WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธปท.หั่นเป้าส่งออกปีนี้โต 3%จากเดิมคาด 4%หลังครึ่งแรกโตต่ำเป้า

     ธปท.หั่นเป้าส่งออกปีนี้โต3%จากเดิมคาด4% หลังครึ่งแรกโตต่ำเป้า รับสหรัฐฯ ลดอันดับค้ามนุษย์ไทยเป็นต่ำสุดกระทบภาพลักษณ์ประเทศ  พร้อมแนะ 4รอดทางแก้หนี้ครัวเรือนสูง ระบุไทยต้องเพิ่มศักยภาพด้านศก.ระยะกลาง-ยาว เพื่อให้ได้ประโยชน์จาก ศก.โลกฟื้นตัว

    ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยว่า ได้หั่นเป้าส่งออกปีนี้เหลือโต 3%จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะโต 4% หลังพบว่าในครึ่งปีแรกการส่งออกเติบโตต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่วางไว้ ประกอบกับการขนส่งสินค้าในประเทศที่ต้องใช้ต้นทุนสูง อีกทั้งพลังงานในประเทศก็มีอยู่จำกัด รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีต้องใช้ทุนสูง จึงส่งผลให้การส่งออกในปีนี้จะเติบโตได้น้อยกว่าที่ประมาณการไว้

   ดร.ประสาร เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศอันดับการค้ามนุษย์ในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำที่สุดว่า เรื่องนี้มีผลเชิงลบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ อาจทำให้การเติบโตล่าช้าบ้าง   

   อย่างไรก็ตาม ภาครัฐอยู่ระหว่างการชี้แจง เพื่อให้สหรัฐเข้าใจว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับบางอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่ใช่ทุกภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเอกชนไทย โดยหอการค้าไทย พยายามชี้แจงคู่ค้าต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐว่าที่ผ่านมาไทยได้ปรับปรุงแก้ไขอยู่แล้ว ฉะนั้นต้องรอท่าทีของคู่ค้าว่าจะเข้าใจหรือไม่ หากมีความเข้าใจจะไม่ส่งผลต่อการทำธุรกิจของภาคเอกชน  

   ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ประเทศไทยควรแก้ไขเรื่องการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในบางอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาประเทศไม่ได้แก้ไขเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเกิดปัญหาช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว จึงเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจแต่ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าจะมีผลต่อภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้แค่ไหน เพราะต้องรอดูท่าทีของประธานาธิบดีสหรัฐว่าจะเห็นชอบการปรับลดอันดับของไทยหรือไม่ แต่ยอมรับการส่งออกของไทยจะขยายต่ำกว่า 4% และจีดีพีทั้งปีโตร้อยละ 1.5%

   นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศ 28 ชาติในกลุ่มประเทศยุโรป ที่จะพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศไทย ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศว่าจะมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไร แต่ยอมรับสถานการณ์การเมืองของไทยยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติในระดับที่สากลยอมรับ แต่เชื่อการดำเนินโรดแมปของคสช. เมื่อดำเนินไปตามขั้นตอนสุดท้าย จนถึงขั้นที่ 3 ประเทศไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่เป็นระดับสากลมากขึ้น และเชื่อว่าต่างชาติจะเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น 

     ดร.ประสาร กล่าวต่อถึง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากประชาชนที่มีรายได้น้อย มีการก่อหนี้เกินตัวค่อนข้างมาก ขาดทักษะทางด้านการเงิน รวมทั้งยังไม่มีวินัยในการออมด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้การบริโภคในประเทศไม่เข้มแข็ง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน และแก้ปัญหาการเงินฐานราก จะต้องเร่งพัฒนา 4 ด้าน คือ 1.มีสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน มีเงินหมุนเวียนในการใช้จ่าย 2.สถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทางการเงินได้สะดวกมากขึ้น                    

     3.ประชาชนมีวินัยในการออม วางแผนทางการเงินในอนาคต รวมทั้งจัดทำแผนรายรับ รายจ่าย จากการสำรวจ พบว่า ปัจจุบันประชาชนขาดทักษะทางการเงิน เช่น การคำนวณอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชน 1 ใน 3 ของประชากร มีการแก้หนี้โดยการกู้ยืม เนื่องจากไม่มีการเก็บออมไว้ในยามฉุกเฉิน และ4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้กำกับดูแลสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้บริการทางการเงิน ให้คำนวนความคุ้มค่าในการใช้จ่าย ขณะที่กระทรวงการคลังสามารถพัฒนาการเงินภาคประชาชนได้อย่างเข้มแข็ง                   

    "สถานการณ์การเมืองส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย การท่องเที่ยวที่อาจฟื้นตัวได้ล่าช้า แต่สิ่งสำคัญคือ การฟื้นตัวที่ไม่เข้มแข็ง ยังมาจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ดีกินดี นั่นก็คือจะต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่มีรายได้น้อย การก่อหนี้ที่เกินตัวอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งต้องเร่งสร้างให้ครัวเรือนมีวินัยการออมและรู้จักการวางแผนทางการเงินด้วย" ดร.ประสาร กล่าว

    นอกจากนี้ นับจากวิกฤตลอยตัวค่าเงินบาท 2ก.ค.2540   ผ่านมา 17 ปี ดร.ประสวาร กล่าวว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยผ่านสิ่งแวดล้อมที่มีความท้าทายทั้งวิกฤติการเงินโลก ปัญหาน้ำท่วม และความไม่สงบทางการเมือง แต่เศรษฐกิจไทยสามารถผ่านพ้นได้และมีเสถียรภาพ ทั้งภาคการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ภาคธุรกิจมีความมั่นคงพอควร แต่ไทยยังต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจในช่วงระยะกลางและยาวให้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง พลังงาน และพัฒนาแรงงาน เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกให้มากขึ้น   นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักการออม โดยเห็นด้วยที่สมาคมธนาคารไทยเตรียมนำข้อเสนอการจัดทำสถาบันการเงินชุมชน ให้ความรู้ประชาชนและมีมาตรฐานการป้องกันความเสี่ยง พร้อมเสนอให้มีการดึงกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์เข้ามาในเครดิตบูโร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันและนำข้อมูลของแต่ละหน่วยงานมาพัฒนาให้ดีขึ้นการที่ดึงสหกรณ์ออมทรัพย์เข้ามาอยู่ในเครดิตบูโร เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์มีสมาชิกค่อนข้างดีมากู้ยืม ถือเป็นจุดแข็งในการพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งหากมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเครดิตบูโร ก็ถือว่าวิน-วิน ทั้งสองฝ่าย

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!