- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 14 May 2016 21:57
- Hits: 2329
แบงก์ชาติ จ่อปรับลด จีดีพี ยันกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นเหมาะสม
บ้านเมือง : แบงก์ชาติเล็งปรับประมาณการจีดีพี รอดูตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/59 ของ สศช. ยืนยันการใช้นโยบายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท.นั้นเป็นแบบยืดหยุ่น และมีความเหมาะสมกับประเทศไทย ด้านหอการค้าไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 59 จาก 3.5% เหลือ 3% จากปัจจัยการชะลอตัวส่งออกและภัยแล้ง เห็นสัญญาณฟื้นตัวครึ่งปีหลัง ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นหลังจากนี้
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานกว่าที่ประเมินไว้ บางกลุ่มยังคงเปราะบางอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ ธปท.จะปรับประมาณการขยายตัวของจีดีพี ในปีนี้จากที่คาดการณ์ว่าโตร้อยละ 3.1 หรือไม่นั้น ต้องติดตามตัวเลขจีดีพีในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
ส่วนกรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในการดูแลเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพในประเทศนั้น ยืนยันว่าการใช้นโยบายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธปท.นั้นเป็นแบบยืดหยุ่น และมีความเหมาะสมกับประเทศไทย เนื่องจากในช่วงเวลาที่เฟ้อไม่ได้เป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัว ธปท.ก็จะใช้นโยบายการเงินดูแลอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจและรักษา
เสถียรภาพทางการเงิน ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่หลุดจากกรอบเป้าหมายของธปท.ที่วางไว้ที่ร้อยละ 1-4 หรือร้อยละ 2.5 บวก/ลบ ร้อย ละ 1.5 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก เชื่อว่ากรอบเป้าหมายที่ ธปท.วางไว้ยังเหมาะสม และคาดว่าเงินเฟ้อจะเริ่มกลับมาเป็นบวก ในระยะต่อไป
ส่วนเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าบางช่วงเวลา จนอาจไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้น ยืนยันว่า ธปท.มีมาตรการในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมและเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค และยืนยันว่า ธปท.จะไม่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ให้เอื้อในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างแน่นอน และผู้ประกอบการไม่ควรชะล่าใจ เพราะความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดทุนยังมีสูง เงินบาทเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2559 และประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2559-2560 จากการติดตามตัวเลขเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ วันแรงงาน และใกล้เปิดเทอม พบว่าขณะนี้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยังไม่โดดเด่น และได้รับผลกระทบจากปัจจัยการชะลอตัวลงของการส่งออกตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและปัญหาภัยแล้ง ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 1 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ขณะที่ทั้งปีประมาณการว่าจะขยายตัวร้อยละ 3
ทั้งนี้ แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีปัจจัยการส่งออกที่ชะลอตัวรุนแรง ทำให้สูญเสียรายได้จากการส่งออก รวมกับรายได้ภาคการเกษตรชะลอตัวลงจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้ง 2 ปัจจัยประมาณ 500,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าโครงการบ้านประชารัฐ ช็อปช่วยชาติ อสังหาริมทรัพย์ ได้เพิ่มเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจประมาณ 400,000 ล้านบาท เมื่อหักลบแล้วทำให้มีเม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจเพียง 100,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจปรับตัวชะลอตัวลงที่ร้อยละ 0.5 จึงปรับประมาณการตามทิศทางตัวเลขดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หอการค้าไทยเห็นสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีหลายปัจจัย ไม่ว่ายอดขายปูนซีเมนต์ที่กลับมาเป็นบวก ยอดขายรถปิกอัพที่กลับมาเป็นบวก อัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกในรอบ 16 เดือน และการส่งออกเดือนมีนาคมฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงปัจจัยราคายางพาราในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากทิศทางราคาน้ำมัน ซึ่งประเมินว่าปลายปี 2559 ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ช่วยให้ราคายางพารามาอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว และหากรัฐผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง สร้างความชัดเจนโครงการต่างๆ ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2559
นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2559 เศรษฐกิจโลกและการส่งออกปรับตัวดีขึ้น น่าจะทำให้เศรษฐกิจปี 2560 ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.4