- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 22 January 2017 10:39
- Hits: 9151
ผู้ว่า ธปท.ชี้ปรับโครงสร้างในปท.ควบคู่ปรับกลไกภาครัฐจะช่วยขับเคลื่อนศก.ไทยให้เท่าทันสภาพแวดล้อมใหม่ของโลก
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0" โดยระบุว่า โลกในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ภายใต้การเชื่อมต่อที่ไร้เส้นแบ่งและการขับเคลื่อนไปท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้สภาพแวดล้อมของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและยากที่จะคาดเดาได้ ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดความผันผวนสูง ดังนั้นบริบทใหม่ของโลกจึงเป็นสิ่งที่เราต้องตามและปรับตัวให้ทัน เพราะการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ของโลก นอกจากจะมีความท้าทายแล้วยังมีโอกาสรวมอยู่ด้วย
"ดังเช่นกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกในหลายมิติ ทั้งตลาดการเงินโลก ตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้น หลายนโยบายที่สหรัฐฯ จะประกาศในคืนนี้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงนั้น จะมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเงินของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" นายวิรไท กล่าว
โดยมองว่า Mega Trend ที่มีนัยสำคัญต่อสภาวะของโลก มี 4 ด้าน คือ 1. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังสร้างความท้าทายให้ธุรกิจบางประเภทต้องตกขบวนไปด้วย เช่น ฟิล์มถ่ายรูป เครื่องรับ-ส่งโทรสาร (FAX) และการให้บริการโทรศัพท์ทางไกล เป็นต้น 2. การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากร ซึ่งหลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีข้อมูลว่าปี ค.ศ.2040 โลกจะมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี ในสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรโลก จากปี ค.ศ.2015 ที่ประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี มีสัดส่วนเพียง 12% เท่านั้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายต่อเศรษฐกิจและสังคมของโลก เพราะมีผลกระทบต่อตลาดแรงงาน, การบริโภค, การออม และรายจ่ายภาครัฐ
3. เมืองใหม่ ซึ่งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะทำให้เมืองรองหลายเมืองก้าวขึ้นไปเป็นเมืองใหญ่ และมาพร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ดีขึ้น แต่ในอีกด้านนั้นจะทำให้เกิดการหลั่งไหลของแรงงานเข้าสู่เมืองใหญ่ กลายเป็นเมืองที่มีความแออัด วิถีชีวิตที่เร่งรีบ และขาดเวลาในการดูแลเอาใจใส่ครอบครัว และ 4. กฎเกณฑ์กติกาที่เป็นมาตรฐานโลก ซึ่งกฎเกณฑ์ของประเทศใหญ่จะกลายมาเป็นมาตรฐานของทั้งโลกมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบกติกาที่รวดเร็วอย่างไร้พรมแดนนี้ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ หากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
"การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งถือเป็น Mega Trend นี้กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นการปรับตัวจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่เราต้องทำ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้" นายวิรไท กล่าว
ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเงินให้เท่าทันโลกนั้น จะต้องดำเนินการในเรื่องสำคัญ คือ 1.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและแนวทางในการบริหารจัดการเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนาประเทศคงไม่ใช่การมุ่งให้เศรษฐกิจเติบโตได้สูงเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ กระจายผลประโยชน์ไปอย่างทั่วถึง และมีการพัฒนาที่ยังยืน
2.การปรับกลไกการทำงานของภาครัฐ โดยจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์และกติกาของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้จะต้องปรับกลไกการทำงานของภาครัฐให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันภาครัฐควรต้องลดบทบาทที่ไม่จำเป็นลง โดยทำหน้าที่เพียงการกำกับดูแล และให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจและการแข่งขันให้มีศักยภาพมากขึ้น
นายอำพล โพธิโลหะกุล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)กล่าวว่า การพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัล และการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่สามารถเข้าถึง Smart Phone ได้นั้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการของธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจสิ่งพิมพ์, ธุรกิจสถาบันการเงินที่ทำให้จำเป็นต้องปรับตัว โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์เองนั้น ด้วยความที่มีกฎระเบียบค่อนข้างมาก และการดำเนินงานที่ต้องมีความรัดกุม จึงอาจทำให้การให้บริการในบางส่วนยังล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะเกิด Start Up แบบใหม่ขึ้น เช่น FinTech ที่มีการพัฒนาระบบการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ซึ่งธนาคารกสิกรไทยมองว่าจะต้องมีความร่วมมือกันระหว่างธนาคารกับ Start Up ที่เป็น FinTech ในการให้ FinTech เหล่านี้ได้เข้ามาทดลองและร่วมกันพัฒนาการให้บริการใหม่ๆ ออกมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเป็นหลัก และช่วยให้เกิดรายได้ใหม่ ทำให้ Start Up และธนาคารประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจไปด้วยกัน
"เราก็ต้องยอมรับว่าเราเชื่องช้าไป ดังนั้นโจทย์สำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะตอบสนองและปรับตัวได้เร็ว แบบที่ Start Up ทำได้ดี แต่ขณะเดียวกัน Start Up ก็มีโจทย์ว่าจะเข้าถึงฐานลูกค้าจำนวนมากได้อย่างไร และทำให้ลูกค้ามั่นใจในบริการเหล่านั้นได้อย่างไร" นายอำพล กล่าว
ผู้ว่าธปท. เผยขอรอดูความชัดเจนนโยบายศก.สหรัฐทรัมป์ ก่อนประเมินผลกระทบต่อ GDP
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยขอรอดูความชัดเจนนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันนี้ ซึ่งจะมีการสาบานตนและกล่าวสุนทรพจน์ ว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไรและจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม มองว่าตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการเลือกตั้งก็มีผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนมีความผันผวน ดังนั้น แนะนำให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ธปท.จะดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า การประกาศแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจหลายเรื่องของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจมีความแตกต่างจากแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบเดิมที่โลกคุ้นชิน และยอมรับว่าอาจจะสร้างความผันผวนให้เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เห็นความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนมากขึ้นมาตั้งแต่ช่วงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาในเดือนพ.ย.59 และวันนี้จะเข้าสู่ช่วงที่ผู้บริหารชุดใหม่ของสหรัฐฯ จะนำแนวนโยบายเหล่านั้นไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง
ทั้งนี้ มองว่าอาจจะมีหลายเรื่องที่ไทยได้รับอานิสงส์จากนโยบายใหม่ของสหรัฐฯ เช่น หากสหรัฐมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นได้เร็วและเติบโตขึ้นจริง ไทยจะได้รับผลบวกในส่วนนี้ ในทางกลับกัน นโยบายที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะมีการกีดกันทางการค้ามากขึ้น และมีการทบทวนข้อตกลงทางการค้าที่มีมาแต่เดิมนั้น เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดนั้น นโยบายที่ออกมาก็อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้ว่า ธปท. กล่าวด้วยว่า ในความต้องการที่สหรัฐฯ จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น ด้วยการลดภาษี และเร่งเพิ่มรายจ่ายนั้น จะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ความต้องการในการกู้ยืมเงินจากตลาดมีมากขึ้นด้วย สิ่งที่จะเห็นตามมา คือ อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในตลาดพันธบัตรจะปรับขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ และส่งผลไปถึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของตลาดพันธบัตรทั้งโลก รวมทั้งไทยด้วย
"ที่สำคัญคือ จะมีความผันผวนสูงขึ้น จะมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นในหลาย ๆ ด้าน อย่างที่เราปฏิเสธไม่ได้ เราจะเห็นการปรับตัวของสกุลดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปีที่แล้วดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นมาก แต่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดอลลาร์ก็อ่อนค่าลง ซึ่งเป็นตัวสะท้อนความไม่ชัดเจนในเรื่องแนวนโยบายของสหรัฐ ดังนั้นเราต้องติดตามสถานการณ์ ระมัดระวังและบริหารความเสี่ยง ควบคุมความเสี่ยงให้ดี" ผู้ว่า ธปท.กล่าว
พร้อมระบุว่า ธปท.ได้ใช้แนวทางในการดูแลมาอย่างต่อเนื่อง และสามารถจะดูแลไม่ให้ตลาดมีความผันผวนจนเกินควร ทั้งนี้จากความผันผวนในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่นักธุรกิจระหว่างประเทศจำเป็นต้องดูแลตัวเองด้วย รู้วิธีในการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยง เพราะต้องอยู่ในโลกที่มีความผันผวนสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ธปท.จะขอติดตามรายละเอียดของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ชัดเจนก่อนว่าจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยหรือไม่อย่างไร
"ขอประเมินก่อน ที่สำคัญคือรายละเอียดของมาตรการใหม่ ๆ ที่จะออกมา เพราะเมื่อเราพูดถึงการกีดกันทางการค้านั้นมันเป็นภาพรวม แต่ที่สำคัญมากคือ ต้องลงไปดูในรายละเอียดว่าจะทำกับสินค้าใด กับประเทศใด เป็นมาตรการชั่วคราว หรือถาวร เราต้องตามกันต่อเนื่อง" นายวิรไท กล่าว
ส่วนกรณีมีสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E ของบางบริษัทในช่วงที่ผ่านมานั้น ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า อาจเกิดเหตุการณ์ที่บางบริษัท บริษัทเล็ก ๆ หรือบางบริษัทที่มีความเสี่ยงในเชิงธุรกิจสูงไม่สามารถใช้คืนเงินได้ตามตั๋ว B/E ที่ออกไป อาจจะทำให้เกิดความตื่นตระหนกได้บ้าง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ ต้องแยกแยะบริษัทที่เป็นผู้ออกตราสารเหล่านี้ เพราะ B/E ส่วนใหญ่ในระบบการเงินไทยออกโดยบริษัทที่มีพื้นฐานทางธุรกิจที่ดีต่อเนื่อง
"เรื่องสำคัญคือต้องแยกแยะ ช่วงที่ผ่านมาอาจมีบางบริษัทที่โครงสร้างธุรกิจไม่แข็งแรง ก็ออกตั๋ว B/E ที่ให้ผลตอบแทนสูง มีนักลงทุนบางกลุ่มเข้าไปลงทุนโดยหวังผลตอบแทนสูง แต่เราต้องเข้าใจและรู้เท่าทันกับความเสี่ยงนี้" ผู้ว่าธปท.กล่าว
ทั้งนี้ เห็นว่านักลงทุนทั่วไปไม่ควรจะตื่นตระหนกกับกรณีดังกล่าว เพราะตั๋ว B/E ที่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวอยู่ในวงจำกัด ไม่ได้เข้าไปอยู่ในกองทุนที่ขายให้นักลงทุนรายย่อยหรือประชาชนทั่วไป ยังกระจุกตัวอยู่ทั้งในแง่ของบริษัทและกลุ่มผู้ลงทุน ซึ่งเรื่องนี้ได้ประสานกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อย่างใกล้ชิดแล้ว
อินโฟเควสท์
ธปท.ห่วงค้าโลกป่วนรับ'ทรัมป์'ขึ้นประกาศนโยบายศก.
แนวหน้า : นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่าในวันที่ 20 ม.ค. 2560 (ตามเวลาในสหรัฐ) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ จะประกาศ นโยบายด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ จะส่งผล ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก และ มองว่าจะสร้างความผันผวนในด้านตลาดการเงิน ตลาดทุน ในระยะสั้น เช่นเดียวกับช่วงผลการเลือกตั้งที่ออกมาในช่วงเดือนพ.ย. 2559 ที่เกิด ความผันผวนรุนแรงในตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดอัตราเงินแลกเปลี่ยนทั่วโลก
ทั้งนี้ หากนโยบายที่ประกาศไว้สามารถดำเนินการได้จริงและเร็วทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐได้ จะส่งผลดีต่อการค้าของไทย เพราะสหรัฐเป็นคู่ค้าของไทย แต่ในทางกลับกันถ้านโยบายการค้าระหว่างประเทศ เป็นนโยบายกีดกันทางการค้าที่จะมีการทบทวนข้อตกลงทางการค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้ โดยเฉพาะในตลาดเงินในช่วงสั้นๆ โดยทาง ธปท.จะประเมินรายละเอียดของนโยบายสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 2560 หรือไม่
ผู้ว่าการ ธปท.ยังกล่าวในงานสัมมนา "เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0" ด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทย ยังมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ เช่น ปัญหา เชิงโครงสร้าง เกิดจากการลงทุนในช่วง 5-10 ปี ที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ อัตราการขยายตัว ทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลดลง นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญความเสี่ยงการเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่เกิน 15 ปี ข้างหน้า ที่สัดส่วนผู้สูงอายุกว่า 60 ปี จะสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้รูปแบบ การบริโภค การออมในประเทศเปลี่ยนแปลง ไปภาระการคลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อใช้ในการดูแลสวัสดิการ และ ปัจจัยอื่นๆ
ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า คงต้องติดตามก่อนว่าหลังผู้นำคนใหม่ของสหรัฐขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้วจะมีประกาศนโยบายเศรษฐกิจออกมาชัดเจนอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้า ระหว่างประเทศ แต่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ของกระทรวงพาณิชย์ประเมินผลกระทบเป็นรายอุตสาหกรรม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะหารือประเด็นดังกล่าวสัปดาห์หน้า ในเบื้องต้นมองว่าแนวโน้มการยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ TPP จะส่งผลดีต่อไทย ซึ่งจะไม่เสียเปรียบอีกหลายประเทศที่เข้าเป็นสมาชิก TPP แล้ว
ธปท.หวังส่งออกฟื้นห่วงพิษทรัมป์ฟาด!ดัชนีหุ้นร่วงอีก 6 จุด
ไทยโพสต์ : รัชดาภิเษก * ธปท.มองส่งออกปีนี้ดีขึ้น แต่ขอดูความชัด เจนนโยบายทรัมป์ ก่อนทบ ทวนประมาณการใหม่เดือน มี.ค.นี้ นักวิชาการห่วงผลลบต่อเศรษฐกิจไทย หุ้นปิดร่วงอีก 6 จุด
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยปี 2560 มีทิศทางที่ดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในภูมิภาค คาดว่ามีโอกาสขยายตัวมากกว่าที่ ธปท.เคยประเมินไว้จะโตที่ 0%
โดยต้องติดตามนโยบายการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ว่าจะมีนโยบายกีดกันทางการค้า และทำให้เกิดสงครามทางการค้าของโลกหรือไม่ นอกจากนี้ ยังรอตัวเลขการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปลายปีก่อนหรือไม่ ก่อนจะมีการทบ ทวนประมาณการอีกครั้งในเดือน มี.ค.นี้
ขณะที่ปีนี้ มองว่า จะเป็นอีกปีที่ค่าเงินบาทจะมีความผันผวนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะผลจากปัจจัยต่างประเทศ เช่น ความผันผวนของค่าเงินเหรียญ สหรัฐที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยผู้ประกอบการควรจะต้องป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ
นายวศิน ศิวสฤษดิ์ อา จารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการข้อหัว "ผลของความผันผวนในภาคการเงินต่อเศรษฐกิจไทย" ว่า ครึ่งแรกของปี 2560 คาดเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.4-3.6% ในกรณีที่ตลาดการเงินและตลาดหุ้นทั่วโลกขานรับหรือไม่วิตกกังวลกับนโยบายของทรัมป์ แต่หากนโยบายของทรัมป์สร้างความวิตกแก่ตลาดเงินและตลาดทุน โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศและความสัม พันธ์กับจีน อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยครึ่งแรกของ ปีขยายตัวเพียง 3-3.2% เท่า นั้น
หุ้นไทยวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา เคลื่อนไหวแดนลบตลอดทั้งวัน และปิด 1,554.88 จุด ลดลง 5.95 จุด ซื้อขาย 53,206.33 ล้านบาท ต่างชาติขาย 154.38 ล้านบาท กองทุนขาย 3,452.32 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อ 393.19 ล้านบาท และรายย่อยซื้อสุทธิ 3,213.51 ล้านบาท.