- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 04 July 2014 17:33
- Hits: 3243
ผู้ว่า ธปท. ชี้ศก.ไทยมาถึงจุดเปลี่ยนสู่อนาคตที่ดีขึ้น หลังความเสี่ยงเกิด 'หน้าผา'การคลังหมด แนะรัฐฯช่วงเปลี่ยนผ่านรักษาวินัยการคลัง-หนุนเอกชนขับเคลื่อนศก.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมาถึงจุดเปลี่ยนอันจะสู่ทิศทางที่ดีขึ้น โดยแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจดีขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ปัจจัยเสี่ยงใหม่ยังคงมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นความท้าทายต่อการจัดการนโยบายสาธารณะในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้
โดยในการแสดงปาฐกถาในหัวข้อ 'Managing the Economy at a Crossroads' ดร.ประสาร กล่าวว่า การสิ้นสุดของวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเดือนพฤษภาคมทำให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดีขึ้นในระยะสั้น ความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ และการที่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มจะทำให้มั่นใจได้ว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2548 จะเสร็จทัน และจะกำจัดความเสี่ยงที่จะเกิด 'หน้าผาการคลัง' หรือ 'fiscal cliff' ของไทยได้
อย่างไรก็ตาม ดร.ประสารกล่าวว่า แม้ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะสิ้นสุดลง แต่ยังคงมีความท้าทายรอบด้านที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดว่า จะดำเนินการปฏิรูปในด้านใด และมีเงื่อนไขอย่างไร อันเป็นความท้าทายที่รัฐบาลในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะต้องเผชิญ
โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอแนะว่า ไทยจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ตามศักยภาพที่มี ซึ่งมีความท้าทายอยู่ที่การพิจารณาถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และการใช้ทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ การดำเนินโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นโครงการขนาดใหญ่นั้นควรที่จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเพื่อให้การขยายตัวของเศรษฐกิจดำเนินอย่างเต็มศักยภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังมากเกินควร และจะเป็นข้อที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลทำหน้าที่ช่วยเหลือภาคเอกชน
ขณะเดียวกันดร.ประสารยังได้เสนอแนะว่า รัฐบาลควรรักษาความเชื่อมั่นที่ภาคเอกชนมีต่อนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาล เพราะมีบทเรียนแล้วว่า นโยบายเศรษฐกิจที่ดำเนินไปโดยขาดวินัยส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจมากเพียงใด ดังจะเห็นได้ว่า รัฐบาลที่ขาดประสิทธิภาพในการบริหารประเทศทำให้มีความเสี่ยงที่จะดำเนินนโยบายการคลังที่ขาดความยั่งยืนเกิดขึ้น และบ่มเพาะความขัดแย้งทางการเมืองไปในขณะเดียวกัน การขาดวินัยการคลังย่อมส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อในระดับที่สูง และก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการคลัง ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลที่มีความน่าเชื่อถือ และความมีวินัยทางการคลังจำเป็นต้องผนึกรวมอยู่ในแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ทั้งนี้ ดร.ประสารกล่าวในตอนท้ายว่า ในส่วนของนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้นั้นเป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา และเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ หลังจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายการเงินไปในทางที่จะกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ และได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินในประเทศ และเนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้สามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้ ก่อนที่การประชุมครั้งล่าสุดที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินจะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2% เนื่องจากเห็นว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงแล้ว และมีรัฐบาลที่มีอำนาจเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งคณะกรรมการฯจะติดตามสถานการณ์ต่อไป และจะทำให้แน่ใจว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะดำเนินต่อไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงินจะยังคงอยู่ภายในกรอบเป้าหมายที่วางไว้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย