- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 14 November 2015 14:27
- Hits: 2137
ปี'59 จีดีพีโตได้จากเม็ดเงินรัฐ-ภัยแล้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยง-รากหญ้าหนี้ท่วมหัวธปท.ห่วงศก.ไทยไม่สมดุล
แนวหน้า : ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เผยแม้เศรษฐกิจไทยขยายตัว แต่ก็ยังกระจุกตัว ประชาชนกลุ่มรากหญ้า โดยเฉพาะเกษตรกร ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้รายได้ยังคงตกต่ำ ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งจะเป็นตัวฉุดรั้งจีดีพีให้โตได้ไม่เต็มที่ ขณะเดียวกันต้องเผชิญความผันผวนของศก.โลกด้วย
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2559 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่อาจจะกระจายไม่สมดุล โดยต่างจังหวัดต้องระวังความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีผลทำให้ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ กระทบรายได้ของเกษตรกรและประชาชนในต่างจังหวัด ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง อาจฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในประเทศไม่ให้ฟื้นตัวเร็ว
อย่างไรก็ตาม มองว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้ายังมีแรงส่งจากการลงทุนภาครัฐและการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนในปีหน้า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวแม้ว่าไตรมาส 3 จะชะลอตัวลงไปบ้างแต่ยังมีศักยภาพสูงมาก ซึ่งจะเป็นแรงส่งอีกตัวหนึ่งต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ยังมีความผันผวน เนื่องจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ของประเทศอุตสาหกรรมหลักแตกต่างกัน โดยเศรษฐกิจ สหรัฐฟื้นตัวขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นยังจำเป็นต้องใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งจะสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินอีกระยะหนึ่ง ส่วนเศรษฐกิจจีนยังมีความเสี่ยงในหลายด้าน ที่ต้องติดตามใกล้ชิด
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2559 มั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะปรับตัว ดีขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเม็ดเงินจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการที่จะเห็นผลชัดเจนในปีหน้า ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ ประกอบกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน( เออีซี)ที่จะเป็นจุดแข็งในการสร้างความเชื่อมั่นดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตภาคอุตสาหกรรม (อินดัสทรี ฮับ) ไปพร้อมๆ กัน
"ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปีหน้า ภาคเอกชน มีความห่วงเรื่องปัญหาภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตามอง แต่ หากปัญหาภัยแล้งไม่รุนแรง ก็จะช่วยให้ผลผลิตสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดได้ระดับหนึ่ง เพื่อทำให้ รายได้ของเกษตรกรและกำลังซื้อในประเทศ ฟื้นตัวกลับมา" นายสุพันธุ์กล่าว
ขณะเดียวกัน นายสุพันธุ์ ได้กล่าวในการสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2559 ที่จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ในหัวข้อเรื่อง ยุทธศาสตร์ไทย ก้าวไกลไปกับ CLMV ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี ความพร้อมที่สุดในทุกๆด้านเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม CLMV หรือประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม แต่ไทยก็ต้องไม่ทำตัวเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่มดังกล่าว แต่ควรทำตัวเป็นเพื่อนร่วมภูมิภาคแล้วจับมือเดินไปด้วยกัน เหมือนเป็นหุ้นส่วนทางการค้าการลงทุนร่วมกัน แม้ว่าจะมีระดับขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ ที่แตกต่างกัน
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทย ก็ต้องฉวยโอกาสที่จีนเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวทางการลงทุนทั้งของนักลงทุนจีนและการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากนโยบายกระจายแหล่งผลิตไปยังประเทศอื่นๆของจีน ทำให้จีนหันมาให้ความสำคัญในการลงทุนในลาวและเวียดนามในขณะนี้ ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในกลุ่ม CLMV อย่างเต็มที่เพื่อยึดครองส่วนแบ่งทางการลงทุนไว้ให้ได้ มากที่สุด" นายสุพันธุ์กล่าว
นายสุพันธุ์กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทย มีความพร้อม ในการเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจบริการ และด้านการแพทย์ ที่จะเห็นได้ว่าประชากรจาก 4 ประเทศข้างต้น เริ่มมีฐานะดีขึ้น จำนวนชนชั้นกลางมากขึ้น ทำให้สามารถเดินทางมาใช้บริการทางการแพทย์ในไทยได้หลายแสนคนต่อปี ขณะที่ธุรกิจบริการธุรกิจท่องเที่ยว ก็มีโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางขนถ่ายจำนวนนักท่องเที่ยว จาก 4 ประเทศให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวข้ามพรมแดนระหว่างกันโดยใช้ไทยเป็นจุดเปลี่ยนเครื่องบิน
ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า CLMV มีประชากรรวมกัน 160 ล้านคน ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ รัฐบาลและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันวางยุทธศาสตร์ว่าจะผลักดันให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนใน 4 ประเทศดังกล่าวได้อย่างไร เพื่อไม่ให้พลาดท่าเสียทีแก่ทัพนักลงทุนจากจีน ที่ได้รุกคืบเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ไม่อยากให้ประเทศไทยหวังพึ่งเออีซีเพียงเพราะมีประชากรรวมกัน 600 ล้านคน เพราะเมื่อถึงเวลาเปิดเสรี ทางการค้าจริงๆ ก็ไม่แน่ใจว่าประเทศใดประเทศหนึ่งในเออีซี อาจไม่ยอมลดภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการได้เช่นกันเพราะเออีซีเป็นเพียงข้อตกลงแบบหลวมๆที่อาเซียนทำร่วมกันเท่านั้น
ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลท.กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลท.ได้เข้าไปช่วยฝึกอบรมและวางระบบการซื้อขายในการจัดตั้งตลาดหุ้นของ เมียนมา ซึ่งจะเปิดดำเนินการในเดือนธันวาคมนี้และจะสมบูรณ์เต็มรูปแบบในปี 2559 ซึ่งก่อนหน้านี้ ตลท.ได้ดำเนินการในลักษณะนี้กับกลุ่ม CLMV อื่นๆ
นางเกศรา กล่าวว่า ในปี2559 จะมีการระดมทุน ผ่านตลาดตราสารหนี้จากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจากเมียนมา ที่ต้องการระดมทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอีกเป็นจำนวนมาก ได้แนะนำให้เมียนมาเข้ามาระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรในประเทศไทย เหมือนกับที่ประเทศลาวที่ได้มาระดมทุนออกพันธบัตรในตลาดตราสารหนี้ในไทย เพื่อนำเงินไปสร้างโรงไฟฟ้าหงสา เพราะประเทศไทยยังมีสภาพคล่องอีกเป็นจำนวนมาก และขณะนี้ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. ได้มีการปรับหลักเกณฑ์เพื่อเอื้ออำนวยให้กลุ่ม CLMV มากขึ้น เช่น ปรับลดมาตรฐานอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ลง เพื่อให้เมียนมาเข้ามาระดมทุนในไทยได้จากเดิมต้องอยู่ในระดับน่าลงทุนเป็นสามารถลงทุนได้ ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่เข้ามาลงทุนเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีความมั่นคงอยู่แล้ว