- Details
- Category: ธปท.
- Published: Thursday, 18 February 2016 00:14
- Hits: 4227
รายงานกนง.มองตลาดการเงินปี 59 ผันผวนมากขึ้นจากนโยบายปท.หลักที่แตกต่างกัน-ติดตามใกล้ชิด
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.59 โดยระบุว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปีในการประชุมครั้งนี้ โดยประเมินว่านโยบายการเงินในปัจจุบันยังอยู่ในระดับผ่อนปรนและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่พัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน โดยเฉพาะจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (search for yield) ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังจะขยายตัวได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยมีอุปสงค์ในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ การลงทุนภาครัฐที่มีแรงส่งต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนในบางสาขา เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม และการบริโภคภาคครัวเรือน ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง แม้รายได้ภาคเกษตรอาจได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลง
สำหรับ ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปโน้มไปด้านต่ำมากขึ้นจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ทั้งด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่ต่างกันของประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงมากขึ้นอาจมีผลกระทบด้านลบต่อการส่งออกของไทยมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการฯ จะติดตามพร้อมกับประเมินสถานการณ์ในด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด
แรงกดดันเงินเฟ้อปรับลดลงต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อนตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงเร็วและมากกว่าคาด ทำให้ความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อโน้มไปด้านต่ำเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบในปัจจุบันจะทยอยปรับสูงขึ้นและคาดว่ายังจะกลับเป็นบวกภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 แต่แนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของราคาน้ำมันเป็นสำคัญ สำหรับความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝืดยังมีจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ยังขยายตัวและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก สะท้อนว่าราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงานส่วนใหญ่มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับสูงขึ้น สอดคล้องกับการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชนที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มองว่า ตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2559 จากความผันผวนในตลาดการเงินจีน ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะภายหลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ประกอบกับตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม นักลงทุนจึงปรับเพิ่มการถือครองสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากนักลงทุนคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะยังอยู่ในระดับต่ำตามการปรับลดลงของราคาน้ำมัน
ขณะที่เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ.แข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ซึ่งกรรมการส่วนหนึ่งมีความกังวลว่าอาจไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่ากับในช่วงที่ผ่านมา
คณะกรรมการฯ เห็นถึงความสำคัญของการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ไว้ใช้ในยามจำเป็น ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมโดยเฉพาะด้านต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า กรรมการส่วนหนึ่งยังมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจมีผลบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างจำกัด ภายใต้การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายพอสมควรแล้วเช่นในปัจจุบัน
ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจการเงินโลก รวมทั้งภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
อินโฟเควสท์