มขึ้นเป็น 13% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 12.6%
สำหรับแนวโน้มของสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan :: SM) ในสินเชื่อซื้อรถยนต์ว่า โดยปกติจะสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่นแต่โอกาสที่จะเปลี่ยนจาก SM มาเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีไม่มากนักเนื่องจากธนาคารพาณิชย์แก้ไขปัญหาได้เร็วด้วยการเข้ายึดรถจากลูกหนี้และจำหน่ายออกไป แต่สิ่งที่จะมีปัญหาบ้างขณะนี้น่าจะเป็นเรื่องของราคารถยนต์มือสองที่ปรับลดลงประมาณ 20 - 30% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากรถคันแรกทำให้มีรถใหม่ออกสู่ตลาดมากราคารถยนต์มือสองจึงปรับลดลง ซึ่งอาจจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ขายขาดทุนได้
"ถามว่า SM จากสินเชื่อรถยนต์จะเป็น NPL ไหม คงไม่มากนัก เพราะแบงก์ดำเนินการแก้ไขก่อนที่จะเป็น NPL ได้ แต่ที่กังวลอยู่บ้างคือเรื่องราคารถยนต์ที่ปรับลดลงอาจจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ขาดทุนได้"นายอานุภาพ กล่าว
นายอานุภาพ กล่าวต่อว่า ในไตรมาส 2/2557 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 5.9 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมครึ่งแรกของปีนี้มีกำไรสุทธิ 1.10 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนตามภาวะเศรษฐกิจโดยไตรมาสดังกล่าวธนาคารพาณิชย์ลดการแข่งขันระดมเงินฝากในช่วงสินเชื่อชะลอตัวและภาระการกันเงินสำรองลดลงหลังจากที่มีสำรองเพียงพอในระดับหนึ่งแล้ว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย