- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 05 January 2016 15:31
- Hits: 3144
การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ในยุค AEC รวมกันเราอยู่ หรือ แยกกันเราก็สู้ได้?
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การรวมตัวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มตัว ซึ่งการรวมตัวกัน ของภาคการธนาคาร (Banking Integration) และการเปิดเสรีด้านการธนาคารภายใต้ กรอบ AEC จะนำมาสู่การแข่งขันที่เข้มข้น ในระบบธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ของทุก ประเทศสมาชิก ดังนั้น จากนี้ไปธพ. ต้องเตรียมพร้อมทั้งการรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในประเทศ และพิจารณาโอกาสที่จะขยายธุรกิจไปแข่งขันในต่างประเทศด้วยคำถามที่น่าสนใจคือ ธพ. ในกลุ่มประเทศ ASEAN จะมีกลยุทธ์อย่างไรต่อไปจากนี้
หนึ่งในกลยุทธ์ที่อาจถูกพิจารณานำมาใช้รับมือกับการแข่งขันคือ ความเป็นไปได้ในการควบรวมกิจการกับ ธพ. อื่น (Merger and Acquisition M&A)ไม่ว่าจะเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจธนาคารในประเทศ (Domestic M&A) เหมือนกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศแล้ว เช่น การควบรวมกิจการของ ธพ. ในประเทศอินเดียและสหรัฐอเมริกา หรือการขยายธุรกิจธนาคารไปยังต่างประเทศ (Cross-border M&A)อย่างที่ ธพ.ยุโรปหรือ ธพ. ญี่ปุ่นทำไปแล้ว
ปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันให้ ธพ. อาจพิจารณาทำ M&A แบ่งเป็น 2 ปัจจัยหลักคือ (1) ปัจจัยหนุน (Push Factors) ที่ผลักดันให้ ธพ.ต้องการควบรวม เช่นต้องการเป็นผู้ครองตลาดรายใหญ่ หรือโอกาสทำกำไรในประเทศลดลงจึงต้องทำ M&A กับธพ. ในประเทศอื่นที่มีโอกาส ทำกำไรสูงกว่าและ (2) ปัจจัยดึงดูด (Pull Factors) ที่เพิ่มโอกาสสร้างผลกำไรจาก การทำ M&A ได้ แก่การมีสภาพแวดล้อม ทางเศรษฐกิจ กฎหมายและการกำกับดูแล ธพ. ที่เอื้อต่อการควบรวม การมีธพ. เป้าหมายที่น่าสนใจ และใช้เป็นยุทธศาสตร์ สำคัญในการขยายธุรกิจ
จากการวิเคราะห์อ้างอิงจากข้อมูลการทำ M&A ของ ธพ. ทั่วโลก กรณี ในช่วง ปี ค.ศ. 1997-2012 พบว่าปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จของการควบรวมกิจการธนาคารมีอยู่ 3-4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1.การมีวิสัยทัศน์กว้างไกลและลงมือทำก่อนคนอื่น (Vision and Timely Execution)สามารถมองเห็น ธพ. เป้าหมายหรือประเทศที่ยังมีโอกาสทำกำไร(Untapped Region) ได้ก่อน คนอื่น เช่น กรณีของ Raiffeisen Zentralbank sterreich Bank (RZB), Erste Group Bank (EGB) และ KBC Bank ซึ่งเป็น ธพ. ขนาดใหญ่ของออสเตรีย และเบลเยียมที่เข้าซื้อและ ควบรวมกิจการกับ ธพ. อันดับต้นๆ ของยุโรปกลางและตะวันออก (Central and Eastern Europe-CEE) โดยมีวิสัยทัศน์ ว่าความต้องการบริการทางการเงินในกลุ่มประเทศ CEE น่าจะสูงขึ้นจากการที่ระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลายและประเทศเหล่านี้จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศ EU และด้วยกลยุทธ์นี้ทำให้ปัจจุบัน RZB, EGB และ KBC Bank มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจในกลุ่มประเทศ CEE อย่างน้อย 40% ของรายได้รวมจากการดำเนินงาน
2.การมีเหตุผลและวางกลยุทธ์การควบรวมอย่างชัดเจน (Clear Reasoning and Strategies) ซึ่งต้องอาศัย ความเข้าใจถึง Business Model และกลยุทธ์ของ ธพ. ของตนเป็นอย่างดี สามารถระบุได้ว่าการควบรวมจะเสริมกลยุทธ์การทำธุรกิจได้อย่างไร จากนั้น จึงวิเคราะห์เชิงลึกถึงฐานะ ผลกำไร ข้อดี และข้อเสียของธพ. เป้าหมาย (Due Diligence) ในการประเมินความคุ้มค่า ของการทำ M&A รวมถึงต้องกำหนดกระบวนการที่จะทำให้การควบรวมมีความราบรื่นและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน (Synergy) ด้วยเช่น กรณีการควบรวม ระหว่าง HDFC Bank (ธพ. อันดับ 5 ของอินเดีย และ Centurion Bank of Punjab ธพ.ขนาดกลาง ที่เป็นการทำ M&A ระหว่าง ธพ.เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดียเนื่องจาก HDFC ต้องการขยายขนาดส่วนแบ่งตลาด และฐานลูกค้าในฐานะ ธพ. เอกชนยักษ์ใหญ่เพื่อให้สามารถแข่งขันกับ ธพ. รัฐขนาดใหญ่ได้ โดยเมื่อควบรวมแล้ว HDFC กลายเป็น ธพ.เอกชนที่มีสาขามากที่สุดในอินเดียถึง 1,148 สาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่วน Centurion Bank ได้เข้า มาเสริมกลยุทธ์ของ HDFC เนื่องจากมี ความเชี่ยวชาญในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ HDFC ต้องการขยายธุรกิจ และ การควบรวมนี้มี Synergy สูงจากที่ทั้ง 2 ธนาคารมีลักษณะทางธุรกิจคล้ายกันมาก และมีความคุ้มค่าจากการลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานจากการปิดสาขาที่ซ้ำซ้อนกัน
3.ธพ. มีขนาดใหญ่และมีฐานะดีเทียบกับธพ. เป้าหมาย (Size and Capital Base DoMatter) ขนาดและฐานะอันแข็งแกร่งของ ธพ. มีผลต่อความสำเร็จของ การเข้าซื้อกิจการเป็นอย่างมากจากการศึกษาในอดีต พบว่า ธพ. ที่มีขนาดใหญ่เทียบกับ ธพ. เป้าหมายนั้นมีโอกาสประสบ ผลสำเร็จจากการทำ M&A สูงขึ้น เนื่องจาก ธพ.ที่มีขนาดใหญ่และฐานะดีมีกำลังซื้อสูง สามารถเลือก ธพ. เป้าหมายในการควบรวมภายใต้ข้อจำกัดที่น้อยกว่า ทำให้มีโอกาสควบรวมกับ ธพ. ที่มีความเหมาะสม กับกลยุทธ์ของตนเอง และประสบความสำเร็จมากกว่า ดังจะเห็นได้จากกรณี ของ ธพ.อันดับ 1-3 ของญี่ปุ่นที่เข้าซื้อ กิจการของ ธพ. ขนาดกลางในกลุ่มประเทศ ASEAN อย่างต่อเนื่อง เช่น Mitsubishi UFJ Financial Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Bank of Tokyo Mitsubishi UFJ (BTMU) มีขนาดเป็น 69 เท่าของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)
ขณะที่ Sumitomo Mitsui Financial Group มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่กว่า ธพ. เป้าหมาย PT Bank Tabungan Pensiunan Nasional (BTPN) ซึ่งเป็นธพ. ขนาดกลางของอินโดนีเซียถึง 285 เท่า
4.สภาพเศรษฐกิจในประเทศของ ธพ.และ ธพ. เป้าหมาย(Economic Factors) มีความสำคัญต่อผลกำไรที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวมเนื่องจาก ผลกำไรของธุรกิจธนาคารที่สามารถวัดจาก Return on assets (ROA) นั้นมีความอ่อนไหวต่อวัฏจักรเศรษฐกิจ ดังนั้น หากเศรษฐกิจประสบปัญหา หลังจากการควบรวมแล้วจะเป็นการยากที่ผลกำไรจะดีขึ้นได้ ดังที่เกิดกับ ธพ.ในกรีซซึ่งมีผลกำไรไม่ดีนักหลังจากควบรวมกิจการกับ ธพ. ในยุโรปหลายแห่งก่อนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 เล็กน้อย
อย่างไรก็ดี การควบรวมกิจการเป็นเพียงกลยุทธ์หนึ่งในการขยายธุรกิจและเพิ่มฐานลูกค้าเท่านั้นและมีค่าใช้จ่าย ค่อนข้างสูงหากเทียบกับการเปิดสำนักงานตัวแทนหรือเปิดสาขา ธพ. เพิ่มเติม ดังนั้นการตัดสินใจที่จะทำ M&A ไม่ว่าจะกับ ธพ. เป้าหมายในประเทศหรือต่างประเทศขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของธพ. ในการกำหนดกลยุทธ์ในระยะต่อไป หาก ธพ.มีแรงผลักดันจากปัจจัยหนุน (Push Factors) และมีปัจจัยดึงดูด (Pull Factors) ที่มากเพียงพอไม่ว่าจะมาจากความต้องการในการครอบครองตลาดหรือการมีประเทศที่ธพ. ยังมีโอกาสในการทำผลกำไร (Untapped region) รวมทั้งมี ธพ.เป้าหมายที่เหมาะสมในการควบรวมกิจการแล้วการทำ M&A ก็น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่น่าจับตามองท่ามกลางการแข่งขันระหว่าง ธพ. ที่สูงขึ้นในอนาคต
'การควบรวมกิจการเป็นเพียงกลยุทธ์หนึ่งในการขยายธุรกิจและเพิ่มฐานลูกค้าเท่านั้น และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงหากเทียบกับการเปิดสำนักงานตัวแทนหรือเปิดสาขา ธพ. เพิ่มเติม ดังนั้นการตัดสินใจที่จะทำ M&A ไม่ว่าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ ธพ. ในการกำหนดกลยุทธ์ในระยะต่อไป'
ที่มา..ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดย... รุ่งพร เริงพิทยา