- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 27 June 2014 23:53
- Hits: 3463
กนง.ปรับคาดการณ์ GDP ปี 57 เป็นโต 1.5% ส่วนปี 58 เชื่อโตได้ถึง 5.5%
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน มิ.ย.57 ว่า กนง.ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในปีนี้ลดลงเหลือ 1.5% เนื่องจากครึ่งปีแรกหดตัวในอัตรา 0.5% แต่คาดว่าครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวแบบ V Shape ทำให้กลับมาเติบได้ได้ถึง 3.4%
ส่วนในปี 58 คาดว่า GDP จะเติบโตสูงถึง 5.5% ปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมานโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่เร่งผลักดันการใช้จ่ายภาครัฐให้เร็วกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
"กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจปี 57 จะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและกลับเป็นปกติในปี 58 โดยเห็นว่าความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสมดุล โดยโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่าคาดจากผลกระทบของสถานการณ์ทางการเมืองต่อภาคการท่องเที่ยว และข้อจำกัดด้านการผลิตของไทยต่อการส่งออกสินค้าที่อาจมากกว่าคาด ใกล้เคียงกับโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวสูงกว่าคาดจากการเร่งรัดเบิกจ่ายของภาครัฐ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจปรับดีขึ้นมากกว่าประมาณการ"นายเมธี กล่าว
ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้นเล็กน้อยทั้งในปี 57 และ 58 โดยความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อโน้มไปด้านสูงเนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าปัญหาความขัดแย้งในประเทศอิรักอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดูไบเพิ่มขึ้นในระยะสั้นและการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาอาจทำได้มากกว่าคาดในช่วงที่เศรษฐกิจเร่งฟื้นตัว
นายเมธี กล่าวว่า ขณะนี้แนวโน้มการเบิกจ่ายงบประมาณปี 57 อยู่ที่ราว 93% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 90.5% ส่วนงบประมาณปี 58 ก็จัดทำได้เร็วกว่าที่เคยคาดไว้ว่าจะล่าช้าออกไปราว 2 ไตรมาส ขณะนี้ก็คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ตามปกติตั้งแต่ 1 ต.ค.57 โดยคาดว่าทั้งปีงบประมาณจะมีการเบิกจ่าย 93.5% สูงกว่าเดิมที่คาดไว้ในระดับ 90.4
โดยเฉพาะการเร่งงบตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำที่ปีงบประมาณ 57 นี้เบิกจ่ายลดลงมาอยู่ที่ 7 พันล้านบาท จากเดิมคาด 1.2 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 58 เนื่องจากมีบางโครงการเลื่อนออกไป คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 5 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 58 ส่วนการรลงทุนโครางสร้างพื้นฐาน ที่คาดจะมีการใช้แหล่งเงินกู้ รัฐวิสาหกิจ และงบปนะมาณรวมปีนี้ น่าจะเบิกจ่ายได้ 2 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดไว้ 1.7 หมื่นล้านบาท ส่วนปีงบประมาณหน้าคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 7.6 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดไว้ 4.6 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของประเทศ G3 ที่ขยายตัวได้ดีกว่าคาด ทำให้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว และอาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อจากอุปสงค์ในประเทศช่วงที่เหลือของปีได้ ทำให้ทิศทางเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีอาจเร่งขึ้นมากกว่าที่ประเมินไว้
"การลงทุนและการเบิกจ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะล่าช้า ขณะนี้ประเมินว่าไม่น่าจะช้าแล้ว เพราะโครงการต่างๆ ตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ ก็จะมีการเร่งดำเนินการ และบางส่วนอาจเลื่อนออกไป ทำให้มีแรงส่งต่อเศรษฐกิจไปถึงปีหน้าที่คาดว่าจะเติบโตได้ 5.5% ความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนก็ฟื้นตัวเร็วขึ้น การจ้างงานยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ประกอบกับเชื่อว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวได้"นายเมธี กล่าว
รายงานของ กนง.ระบุว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 57 มีแนวโน้มขยายตัวต่ากว่าที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจไตรมาส 1/57 หดตัวมากกว่าคาด อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในไตรมาส 2/57 เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น และมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นชัดเจนตั้งแต่ช่วงกลางปีหลังสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง ส่าหรับแรงกดดัน เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว
เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวต่ากว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อยตามเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ มีแนวโน้มชะลอลงบ้างจากผลกระทบของการขึ้นภาษีการบริโภค และเศรษฐกิจเอเชียที่มีแนวโน้มชะลอลงตาม การใช้จ่ายในประเทศ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่หดตัวชั่วคราวในไตรมาสแรกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยอาศัยแรงสนับสนุนจากตลาดแรงงาน และฐานะทางการเงินของภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เศรษฐกิจไทยปี 57 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าที่คาดไว้เดิมจากแรงส่งที่ต่ำมากในไตรมาสแรกของปี แต่คาดว่าจะปรับดีขึ้นชัดเจนตั้งแต่ช่วงกลางปีและกลับเป็นปกติในปี 58 โดยในไตรมาส 1/57 เศรษฐกิจหดตัวตามการใช้จ่ายภาครัฐที่ทาได้อย่างจำกัด การบริโภคภาคเอกชนที่ลดลงเนื่องจากความเชื่อมั่น อยู่ในระดับต่ำ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และการใช้จ่ายในสินค้าคงทนพักฐานนานกว่าคาด เช่นเดียวกับการลงทุนที่ชะลอออกไปเพื่อประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงตามบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ถูกบั่นทอนจากสถานการณ์ทางการเมือง ขณะที่การส่งออกฟื้นตัวค่อนข้างช้าเนื่องจากอุปสงค์จากเอเชียชะลอลง ประกอบกับภาคการผลิตของไทยมีข้อจำกัด
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นตามการเร่งรัดเบิกจ่ายและการเร่งจัดทางบประมาณประจำปี 58 พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของภาคเอกชน นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะฟื้นตัวเร็วหลังความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจจะกลับสู่ภาวะปกติในปี 58 ตามการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมกับภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว
แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากทั้งด้านต้นทุนและด้านอุปสงค์ โดยแรงกดดันด้านต้นทุนเพิ่มขึ้นตามการส่งผ่านราคาก๊าซหุงต้มไปยังราคาอาหารในช่วงครึ่งแรกของปี แต่ในระยะต่อไปคาดว่า แรงกดดันดังกล่าวจะมีน้อยลงตามมาตรการตรึงราคาสินค้าของภาครัฐ และราคาน้ามันที่ทรงตัว ส่วนแรงกดดันด้าน อุปสงค์ในปัจจุบันแม้จะค่อนข้างต่ำ แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว
ทั้งนี้ กนง.ปรับลดข้อสมมติราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศลงจากเดิมเล็กน้อย พร้อมกับตรึงราคาก๊าซหุงต้มไว้ตลอดช่วงประมาณการตามมติของภาครัฐ ขณะที่ยังคงข้อสมมติการยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ามันดีเซลและตรึงราคาก๊าซ LPG ภาคขนส่งไว้ตามเดิม
ดังนั้น กนง.เห็นว่านโยบายการเงินในระดับปัจจุบันผ่อนปรนเพียงพอที่จะเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 23 เม.ย.57 เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/57 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดตามการใช้จ่ายในประเทศที่อ่อนแอ และการส่งออกที่ฟื้นตัวช้าไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวดังกล่าวได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาจากสถานการณ์ทางการเมืองเป็นสาคัญ ขณะที่ภาวะทางการเงินยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี
อินโฟเควสท์