- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 27 March 2016 11:11
- Hits: 2223
ธปท.แจงแก้กม.ขยายช่องทางลงทุนหุ้น ตปท.แยกส่วนสินทรัพย์หนุนหลัง-คุมเสี่ยงเข้ม
สำนักบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ. ธปท.เพื่อขยายขอบเขตการลงทุนของเงินสำรองระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์หนุนหลังธนบัตรออกใช้ในบัญชีทุนสำรองเงินตรา (ซึ่งเก็บรักษาทองคำและสินทรัพย์อื่นที่ได้มาจากการบริจาคของคณะศิษย์หลวงตาพระมหาบัว) บัญชีทุนสำรองเงินตราจะไม่ถูกกระทบจากการแก้ไข พ.ร.บ. ธปท.ในครั้งนี้แต่อย่างใด
ธปท.ยืนยันว่ายังคงยึดมั่นในหลักการรักษามูลค่าและสภาพคล่องของเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นเป้าหมายหลักของการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีกลไกการบริหารความเสี่ยงที่ดี
ที่ผ่านมา ธปท.ได้ให้ความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยงมาโดยตลอด อาทิ กระจายสกุลเงิน กระจายประเภทสินทรัพย์ที่ถือครอง และใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงประเภทต่างๆ แต่เพื่อเตรียมพร้อมรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่นับวันจะสูงขึ้น ธปท.จึงขอขยายขอบเขตการลงทุนของเงินสำรองระหว่างประเทศจากปัจจุบันที่ลงทุนได้เฉพาะตราสารหนี้และสกุลเงิน ให้ครอบคลุมสินทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับตราสารทุนเพราะการมีสินทรัพย์หลายประเภทที่ราคาไม่ได้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน จะสามารถช่วยให้ความเสี่ยงโดยรวมของเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงจากเดิม หลักการนี้เป็นที่ยอมรับกันในวงการการบริหารเงินและเป็นแนวทางรักษามูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
ปัจจุบันธนาคารกลางหลายแห่งได้ลงทุนในตราสารทุนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว อาทิ ธนาคารกลางมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์ เป็นต้น
ธปท.ยังยืนยันว่า การลงทุนของเงินสำรองระหว่างประเทศมีกระบวนการกำกับดูแลในหลายระดับ ภายใต้กรอบกฎเกณฑ์ที่ละเอียดและชัดเจน และมีการคานอำนาจระหว่างผู้ทำหน้าที่บริหารความเสี่ยงกับผู้ทำหน้าที่ลงทุน และระหว่างฝ่ายจัดการกับคณะกรรมการ ธปท.กระบวนการกำกับดูแลและกรอบกฎเกณฑ์ยึดมั่นในเป้าหมายหลักของการรักษามูลค่าและสภาพคล่อง ของเงินสำรองระหว่างประเทศ เมื่อกฎหมายอนุญาตให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับตราสารทุนได้กรอบกฎเกณฑ์จะอนุญาตให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับตราสารทุนเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้นเพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงไม่ใช่เพื่อหวังหาผลตอบแทน
อย่างไรก็ตาม ธปท. ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาเงินสำรองระหว่างประเทศ มิให้เสื่อมค่า มีความมั่นคง และมีสภาพคล่องพร้อมทำหน้าที่ในฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
อินโฟเควสท์