- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 01 September 2016 08:32
- Hits: 4980
ธปท.เผยศก.ไทยเดือนก.ค.59 ขยายตัวต่อเนื่อง รับท่องเที่ยวฟื้น แต่ส่งออกติดลบ 4.5% นำเข้าติดลบ 8.6% ตามภาวะศก.ประเทศคู่ค้า
ธปท.เผยศก.ไทยเดือนก.ค.59 ขยายตัวต่อเนื่อง รับท่องเที่ยวฟื้น แต่ส่งออกยังติดลบ 4.5% - นำเข้าติดลบ 8.6% ตามภาวะศก.ประเทศคู่ค้า ขณะที่ดุลการค้าก.ค. 59 เกินดุล 3,195 ล้านดอลลาร์- ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,667 ล้านดอลลาร์ ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.1% ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสด ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.76% ยันเหตุระเบิดในเดือนส.ค.ไม่กระทบการท่องเที่ยวมากนัก ชี้ไม่ได้เกิดเหตุซ้ำ- ไม่มีเป้าหมายเอาชีวิตนักท่องเที่ยว
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยถึง ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลงบ้างหลังได้เร่งเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับปัจจัยชั่วคราวที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนลดลง สำหรับการส่งออกสินค้ายังคงซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวสูง
สำหรับการส่งออกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านม มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยหดตัว 4.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำที่มีมูลค่า 844 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกแล้ว มูลค่าการส่งออกหดตัว 8.4% โดยเป็นผลของทั้งปัจจัยชั่วคราวและอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังอ่อนแอในเกือบทุกตลาด โดยสินค้าที่มูลค่าการส่งออกหดตัวสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น จากผลด้านราคาที่ยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนหดตัวสูงตามอุปสงค์ต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลาง และยุโรป
ส่วนการนำเข้าหดตัว 8.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากไม่รวมการนำเข้าทองคำที่มีมูลค่า 344 ล้านดอลลาร์ มูลค่าการนำเข้าจะหดตัว 5.2% โดยเป็นการหดตัวในทุกเกือบหมวดสินค้า โดยหมวดที่หดตัวสูง คือ หมวดเชื้อเพลิงที่หดตัวต่อเนื่องจากผลด้านราคา แม้ในเดือนนี้ปริมาณการนำเข้ากลับมาขยายตัวหลังจากโรงกลั่นน้ำมันทีปิดซ่อมในช่วงสองเดือนก่อนหน้ากลับมาดำเนินการได้ตามปกติ
ด้านการท่องเที่ยว ในเดือนกรกฎาคมมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศทั้งสิ้น 2.9 ล้านคน ขยายตัว 10.8% จากช่วงเดียวกันของก่อน โดยเป็นการกลับมาของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย อินโดนีเซีย และตะวันออกกลาง หลังหมดช่วงเทศกาลถือศีลอด รวมทั้งนักท่องเที่ยวจีน และยุโรปยังขยายตัวต่อเนื่อง ด้านเหตุระเบิดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น ยืนยันว่าไม่ได้กระทบกับภาคการท่องเที่ยวมากนัก เนื่องจากไม่มีเหตุการณ์ต่อเนื่อง ประกอบกับไม่ได้มีเป้าหมายจะเอาชีวิตนักท่องเที่ยว
นางรุ่ง กล่าวว่า ส่วนดุลการค้ายังเกินดุล 3,195 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่าการนำเข้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบริการ รายได้และเงินโอนเกินดุล 0.5 พันล้านดอลลาร์ จากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดี ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,667 ล้านดอลลาร์
ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.10% ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามราคาอาหารสดที่ลดลงเนื่องจากภาวะภัยแล้งที่คลี่คลาย ส่งผลให้มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับลดลงจากเดือนก่อน ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนจากผลของฐานค่าธรรมเนียมการศึกษาที่สูงในระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดีราคาสินค้าและบริการอื่นๆยังขยายตัวในอัตราที่ต่ำตามต้นทุนโดยรวมและแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยลดลง 0.3% จากเดือนก่อน เนื่องจากปัจจัยที่สนับสนุนการบริโภค เช่น รายได้รวมของครัวเรือนอนกภาคเกษตรกรรมค่อนข้างทรงตัว อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคนอกภาคเกษตรยังคงปรับลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากความกังวลด้านโอกาสในการหางานทำในอนาคต ขณะที่รายได้ของครัวเรือนภาคเกษตรกรรมมีทิศทางปรับดีขึ้น แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวจากภัยแล้ง
ด้านการลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน เนื่องจากการส่งออกสินค้ายังซบเซา ขณะที่อุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว และกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง โดยเฉพาะยอดขายจากต่างประเทศ
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐเริ่มแผ่วลง โดยมีการเบิกจ่ายงบประมาณ 179 พันล้านบาท หดตัว 16.3% จากการหดตัวของเงินอุดหนุนที่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะได้เร่งเบิกจ่ายไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า สำหรับรายได้รัฐบาลมีการจัดเก็บได้ 207 พันล้านบาท ขยายตัวสูง 20.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีตามการนำส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมคลื่นความถี่ 900 MHz และการนำส่งรายได้ค่าใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิทัล ขณะที่รายได้ภาษีขยายตัวได้ดีจากทั้งภาษีฐานการบริโภค และฐายรายได้
ผู้ว่าธปท.รับเงินบาทยังผันผวนต่อเนื่อง ชี้ตั้งแต่ต้นปี59 เงินบาทผันผวน 4% เหตุจากศก.โลกฟื้น นโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก แต่ยันมีเครื่องมือดูแลเหมาะสม แนะผู้ประกอบการทำประกันความเสี่ยง - หนุนใช้สกุลท้องถิ่นค้าขายมากขึ้น พร้อมปัดตอบข้อเสนอเอกชนให้ค่าบาทอยู่ที่ 34.5 บ./ดอลล์
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยถึงกรณีที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้ธปท.ดูแลค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์นั้น ไม่ขอให้ความเห็นถึงกรอบค่าเงินบาทว่าควรอยู่ที่ระดับใด แต่ยืนยันว่า ความผันผวนของค่าเงินจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง และอยู่ต่อไปในอนาคต จากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการเงินโลก และการฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่มีผลทำให้ค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงไป
“บางช่วงอาจรู้สึกว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่จริงๆแล้วเป็นเพราะเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆในทุกสกุล โดยเรายังเห็นว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นยังสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค ดังนั้นนักธุรกิจจะต้องระมัดระวังและบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนของค่าเงิน”นายวิรไท กล่าว
โดยธปท.ให้ความสำคัญมากกับความผันผวนของค่าเงินที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกับสถาบันการเงิน ในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจของไทย และเศรษฐกิจไทย ให้มีความสามารถเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับความผันผวนจากค่าเงินที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทหากดูรายวันยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆในภูมิภาค โดยค่าความผันผวนของเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 4% สะท้อนว่าภาคธุรกิจมีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรองรับกับความผันผวน
“ความผันผวนของค่าเงินจะอยู่กับเราต่อไป ซึ่งเป็นทักษะหนึ่งที่ภาคธุรกิจไทยและสถาบันการเงินจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับ ขณะที่ธปท.ก็มีเครื่องมือในการดูแลค่าเงินอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ธปท.ยังส่งเสริมให้กฎเกณฑ์ของเรามีความสมดุลในเรื่องของเงินไหลเข้า-ออก โดยให้มีการเปิดเสรีทางการเงิน ในการส่งเสริมให้นักลงทุนออกไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น ส่วนในช่วงเวลาที่เห็นว่าเงินไหลเข้า และอาจเป็นผลเสียต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ธปท.จะเข้าไปดูแลในช่วงที่ผ่านมา โดยมีเครื่องมือหลายอย่างที่ใช้ในการดูแลให้เหมาะสม หากรู้สึกว่าค่าเงินเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับเสถียรภาพและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น”นายวิรไท กล่าว
สำหรับ ในช่วงที่ผ่านมา ยืนยันว่า ธปท.ได้มีการหารือกับภาคเอกชน โดยภาคเอกชนได้ระบุว่า ค่าเงินบาทต้องไม่เปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ต่างจากประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสกุลอื่นๆในภูมิภาค โดยระบุว่า สำหรับการติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น ไม่ควรดูการเคลื่อนไหวเป็นรายวัน แต่ควรดูกรอบเป็นช่วงเวลามากกว่า
นอกจากนี้ ยังแนะนำผู้ส่งออกว่า นอกจากการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ผู้ส่งออกที่มีการค้าขายกับต่างประเทศอาจใช้สกุลท้องถิ่นในการชำระเงิน เช่น หยวน ดอลลาร์ และริงกิต โดยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าการค้าในภูมิภาคมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการใช้สกุลท้องถิ่นที่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันอาจส่งผลดีกว่า เพราะในช่วงต่อไป ค่าเงินสกุลหลักของโลกยังมีความผันผวนสูง ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ประกอบการหันมาใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ส่วนกรณีที่มีกระแสว่า การสนับสนุนให้เอกชนลงทุนไปต่างประเทศมากกว่า อาจไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศนั้น ต้องเข้าใจว่า การลงทุนในขณะนี้หลายอย่างเป็นการลงทุนในห่วงโซ่การผลิต ซึ่งเห็นว่าสามารถที่จะกระจายกิจกรรมการลงทุนในต่างประเทศและเอื้อต่อการทำธุรกิจได้ เพราะปัจจุบันไทยมีข้อจำกัดในเรื่องของ แรงงาน ทักษะ ค่าแรง ดังนั้นกิจกรรมที่ใช้แรงงานสูงก็ไปลงทุนในต่างประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า แต่กิจกรรมที่มีมูลค่าสูงก็ยังเป็นการลงทุนในประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการดูแลค่าเงินบาทนั้น ในการทำกรอบนโยบายการเงินของ ธปท.นั้น มีเครื่องมือในการดูแลหลายด้านประกอบกันในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนโยบายอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะเข้าไปช่วยกำกับการทำงานของสถาบันการเงิน โดยหวังว่าจะให้เกิดผลทางเศรษฐกิจมหภาค เป็นต้น และเครื่องมือสุดท้ายที่ธนาคารกลางมักจะให้ความสำคัญมาก คือ เครื่องมือที่เกี่ยวกับการบริหารเงินไหลเข้าออกระหว่างประเทศและต้องแน่ใจว่ามีเครื่องมือนี้อยู่และพร้อมใช้อย่างเหมาะสมเพื่อรองรับกับสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย