- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 12 February 2017 21:53
- Hits: 4005
กนง. มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบายที่ 1.50% หลังยังมอง ศก.ไทยมีแนวโน้มขยายตัวดี
กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% มองศก.ไทยมีแนวโน้มขยายตัวดี หลังส่งออกฟื้นตัว-รัฐเร่งลงทุน พร้อมเกาะติดนโยบาย'ทรัมป์' สั่ง ธปท.วิเคราะห์สถานการณ์ส่งเข้าที่ประชุมรอบหน้า พร้อมประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่พื้นฐานยังทรงตัว ขณะที่แนวโน้ม NPLสูงขึ้น สะท้อนความสามารถชำระหนี้ของเอกชนลดลง ชี้ต้องศก.ฟื้น 2-3 ไตรมาสติดกัน จึงจะเห็น NPL ลดลง
นายจาตุรงค์ จันทรังษี เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนแม้ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนโดยเฉพาะจากด้านต้างประเทศขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
สําหรับ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับสูงขึ้นบ้างคณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการส่งออกสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายของภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสําคัญของเศรษฐกิจ ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด ทั้งผลของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ปัญหาเสถียรภาพการเงินจีน และพัฒนาการทางการเมืองและปัญหาภาคการเงินในยุโรปอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว และมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สําหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค้ากลางของกรอบเป้าหมายภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากสภาพคล้องในระบบการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
โดย กนง. ได้ให้ ธปท. จัดทำบทวิเคราะห์สถานการณ์ของสหรัฐฯ เพื่อนำมาเสนอในการประชุม กนง. ครั้งหน้า เพราะเป็นประเด็นที่จะเกิดผลกระทบในวงกว้าง และเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของไทยในปี 61-62 ด้วย
อย่างไรก็ดีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้นบ้างจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ สําหรับด้านอัตราแลกเปลี่ยนในบางช่วงเวลาที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ในต่างประเทศส่งผลให้เงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสําคัญ ซึ่งคณะกรรมการฯ มองว่าอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควรคณะกรรมการฯ เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดีแต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุด อาทิความสามารถในการชําระหนี้ของธุรกิจที่ด้อยลงการผิดนัดชําระหนี้ของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบางบริษัท และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนําไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks)
คณะกรรมการฯ เห็นว่าแม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนอยู่มากโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของการดําเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ
นอกจากนี้ ต้องติดตามปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ที่ยังเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในเกิดผลกระทบเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจที่ลดลง รวมถึงการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับด้วย
อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาวะเศรษฐกิจควรมีทิศทางเชิงบวกต่อเนื่องกันก่อน 2-3 ไตรมาส จึงจะส่งผลให้ NPL ปรับตัวลดลงได้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย