- Details
- Category: ธปท.
- Published: Monday, 21 December 2015 09:09
- Hits: 2595
ธปท.มองผลกระทบทุนเคลื่อนย้ายต่อไทยจากกรณีเฟดขึ้นดอกเบี้ยยังไม่ชัด
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 ปีว่า ตลาดรับข่าวเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เพราะช่วงที่ผ่านมาเฟดได้อธิบายกับตลาดอย่างต่อเนื่อง และหลายส่วนคาดการณ์มาก่อนแล้วถึงการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ และยังเชื่อว่าเฟดจะคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้น วิธีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
ในส่วนผลกระทบโดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนกับไทยนั้น อาจยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่ยอมรับว่าการปรับชึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในขณะที่ธนาคารกลางหลายประเทศสำคัญยังส่งสัญญาณกรอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ และคงใช้มาตรการการเงินแบบผ่อนคลาย จะมีผลในแง่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยของตลาดพันธบัตร ซึ่งในส่วนนี้จะกระทบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
"ขณะนี้ธนาคารกลางหลายประเทศมีการส่งสัญญาณในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น จีน ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษเอง ก็ส่งสัญญาณออกมาแล้วว่าจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยจากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นในตลาดการเงินทั่วโลกนี้ อาจจะเกิดผลกระทบในแง่อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินสกุลหลักจะมีความผันผวนมากขึ้น ดังนั้นภาคธุรกิจความมีการบริหารความเสี่ยงและปิดความเสี่ยงด้วย"นายวิรไท กล่าว
อินโฟเควสท์
ธปท.เชื่อไทยรับมือเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ มั่นใจศก.ปีหน้าเริ่มฟื้น
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ในระยะข้างหน้านี้ความท้าทายที่สำคัญ คือ ความแตกต่างของนโยบายการเงินในประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ อันจะมีผลต่อภาวะเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเข้าสู่ภาวะอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เป็นปกติมากขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางของหลายประเทศยังอยู่ในภาวะที่ต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน
ซึ่งนโยบายการเงินของแต่ละประเทศจะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในประเทศนั้นๆ เอง อันจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะก่อให้เกิดกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่มีความผันผวนมากขึ้นในอนาคต และจะกลับทิศทางจากที่เคยเป็นอยู่ในปัจจุบัน
"ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เป็นกลุ่มประเทศที่อาจจะมีความเสี่ยง เพราะตอนที่มีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่เยอะมาก โดยเฉพาะจากธนาคารกลางสหรัฐในช่วงที่ดอกเบี้ยถูกๆ จะเห็นเงินไหลเข้าไปสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งจะมีศักยภาพการเติบโตที่ดีกว่า แต่ช่วงที่ต้นทุนการเงินเริ่มจะแพงขึ้น เราจะเห็นสภาพคล่องบางส่วนหรือเงินทุนบางส่วนไหลออกจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งในกรณีนี้คืออเมริกา" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
พร้อมระบุว่า ผลกระทบจากภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะเกิดขึ้นกับแต่ละประเทศนั้นย่อมมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งหรือความอ่อนไหวในฐานะด้านต่างประเทศ ซึ่งในกรณีของประเทศไทยถือว่ายังมีความโชคดี เพราะไทยมีกันชนด้านต่างประเทศที่ดีอยู่หลายมิติ กล่าวคือ มิติแรก คาดการณ์ว่าไทยมีการเกินดุลการค้าค่อนข้างสูงมากในปีนี้ เนื่องจากไทยเองเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ซึ่งในปีนี้ราคาน้ำมันปรับตัวลงค่อนข้างมาก ประกอบกับการชะลอตัวของการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งมีผลทำให้ไทยน่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูง
มิติที่สอง สัดส่วนหนี้ต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยหนี้ระยะสั้นของไทยในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีเท่านั้น ซึ่งต่างจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศที่หนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ
มิติที่สาม บทบาทของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตราสารสำคัญ เช่น พันธบัตร, หุ้น โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าบทบาทของนักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนที่ลดลงในประเทศไทย โดยกรณีของประเทศไทยนั้นการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรของรัฐวิสาหกิจมีเพียง 8-9% ในขณะที่บางประเทศมีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในส่วนนี้ถึง 50% ซึ่งจะทำให้เกิดความอ่อนไหวมากกว่าเมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ เพราะมีโอกาสที่เงินจะไหลออกจากประเทศนั้นๆ กลับไปสู่สหรัฐฯ ได้มากกว่า
"ทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เผชิญกับความผันผวน เรื่องของการบริหารความเสี่ยง การจัดการความเสี่ยงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทย นักลงทุนไทยต้องให้ความสำคัญมาก เพียงแต่เราอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่นๆ" นายวิรไท กล่าว
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกรอบนโยบายการเงินที่ใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเป็นหลัก (Inflation Targeting) แต่จะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกรอบนโยบายเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงมีต่ำ ทำให้ธปท.สามารถให้น้ำหนักกับการดูแลด้านอื่นๆ ได้มากขึ้น เช่น การดูแลอัตราการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เป้าหมายเงินเฟ้อปี 59 อยู่ระหว่างรอการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยจะเน้นเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะปานกลางมากกว่าระยะสั้น นอกจากนี้ ธปท.จะพยายามเพิ่มการส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เพื่อให้การทำนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพ
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 59 เชื่อว่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปและดีขึ้นกว่าปี 58 แต่อาจไม่กระจายตัวแบบทั่วถึง โดยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น รวมถึงมาตรการในการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคภายในประเทศค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดีก็ตาม
อย่างไรก็ดี ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั้งจีนและเอเชียที่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ และราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ เพราะปัญหาภัยแล้งยังคงมีอยู่และอาจรุนแรงขึ้นในปีหน้า ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาน้ำมันยังต่ำกดดันราคาพืชผลทางเกษตรลดลงต่อเนื่อง
อินโฟเควสท์
คลังชี้ธปท.ไม่รีบขยับตามเหตุศก.กำลังฟื้นตัว-จับตาอัตราแลกเปลี่ยน-ทุนเคลื่อนย้าย เฟดขึ้นดบ.ไม่สะเทือนไทย
แนวหน้า : เฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด เผยรอจังหวะขยับอีกตามภาวะเศรษฐกิจ เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ จับตา อัตราแลกเปลี่ยน ทุนเคลื่อนย้าย เชื่อกระทบไทยไม่ สภาพัฒน์ชี้เป็นสัญญาณ ศก.โลก ส่งผลดีต่อการส่งออก ฟื้นตัว ภาคเอกชน เชื่อธปท.ยังปรับดอกเบี้ยตาม
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) เมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค. ว่าคณะกรรมการตัดสินใจเพิ่มขอบเขตดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้น 0.25% เป็นระหว่าง 0.25% และ 0.50% เป็นการส่งสัญญาณแสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวจากบาดแผลของวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2007-2009 มากแล้ว ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐระบุในแถลงการณ์ ว่าคณะกรรมการได้รับการเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ว่ามีพัฒนาการที่สำคัญในสถานการณ์ของตลาดแรงงานปีนี้ และเชื่อมั่นว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2 % ตามเป้าหมายในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เฟดจะติดตามอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานต่อไป โดยความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจจะเป็นตัวตัดสินว่าการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่จะเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างช้าๆ เท่านั้น ขณะที่การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจใหม่ของ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินในการประชุมครั้งล่าสุด ส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากข้อมูลในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าอัตราว่างงานจะลดลงเหลือ 4.7% ในปี 2559 ขณะที่เพิ่มแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2559 จาก 2.3% เป็น 2.4%
ส่วนความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท วันที่ 17 ธ.ค. ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 35.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ซื้อขายล่าสุดอยู่ที่ 36.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางมีมติขึ้นดอกเบี้ยเป็น 0.25-0.50% ซึ่งถือว่าเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพียงเล็กน้อย จากการส่งสัญญาณว่า การขึ้นดอกเบี้ยระยะต่อไปจะค่อยเป็นค่อยไป และมีการพิจารณาถึงเงินเฟ้อมากขึ้น ดังนั้น จึงส่งผลให้ค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่ารุนแรงนัก
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยเชื่อว่า จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ทั่วโลกห่วงเงินตราไหลออกจากประเทศโดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่ แต่ในส่วนของประเทศไทย แม้จะได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก เนื่องจากมีบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มาแล้ว จึงมีการเตรียมการ เอาไว้ และขอให้วางใจ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอยู่แล้ว
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตลาดมีการรับข่าวเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง แล้ว ส่วนผลกระทบโดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนกับ ไทยนั้น อาจยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่ยอมรับว่าการดำเนินการของเฟดครั้งนี้ จะมีผลในแง่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรต่างๆ ในตลาดมากกว่า ซึ่ง ในส่วนนี้จะกระทบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มากกว่าไทย
"ขณะนี้ธนาคารกลางหลายประเทศมีการส่งสัญญาณในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น จีน ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษเอง ก็ส่งสัญญาณออกมาแล้วว่าจะชะลอการขึ้น อัตราดอกเบี้ย โดยจากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นในตลาดการเงินทั่วโลกนี้ อาจจะเกิดผลกระทบในแง่อัตรา แลกเปลี่ยน ค่าเงินสกุลหลักจะมีความผันผวนมากขึ้น ดังนั้นภาคธุรกิจความมีการบริการความเสี่ยงและปิดความเสี่ยงด้วย" นายวิรไท กล่าว
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่แม้ขณะนี้จะยังไม่มีผลต่อต้นทุนทางการเงินก็ตาม แต่ในอนาคตก็ยังประเมินไม่ได้ เพราะหากเศรษฐกิจโลกฟื้นต่อเนื่อง ก็เป็นไปได้ที่เฟดจะมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นเรื่อยๆ
"คลังเองหารือกับแบงก์ชาติ มาตลอด ซึ่ง ธปท. ก็มีมาตรการเพียงพอที่จะดูแล โดยเฉพาะความกังวลเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุน ส่วนกนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด เพราะเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว ดังนั้นหากมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะทำให้แรงส่งในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดลงได้ ขณะที่ในระยะต่อไปมองว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยจะมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป"
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อ ค่าเงินบาทของไทยมากนัก จากปัจจุบันที่เงินบาทอ่อนค่า ค่อนข้างมาก แต่ถือว่าอยู่ใน ทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่น ในภูมิภาค ส่วนตัวจึงเห็นว่ายังไม่จำเป็นที่อัตราดอกเบี้ยของไทยจะต้องปรับขึ้นตามสหรัฐ
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ถือเป็นข่าวดีที่เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย เพราะชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งขึ้น โดยปี 2559 หลายฝ่ายมั่นใจว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสขยายตัวสูงขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยด้วย และประเมินว่าเฟดจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีหน้ามาอยู่ระดับ 0.75% ซึ่งถือว่าไม่มาก ไม่น่าทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวนมากนักในช่วง 1 ปีนับจากนี้
"ยอมรับว่า อาจส่งผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น ในแง่เงินดอลลาร์สหรัฐที่ไหลกลับไปลงทุนในประเทศสกุลเงินหลักส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัว แต่คงไม่มากเพราะตลาดรับรู้มาแล้วก่อนหน้านี้ อีกทั้งปริมาณเงินสกุลต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนไทยยังไม่มากเหมือนประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย เกาหลี จึงไม่น่าเป็นห่วงว่าจะมีเงินไหลออกไปจนกระทบต่อตลาดเงินของไทยรุนแรง" นายปรเมธี กล่าว
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นไปตามที่ตลาดคาดหมาย สะท้อนว่า สหรัฐ จะยุติการใช้ดอกเบี้ยต่ำ และจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า ซึ่งปฏิกิริยาของตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งตลาดหุ้นไทยมีไม่มากนัก เพราะรับรู้ข่าวมา โดยตลอด โดยยืนยันว่า ตลาดหุ้นยังให้ผลตอบแทนที่สูงหากเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้
คลัง มั่นใจไทยพร้อมรับมือเฟดขึ้นดอกเบี้ย,เตรียมมาตรการรับผลศก.โลก-จีนเปราะบาง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับขึ้นดอกเบี้ยว่า เป็นไปตามคาดการณ์ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ อีกทั้งเป็นการปรับขึ้นตามอัตราที่คาดไว้คือ 0.25% หากปรับเพิ่มมากกว่านี้ก็อาจทำให้คนตกใจบ้าง
นอกจากนั้น กรณีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว โดยก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มาก่อนเกือบ 2 ปีแล้ว ดังนั้น เมื่อเกิดเหตการณ์ขึ้นจริงและไม่ได้เหนือความคาดหมาย จึงเชื่อว่า ธปท.จะมีมาตรการที่เตรียมพร้อมรองรับผลกระทบในด้านต่าง ๆ ไว้แล้ว โดยเฉพาะการดูแลความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่กังวลว่าอาจะเกิดขึ้นในระยะต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น
ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า มองว่าเฟดเดินมาถูกทางที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ตลาดได้มีเวลาปรับตัว ขณะที่ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจโลกน่ากังวลมากกว่า เพราะขณะนี้ยังมีความเปราะบาง รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวอาจจะมีผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย ซึ่งทั้งหมดนี้กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการไว้รองรับไว้แล้ว โดยคาดว่าจะสามารถสรุปและเสนอรมว.คลังพิจารณาในเร็วๆ นี้
นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งล่าสุดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุดแล้ว เพราะภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ยนั้น ยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว ดังนั้น การคงดอกเบี้ยจึงถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด และถูกต้องที่สุด เพราะหากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดลง
ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปน่าจะมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย แม้ยังมีความเปราะบาง รวมทั้งในปีหน้าประเทศไทยจะเน้นการลงทุนมากขึ้น และทำให้ภาคเอกชนมีการลงทุนตาม เมื่อเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นย่อมจะทำให้อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นตามหลักการ แต่คงจะเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ก้าวกระโดด
"ปัจจัยที่เราต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย นอกจากเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นอย่างเปราะบาง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ยังต้องมาดูเรื่องของปัญหาภัยแล้ง และราคาน้ำมันที่ยังลดลงต่อเนื่อง เพราะจะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาการนำเข้าน้ำมันให้ปรับตัวลดลง ต้องมาดูตรงนี้ แต่ในส่วนราคาสินค้าเกษตรระยะต่อไปน่าจะปรับสูงขึ้น ส่วนราคาน้ำมันแม้จะลดแต่เชื่อว่าไม่เกิดวิกฤติ คาด GDP ปีนี้ขยายตัว 2.8% และปี 59 เป็น 3.8%"นายสมชัย กล่าว
อินโฟเควสท์