WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOAรง มลลกะมาส ธปท.มองเศรษฐกิจไทยปี 60 ดีกว่าปีนี้ ส่งออกกระเตื้อง-ภัยแล้งคลี่คลาย-ราคาน้ำมันยังต่ำ

    นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการเสวนาในหัวข้อ "Thailand's Economic Outlook 2017 อนาคตเศรษฐกิจไทย 2560" ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 60 มีทิศทางที่จะดีขึ้นกว่าปีนี้ โดยมีปัจจัยบวกมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรับตัวได้ดีขึ้น ส่งผลมายังภาคการส่งออกของไทย แม้จะไม่ได้เป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ทำให้ภาคการส่งออกต้องตกเป็นผู้ร้ายหรือตัวฉุดเศรษฐกิจไทยเหมือนในระยะหลังมานี้

     นอกจากนี้ ปัญหาภัยธรรมชาติในปีหน้าเชื่อว่าจะไม่รุนแรงเหมือนเช่นในปีนี้ ซึ่งเมื่อภาวะภัยแล้งเริ่มคลี่คลายก็จะส่งผลดีต่อภาคเกษตรที่สามารถประคองตัวได้ดีขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในฐานะประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

     นางรุ่ง กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งได้แก่ภาคการส่งออกยังไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร แม้ในช่วงหลังจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นบ้างก็ตาม ประกอบกับรายได้ของภาคเกษตรยังขยับขึ้นได้ช้า แต่อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีภาคบริการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ รายได้จากการท่องเที่ยวมาช่วยชดเชย นอกจากนี้ยังมีแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐที่ถือว่าทำได้ดี โดยการเบิกจ่ายของภาครัฐในปีงบประมาณ 2559 ทำได้สูงกว่าที่คาด ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ บวกกับการออกมาตรการของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือเยียวยาในภาคส่วนต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น ภาคเกษตรที่ประสบปัญหาจากภาวะภัยแล้ง จึงทำให้การบริโภคในประเทศไม่ทรุดตัวลงไปมาก และเมื่อภาวะภัยแล้งคลี่คลาย เศรษฐกิจจึงค่อยๆ เริ่มฟื้นตัว

     "เศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนไตรมาส 4 นี้ กิจกรรมบางส่วนอาจโดนกระทบจากบรรยากาศความเศร้าโศกในประเทศ แต่เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลง ตลาดหุ้นแม้จะอ่อนไหวแต่ก็ปรับตัวได้เร็ว ตลาดมีเสถียรภาพ ดังนั้นจึงมองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อ เพียงแต่ในระยะสั้นกิจกรรมบางส่วนอาจจะชะลอลงไปบ้าง" นางรุ่ง กล่าว

    สำหรับ การใช้นโยบายการเงินในการช่วยหนุนเศรษฐกิจนั้น นางรุ่ง กล่าวว่า จะต้องให้นโยบายการเงินช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ซึ่งเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เพื่อเป็นการเอื้อให้เอกชนสามารถระดมทุนได้คล่องตัวขึ้น นอกจากนี้ ธปท.จะต้องใช้นโยบายการเงินในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่ให้เกิดจุดเปราะบางที่จะไปสร้างปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว

    ส่วนทิศทางของเงินทุนเคลื่อนย้ายในปีหน้า หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น นางรุ่ง มองว่า หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปตามที่ตลาดคาดการณ์นั้น อาจจะทำให้มีเงินทุนส่วนหนึ่งไหลกลับไปยังตลาดสหรัฐบ้างแต่เชื่อว่าคงไม่มากนัก เนื่องจากตลาดในเอเชีย และตลาดเกิดใหม่ยังคงมีศักยภาพการเติบโตที่ดี ซึ่งก็จะทำให้เกิดความสมดุลกัน เพราะประเทศไทยยังมีความน่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุนอยู่

    ด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค Economics Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 60 ไปจนถึงไตรมาส 1/61 มีโอกาสที่หนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1 ล้านบัญชีจะสามารถปลดล็อกออกมาได้ โดยปัจจัยหลักมาจากโครงการรถยนต์คันแรกที่จะเริ่มมีผู้ซื้อรถยนต์ไนโครงการดังกล่าวเริ่มทยอยครบกำหนดชำระค่าผ่อนรถครบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไปส่วนใหญ่ ซึ่งเฉลี่ยการผ่อนชำระค่ารถยนต์เฉลี่ยอยู่ที่ 7,000-10,000 บาท/เดือน/คน ซึ่งการที่โครงการรถยนต์คันแรกเริ่มทยอยครบกำหนดโครงการออกไปจะช่วยให้กำลังซื้อกลับมาฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะเห็นผลอย่างชัดเจนของกำลังซื้อที่กลับมาฟื้นตัวในช่วงปลายปี 60 ถึงต้นปี 61

     "เรายังมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคงจะดีกว่าปีนี้ โดยมาจากปัจจัยบวกในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ลดลง ทำให้กำลังซื้อกลับมาเพิ่มขึ้น ส่วนอุปสรรคที่เกิดขึ้นในปีนี้คงจะยังกดดันเศรษฐกิจไทยในปีหน้าต่ออีก เช่น ความล่าช้าของการเบิกจ่ายเพื่อลงทุนโครงการต่างๆของภาครัฐ ซึ่งยังมองว่าเป็นเรื่องยากอยู่ที่โครงการภาครัฐต่างๆจะเร่งออกมาได้เร็ว แต่โดยรวม มองว่าทุกคนพอใจกับพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ยังดีอยู่ เพราะยังมีการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ มีฐานะการคลังที่ดี และฐานะทางการเงินของธนาคารและบริษัทต่างๆอยู่ในเกณฑ์ที่ดี"นายพชรพจน์ กล่าว

      อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ในช่วงที่กำลังซื้อยังชะลอตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศยังคงชะลอตัวอยู่ สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ยังไม่มีการขยายตัวเลยเมื่อเทียกับช่วงเดือนธันวาคมปี 58 เพียงเดือนเดียวสินเชื่อของทั้งระบบขยายตัวได้ถึง 4% ซึ่งสาเหตุที่สินเชื่อรวมของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ยังไม่มีการเติบโตขึ้น มาจากความต้องการใช้สินเชื่อของผู้ประกอบการในการลงทุนขยายกิจการลดลงอย่างมาก และไม่มีการขยายกิจการเลย

      ผู้ประกอบการจำนวนมากทบทวนแผนการลงทุน โดยมีการชะลอและยกเลิกแผนการลงทุนออกไป เพื่อรอดูสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งภาวะเศรษฐกิจในและต่างประเทศ ให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวและสัญญาณกำลังซื้อของผู้บริโภคกลับมาฟื้นตัวขึ้นก่อน เพราะปัจจุบันถือว่าผู้ประกอบการหลายรายยังคงไม่มั่นใจสถานการณ์ต่าง ๆ ส่งผลให้ไม่มีความมั่นใจในการลงทุน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ภาครัฐพยายามเร่งการลงทุนมากขึ้น แต่ภาคเอกชนยังคงไม่เร่งการลงทุนตาม ส่งผลให้สินเชื่อทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมาไม่มีการขยายตัว โดยประเภทสินเชื่อของกลุ่มธุรกิจที่มีการขยายตัวได้นั้นมีอยู่ 2 กลุ่มธุรกิจ คือ สินเชื่อในกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม และสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน

   อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!