- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 18 September 2016 13:13
- Hits: 2807
ธปท.ให้ความสำคัญกับข้อมูลตลาดแรงงาน ผ่านอินเทอร์เน็ต ชี้ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลด้วยมุมมองใหม่ และ มีความลึกหลากหลายเพิ่มขึ้น
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สรุปบทความบทที่ 3 วิเคราะห์ตลาดแรงงาน ผ่านข้อมูลอินเทอร์เน็ต ในงาน BOT Symposium ในวันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2559 ดังนี้
ในภาวะปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดแรงงานในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีรูปแบบแตกต่างจากตลาดแรงงานแบบดั้งเดิม ผู้จ้างงานและผู้สมัครงานต่างมีการพึ่งพาการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งในการจ้างงาน สมัครงาน และหาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมทางอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ทำให้เกิดแหล่งข้อมูลใหม่ที่สามารถนำมารวบรวมให้เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ตลาดแรงงานในมุมมองใหม่ที่อาจไม่สามารถทำได้จากข้อมูลรูปแบบเดิมได้ การศึกษาเสนอการวิเคราะห์ตลาดแรงงานใน 2 รูปแบบ คือ การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Google Trends และ การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Website จัดหางาน
การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Google Trends ที่จัดเก็บโดยเครื่องมือค้นหาทางอินเทอร์เน็ต มีจุดเด่นในเรื่องของความรวดเร็วทันกาล (Real time) และรอบความถี่ที่สูงกว่าข้อมูลรูปแบบเดิม เช่น ข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor Force Survey) ซึ่งมีความล่าช้าประมาณ 1 เดือนจากการสำรวจข้อมูลตัวชี้วัดตลาดแรงงานและนำกลับมาประมวลผล การนำข้อมูลจาก Google Trends มาใช้ประกอบกับข้อมูลชุดเดิมในการคาดการณ์ปัจจุบัน (Nowcasting) อัตราการว่างงาน และ ผู้ขึ้นทะเบียนว่างงานในกรณีเลิกจ้าง สามารถอธิบายภาวะตลาดแรงงานได้ดี และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่สำคัญโดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนแต่การตัดสินใจเชิงนโยบายมีความเร่งด่วนยิ่งขึ้น
การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Website จัดหางาน เนื่องจากปัจจุบันทั้งผู้หางานและผู้จ้างงานใช้ช่องทาง online ในการให้ข้อมูลเพื่อจับคู่ตำแหน่งงานมากขึ้น จึงเป็นข้อมูลที่มีจุดเด่นในการสะท้อนตลาดแรงงานทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ตลอดจนข้อมูลตำแหน่งงานว่าง และประวัติผู้ต้องการหางาน ซึ่งช่วยให้สามารถวิเคราะห์ภาวะตลาดแรงงานด้วยมุมมองใหม่ ทันกาล และ มีความลึกของข้อมูลที่หลากหลายเพิ่มขึ้น โดยจากการศึกษาจากข้อมูล website จัดหางาน ผู้วิจัยพบว่า ตลาดแรงงานไทยมี Geographical mismatch ระหว่างอุปสงค์และอุปทาน โดยตำแหน่งงานและแรงงานมีการกระจายตัวที่ไม่สอดคล้องกันในแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการจับคู่ระหว่างงานกับคน ผู้วิจัยยังได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ตำแหน่งงานที่เจาะจงเพศของผู้สมัคร โดยพบว่า ตำแหน่งงานที่นายจ้างเจาะจงเพศของผู้สมัครมักเป็นงานที่ต้องการแรงงานที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่างานที่ไม่มีการเจาะจงเพศของผู้สมัคร รวมถึงผู้สมัครงานที่มีเพศหญิงมักมีความคาดหวังที่จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชายที่มีการศึกษาและคุณสมบัติอื่นๆ เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังสามารถถูกนำมาใช้วิเคราะห์ภาวะความตึงตัวของตลาดแรงงานได้อีกด้วย
ผู้วิจารณ์มีความเห็นสอดคล้องกับผู้วิจัยว่า การใช้ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตควบคู่กับข้อมูลรูปแบบเดิมมีประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ตลาดแรงงานอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี การใช้ข้อมูลต้องคำนึงถึงปัญหากลุ่มตัวอย่างที่อาจไม่สะท้อนกลุ่มประชากรในภาพรวม (Sampling Bias) จากการที่มีผู้เข้าถึงบริการทางอินเทอร์เน็ตจำกัด สำหรับแนวทางแก้ไขข้อจำกัดนี้ ผู้วิจารณ์มีข้อเสนอให้เน้นศึกษาเจาะเป็นกลุ่มอาชีพ ถ่วงน้ำหนักกลุ่มตัวอย่าง หรือใช้ Online platforms อื่นๆ ที่หลากหลายเพื่อให้ครอบคลุมความหลากหลายของตลาดแรงงานในประเทศ ขณะที่การใช้ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตยังมีศักยภาพในการศึกษาโจทย์ใหม่ๆอีกมาก อาทิ การแบ่งปันข้อมูลในการทำงาน การใช้ข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ที่สะท้อนอารมณ์ของแรงงานต่อการตัดสินใจเปลี่ยนงาน
การใช้ข้อมูลจากภาษาอื่นๆ เพื่อสะท้อนแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในพื้นที่ รวมถึงการวิเคราะห์จากสถานการณ์จำลอง (Experiments) เพื่อประเมินผลกระทบของมาตรการต่างๆ อันจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ตอบโจทย์ปัญหาตลาดแรงงานได้ดียิ่งขึ้น
.สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย