- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 01 April 2016 11:32
- Hits: 4033
ธปท.หั่นเป้าจีดีพีปี 59 เหลือโต 3.1% จาก 3.5% ลดเป้าส่งออกเหลือ -2% หลังศก.ฟื้นช้า แย้มยังมีช่องลดดบ.หากศก.โลกต่ำกว่า 3.1%
ธปท.หั่นคาดการณ์จีดีพีปี 59 เหลือโต 3.1% จาก 3.5% หลังศก.ฟื้นตัวช้า ส่งออกชะลอตัว แต่คาดปี 60 ขยายตัวได้ 3.3% รับการบริโภค- ลงทุนภาครัฐฯ หนุน พร้อมลดเป้าส่งออกปีนี้เหลือ -2% จากเดิม 0% จากปริมาณการค้าโลกชะลอตัว ส่วนปี 60 คาดอยู่ที่ 0.1% ฟากเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ 0.6% จากเดิม 0.8% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเหลือ 0.8% จาก 0.9% แย้มยังมีช่องว่างลดดอกเบี้ยได้อีก หากศก.โลกแย่กว่า 3.1%
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ว่า คณะกรรมการฯปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี 3.1% จากเดิมที่คาด 3.5% เนื่องจากเห็นว่าการส่งออกสินค้าลดลงตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชีย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ต่ำกว่าคาด
อย่างไรก็ตาม แม้แรงส่งเศรษฐกิจจะมาจากการลงทุนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้บ้าง จำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงกว่าคาด รวมทั้งผลบวกจากราคาน้ำมันที่ต่ำลงไม่อาจชดเชยแรงส่งเศรษฐกิจที่ลดลงจากการส่งออกสินค้าได้ทั้งหมด ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงด้านลบที่สำคัญมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงด้านบวกยังคงมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐ และผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กนง.มองว่า ภาครัฐมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ผ่านการลงทุนที่ทำได้ดีต่อเนื่องและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยรายจ่ายลงทุนปรับเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าจากหน่วยงานภาครัฐเร่งก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายงบลงทุนมากกว่าคาด โดยมองการลงทุนภาครัฐ ตามปีปฏิทินในปี 2559 อยู่ที่ 9.58 แสนล้านบาท และในปี 60 อยู่ที่ 1.034 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังมีงบประมาณปี 2559 เพิ่มขึ้นจากรายได้จากการประมูลใบอนุญาต 4G
“เรามองว่า อัตราดอกเบี้ย หรือ นโยบายการเงิน ยังคงมีช่องว่างที่จะลดลงได้อีก หากเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าที่เราประมาณการไว้ที่ 3.1%”นายจาตุรงค์ กล่าว
ด้านการใช้จ่ายภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงกว่าที่คาด จากการส่งออกที่ลดลง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะราคายางพาราที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ และเริ่มเห็นสัญญาณการจ้างงานในภาคการผลิตที่ลดลง ทำให้ครัวเรือนกังวลต่อรายได้ในอนาคต และเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่าย ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศและการบริโภคภาคเอกชนในประเทศที่ชะลอลง รวมถึงกำลังการผลิตที่เหลืออยู่มากทำให้ภาคธุรกิจยังไม่จำเป็นต้องเร่งลงทุนขยายกำลังการผลิต แม้ว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีภายหลังการประมูลใบอนุญาต 4G
นายจาตุรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งออกของไทยปีนี้คาดว่าจะฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ จึงปรับลดคาดการณ์ส่งออกปีนี้เป็นติดลบ 2% จากเดิมคาดโต 0% และปีหน้าคาดส่งออกขยายตัวได้ 0.1% เนื่องจากมองว่าการส่งออกสินค้าไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มเผชิญกับปัญหาโครงสร้างที่ชัดเจน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการค้าโลกทำให้ปริมาณการค้าโลกชะลอลง ความสามารถในการแข่งขันของไทยยังต้องใช้เวลาในการแก้ไข เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลงกว่าที่คาด ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
“การส่งออกที่ติดลบ 2% นี้ ถือว่า เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเกิดจากการค้าโลกที่ทำให้การส่งออกชะลอตัวลง”นายจาตุรงค์
ด้านการนำเข้าคาดว่าปีนี้จะติดลบ 6.1% ส่วนปีหน้าคาดที่ 3.6% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าปีนี้จะขยายตัว 1.8% และปีหน้าที่ 2.4% ส่วนการอุปโภคภาครัฐคาดปีนี้ขยายตัว 3.3% ปีหน้า 2.8% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนคาดปีนี้ที่ 2.4% ส่วนปีหน้า 4% ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดปีนี้ขยายตัว 10.7% และปีหน้าที่ 4.5% ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้คาดจะเกินดุล 34.8 พันล้านดอลลาร์ และปีหน้า 32.7 พันล้านดอลลาร์
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.6% จากปีที่ผ่านมา 0.8% และปีหน้าคาดอยู่ที่ 2.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีนี้คาดอยู่ที่ 0.8% จากเดิมที่ 0.9% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีหน้าคาดอยู่ที่ 1.1%
สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงที่ กนง.ติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชียที่อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่แตกต่างกันมากขึ้น ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนและค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในบางช่วง ซึ่งอาจไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร ทั้งนี้ ในปีนี้ กนง.ประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 37.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปีหน้าประเมินที่ 47 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย