- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 31 January 2017 10:36
- Hits: 9324
ธปท.ชี้ตัวเลขส่งออกล่าสุด ไม่สะท้อนการเติบโตที่แท้จริง เหตุมาจากสินค้าเฉพาะกลุ่ม แนะผู้ประกอบการยังต้องปรับตัว
นักวิชาการธปท. ชี้ตัวเลขส่งออกล่าสุด ไม่สะท้อนการเติบโตที่แท้จริง เหตุตัวเลขยังใกล้ 0% และไม่ได้มาจากสินค้าทุกกลุ่ม ชี้ปัจจุบันมีผู้ส่งออกหน้าใหม่เข้ามาต่อเนื่อง เตือนผู้ประกอบการรุ่นเก่าหากยังไม่ปรับตัวจะอยู่ลำบาก พร้อมมอง นโยบายกีดกันการค้าของ 'ทรัมป์' อาจไม่ดีต่อสหรัฐฯ เหตุจะกระทบวัฎจักรการค้า
นายทศพล อภัยทาน หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลงานวิจัยเรื่อง จุลทรรศน์ภาคการส่งออกไทย ส่งออกยุคผลัดใบ เลือดใหม่เร่งขับเคลื่อนว่า ตัวเลขส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาล่าสุดนั้น ยังเป็นตัวเลขที่ไม่สะท้อนการเติบโตที่แท้จริง เนื่องจากตัวเลขยังใกล้เคียงที่ 0% และการเติบโตไม่ได้มาจากสินค้าทุกกลุ่ม
“ส่วนตัวเลขการส่งออกที่ออกมาของกระทรวงพาณิชย์ล่าสุดนั้น โดยส่วนตัวมองว่า ยังไม่ได้น่าตื่นเต้นมากนัก เพราะตัวเลขยังใกล้ศูนย์เท่านั้น และตัวเลขยังออกมาแบบบวกและลบ สลับกัน เพราะการเติบโตไม่ได้เป็นการเติบโตจากสินค้าในทุกกลุ่ม ซึ่งอาจทำให้การส่งออกอาจไม่ได้สะท้อนว่าเติบโตอย่างยั่งยืน แต่เมื่อใดที่เห็นการฟื้นตัวของสินค้าในทุกกลุ่ม จะสะท้อนว่าการส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้น”นายทศพล กล่าว ฃ
กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขส่งออก ปี 2559 ขยายตัว 0.45% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี ส่วนปี 2560 คาดส่งออกขยายตัว 2.5-3.5%
ทั้งนี้ พบว่า การส่งออกของในไทยปัจจุบันไม่สามารถขยายตัวได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา จากการฟื้นตัวที่ไม่เข้มแข็งของเศรษฐกิจโลก โดยสถานการณ์การส่งออกปัจจุบันอยู่ในยุคผลัดใบ คือ ผู้ส่งออกรายเดิมเริ่มที่จะออกจากวงการ ขณะที่ผู้ส่งออกรายใหม่กำลังเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น โดยแต่ละปีจะมีผู้ส่งออก 1ใน3 ที่เป็นผู้ส่งออกหน้าใหม่ ขณะเดียวกันผู้ส่งออกรายเก่า ก็ไม่สามารถส่งออกต่อได้ ซึ่งผู้เล่นทั้งสองกลุ่ม มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในแง่ขนาด ความสามารถ และประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ทำให้ผู้ส่งออกรายเดิมปรับตัวได้อย่างยากลำบาก
ที่ผ่านมูลค่าการส่งออกของผู้ส่งออกหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 2.4%ในช่วง15ปี ขณะที่ผู้ส่งออกรายเก่า มูลค่าการส่งออกติดลบ 0.5% เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขัน และไม่มีการนำเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้า ไม่ขยายตลาดเพื่อการส่งออกเหมือนผู้ส่งออกหน้าใหม่ ดังนั้นผู้ส่งออกรายเก่าควรปรับปรุง เปลี่ยนแปลงรองรับกับสถานการณ์เพื่อรักษาธุรกิจให้อยู่รอด
ภาคส่งออกของไทยที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้น และสามารถหาโอกาสเข้าสู่ตลาด จะช่วยประคับประคองให้การส่งออกไทยไม่หดตัวในอนาคตดังนั้นนโยบายที่เกี่ยวข้องเช่น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย การปล่อยสินเชื่อ ของธนาคารพาณย์ หรือแม้แต่การทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนต้องเอื้อให้กับผู้ส่งออกหน้าใหม่ได้อย่างเหมาะสม
นายทศพล กล่าวว่า ส่วนนโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีสหรับ โดนัลด์ ทรัมป์ นั้น เห็นว่า อาจไม่ได้ส่งผลดีตามที่สหรัฐคาดหวังว่า เพราะหากดูข้อมูลที่แท้จริง จะพบว่า ผู้ส่งออกของสหรัฐรายใหญ่ ก็จะเป็นกลุ่มเดียวกับผู้นำเข้ารายใหญ่เช่นเดียวกัน ดังนั้นผลที่ออกมา นอกจากจะกระทบกับทั่วโลกแล้ว ยังอาจไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐเองด้วย เพราะจะกระทบเป็นวัฏจักรการค้า
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย