- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 10 November 2016 23:04
- Hits: 7246
ธปท.เผยสินเชื่อแบงก์ไทย Q3/59 โต 2.4% ลดลงจาก Q2/59 ที่โต 3.3% ส่วน NPL พุ่งต่อเนื่อง หลังหนี้เสียบัตรเครดิตสูงสุดในรอบ 11 ปี
ธปท.เผยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ Q3/59 โต 2.4% ชะลอลงจาก Q2/59 ที่โต 3.3% ตามสินเชื่อธุรกิจ - สินเชื่ออุปโภคบริโภค ส่วน NPL เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.89% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.72% หลังหนี้เสียบัตรเครดิตพุ่ง 5.10% สูงสุดในรอบ 11 ปี ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 4.98 หมื่นลบ. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.3% พร้อมประเมิน Q4/59 NPL จะลดลง จากการปรับโครงสร้างหนี้- ตัดขายหนี้ของแต่ละธนาคาร แต่ยังหวั่นหากปีหน้า ศก.ไทยยังทรงตัว กดดัน NPL พุ่งต่อเนื่องแน่นอน
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/2559 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพ แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับการชำระคืนหนี้ของสินเชื่อธุรกิจซึ่งส่วนหนึ่งหันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ที่ 2.4% จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 3.3% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี
ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจคิดเป็น 67.6% ของสินเชื่อรวม ขยายตัวได้ 1.1% เมื่อเทีนบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้ 2% จากภาคธุรกิจการเงิน โดยเฉพาะการคืนหนี้ของธุรกิจโฮลดิ้งเพื่อซื้อกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งระดมทุนด้วยการออกหุ้นแทน และสินเชื่อภาครัฐ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่รวมธุรกิจการเงิน ชะลอลง 2% โดยยังชะลอตัวลงในภาคอุตสาหกรรม แต่ภาคบริการและพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอี ขยายตัว 3.2% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2.9%
ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภค ที่คิดเป็น 32.4% ของสินเชื่อรวม ขยายตัว 5.2% ชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 6% เป็นการชะลอลงจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอลง 7.7% สินเชื่อส่วนบุคคล 2.7% และสินเชื่อบัตรเครดิต 6% ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.9% ตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น
ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงต่อเนื่อง ทั้งในสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL มียอดคงค้าง393.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 19.9 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.89% สูงสุดในรอบ 5 ปี และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 2.72% ขณะที่สินเชื่อตจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ มียอดคงค้าง 324 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 26 พันล้านบาท
“หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในส่วนของบัตรเครดิตพุ่งสูงมาอยู่ที่ 5.10% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2548 ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 2.81% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 2.66% ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 2.94% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 2.75%”นายดอน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์กันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจจะด้อยลง โดยเงินสำรองของระบบพาณิชย์เพิ่มขึ้น 21 พันล้านบาท เป็น 513.2 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 161.6% จากไตรมาสก่อนที่ 161.3%
นายดอน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากการบริหารต้นทุนเงินฝาก โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 97.1 พันล้านบาท ลดลง 9.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลของฐานรายได้จากการขายเงินลงทุนและเงินปันผลที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 49.8 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.3% สำหรับอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ยทรงตัวที่ 2.6% และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย ลดลงมาอยู่ที่ 1.1% จาก 1.2% ในไตรมาสก่อน
ทั้งนี้ ในปีนี้ ธปท.มองว่า มีโอกาสที่สินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 3% แต่เชื่อว่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 2.4% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในไตรมาส 4 มองว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลจะลดลงอย่างแน่นอน จากการปรับโครงสร้างหนี้ และการตัดขายหนี้เอ็นพีแอลออกไปของธนาคารพาณิชย์ โดยสิ่งที่ต้องจับตามองคือ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 หากภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังทรงตัวเท่ากับระดับปัจจุบัน จะเป็นปัจจัยกดดันสำคัญให้เอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวขึ้นต่อ ซึ่งกลุ่มที่น่าห่วง คือ เอสเอ็มอี โดยเฉพาะภาคพาณิชย์ และกลุ่มอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตาม ธปท.เริ่มเห็นการฟื้นตัวของภาคเอสเอ็มอีในกลุ่มพาณิชย์บ้าง และอาจจะส่งผลให้สัดส่วนต่อเอ็นพีแอลปรับลดลง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย