- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 19 July 2015 11:03
- Hits: 2697
ภัยแล้งถล่มซ้ำเศรษฐกิจไทยแบงก์ชาติหนักอกเล็งปรับลดการเติบโตอีกครั้ง
บ้านเมือง : แบงก์ชาติหวั่นสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทย เล็ง ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ อีกครั้ง ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นเรื่องดี ในระยะสั้น เผยเตรียมเสนอแผนพัฒนาระบบการเงินระยะที่ 3 ให้กระทรวงการคลัง ในเดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ จี้ทุกหน่วยงานเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่ออัดเงินเข้าระบบ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยล่าสุดของ ธปท.ประเมินไว้ 3% แต่เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีความเสี่ยงที่จะโตได้น้อยกว่า 3% จากปัจจัยภัยแล้งที่เพิ่งเข้ามาเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ดี ทาง ธปท.จะขอประเมินสถานการณ์ก่อน โดยตอนนี้ยังคง GDP ปีนี้ไว้ที่ 3%
ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า นั้นมองว่า ระดับอัตราแลกเปลี่ยนยังสอดคล้องกับประเทศคู่ค้า ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ทำให้ไทยได้เปรียบหรือเสียเปรียบมากนัก แต่การที่เงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลดีในระยะสั้นต่อภาคการส่งออกของไทยที่ทำให้มีรายได้จากการส่งออกเพิ่มมากขึ้น แต่ในระยะยาว การแข่งขันด้านการส่งออกจะต้องมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาด้วย ไม่ใช่เพียงเรื่องราคาอย่างเดียว เช่น จะต้องสู้กันด้วยเรื่องความต้องการสินค้า และคุณภาพของสินค้า เป็นต้น
"กรณีบาทอ่อนเมื่อเทียบดอลลาร์ฯ นั้น ประเทศคู่ค้า คู่แข่งของเราก็อ่อนเหมือนกัน เราสอดคล้องกับเขาไม่ได้เสียเปรียบหรือได้เปรียบมากนัก แต่ในระยะสั้นบาทอ่อนจะทำให้การส่งออกมีรายได้มากขึ้น ส่วนจะขายได้มากขึ้นหรือไม่ก็ต้องขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่สู้กันแต่เรื่องราคา ต้องสู้กันด้วยความต้องการ คุณภาพสินค้า ราคาอาจไม่ใช่ปัจจัยหลัก" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว
นายประสาร กล่าวต่อว่า ธปท.จะสามารถนำเสนอแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินในระยะที่ 3 ให้กระทรวงการคลังได้ในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฯ จะเริ่มต้นปี 58 ไปอีก 5 ปี โดยในแผนดังกล่าวประกอบด้วย หลักสำคัญ 1.เป็นมาตรการที่ช่วยส่งเสริม SMEs ให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น 2.การส่งเสริมระบบดิจิตอลแบงกิ้ง 3.การส่งเสริมความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และ 4.เป็นการพัฒนาบุคลากรทางการเงิน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจจำนวน 46 แห่ง มีกรอบการเบิกจ่ายงบลงทุนประจำปีงบประมาณ 2558 จำนวน 350,868 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมประจำเดือนพฤษภาคม 2558 ได้จำนวน 89,131 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25.40 ของกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนทั้งปี
การเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ ณ เดือนพฤษภาคม 2558 แบ่งออกเป็น รัฐวิสาหกิจ ที่ใช้ระบบปีงบประมาณ จำนวน 35 แห่ง สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้จำนวน 38,585 ล้านบาท จากกรอบวงเงินจำนวน 144,680 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจที่ใช้ระบบปีปฏิทิน จำนวน 11 แห่ง สามารถเบิกจ่ายจำนวน 50,546 ล้านบาท จากกรอบวงเงิน 206,188 ล้านบาท
สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีแผนการลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และมีผลการเบิกจ่ายสะสม ณ เดือนพฤษภาคม 2558 ล่าช้า เนื่องจากมีการปรับแผนการดำเนินงานหรือไม่สามารถดำเนินงานได้ตามแผนเบิกจ่ายที่ตั้งไว้ ประกอบด้วย โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บมจ. ทีโอที
"สคร.ในฐานะที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ได้ดำเนินการ
ติดตาม รวบรวม รายงานผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง 8 เดือนสำหรับรัฐวิสาหกิจที่ใช้ระบบปีงบประมาณ และ 4 เดือน สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ใช้ระบบปีปฏิทิน ที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจมีความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ สคร.จึงได้พยายามเร่งรัดให้มีการเบิกจ่าย เพื่อผลักดันให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางการคลังของประเทศและมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้มีหนังสือแจ้งประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจ กรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ และรัฐวิสาหกิจ เร่งรัดและติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามแผน พร้อมทั้งให้รัฐวิสาหกิจชี้แจงเหตุผลของการเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้า เพื่อ สคร.ทราบโดยเร็วด้วย"
นายซาง-จิน เหว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) กล่าวว่า ADB ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียลงสู่ระดับ 6.1% ปีนี้ และ 6.2% ในปีหน้า จากเดิมที่ 6.3% สำหรับทั้ง 2 ปีที่ประเมินไว้เมื่อเดือน มี.ค. เนื่องจาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงเกินคาดในสหรัฐและจีนได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งมี 45 ประเทศที่เป็นสมาชิกของ ADB โดยไม่รวมประเทศสมาชิกอย่าง ญี่ปุ่น
ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ADB ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 4.6% จากเดิม 4.9% โดยมีปัจจัยถ่วงจากเศรษฐกิจครึ่งปีแรกที่ชะลอตัวกว่าคาดในอินโดนีเซีย สิงคโปร์และไทย ขณะเดียวกัน ADB ได้ปรับลดแนวโน้มการเติบโตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2559 สู่ระดับ 5.1% ซึ่งลดลง 0.2% จากการประเมินในเดือน มี.ค.
จี้เพิ่มงบลงทุนพยุงเศรษฐกิจสัดส่วน 26%ของรายจ่ายธปท.ชี้จีดีพีเสี่ยงโตต่ำ 3%
ไทยโพสต์ : วิทยุ * 'ประสาร'ชี้ปัญหาภัยแล้งกระทบเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ฉุดจีดีพีทั้งปีโตต่ำกว่า 3% ส่งออกติดลบ 1.5% ไม่กังวลบาทอ่อน แนะรัฐเพิ่มงบลงทุนเป็น 26% หนุนเศรษฐกิจขยายตัวตามศักยภาพที่ 4-5% สคร.รับรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนสุดอืด
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยใน งานสัมมนา "Thailand Com pettitiveness Conference 2015 Building Competitive Thailand for Sustainability And Inclu siveness" ว่า เศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพ มีความมั่นคงและมีความสมดุลอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ยอมรับว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง ซึ่งอาจส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2558 มีโอกาสเติบโตต่ำกว่า 3% ได้
ขณะที่ตัวเลขการส่งออกปีนี้คาดว่าจะติดลบที่ 1.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในช่วงขาลง โดย ธปท.จะมีการติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด
"ในช่วงที่ ธปท.ประเมินว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัว 3% นั้น ยังไม่ได้รวมปัญหาภัยแล้งเข้า ไปด้วย ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเข้ามา โอกาสที่จีดีพีจะโตได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ก็เป็นไปได้ ส่วนระยะต่อไป หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ 4-5% ภาครัฐควรเพิ่มสัดส่วนงบลงทุนให้เป็น 26% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด จากปัจจุบันอยู่ที่ 20%" นายประสารกล่าว
สำหรับ เงินบาทไทยที่อ่อน ค่าต่ำสุดในรอบ 6 ปี อยู่ที่ 34.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่มีปัจจัยที่น่ากังวล เนื่องจากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งและคู่ค้าแล้ว ค่าเงินยังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยการอ่อนค่าลงของเงินบาท จะเป็นผลดีกับภาคการส่งออกที่ทำให้มีรายได้ในรูปเงินบาทมากขึ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ในส่วนของภาครัฐ จะพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการ แข่งขัน ผ่านการลงทุนโครง สร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะช่วยให้สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลงได้อีก 0.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 14% และยืนยันว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะมีเม็ดเงินจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรม การนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจจำนวน 46 แห่ง มีกรอบการเบิกจ่ายงบลงทุนประจำปีงบประมาณ 2558 จำนวน 3.5 แสนล้านบาท สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมถึงเดือน พ.ค.2558 ได้ 8.91 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 25.4% ของกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนทั้งปี
โดยการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ ณ เดือน พ.ค.2558 แบ่งออกเป็น รัฐวิสาหกิจที่ใช้ระบบปีงบประมาณจำนวน 35 แห่ง สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้จำนวน 3.85 หมื่นล้านบาท จากกรอบวงเงินจำนวน 1.44 แสนล้านบาท สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ใช้ระบบปีปฏิทินจำนวน 11 แห่ง สามารถเบิกจ่ายจำนวน 5.05 หมื่นล้านบาท จากกรอบวงเงิน 2.06 แสนล้านบาท.
ผู้ว่าฯ ธปท.มองปัญหาเชิงโครงสร้างกดดันขีดความสามารถ แนะเลิกหวังพึ่งส่งออกดันศก.
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2015 ว่า ปัญหาที่ประเทศไทยต้องเผชิญอันมีผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันนั้น ถือว่าเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น, ต้นทุนแรงงานสูง, ปัญหาหนี้ครัวเรือน, การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, พื้นฐานการศึกษาที่อยู่ในระดับต่ำ และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศก็เผชิญปัญหาในลักษณะนี้เช่นกัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการแก้ไข แม้จะเป็นเรื่องที่แก้ยากก็ตาม
ทั้งนี้ การใช้กลไกจากเศรษฐกิจมหภาคจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็จำเป็นต้องระมัดระวังเรื่อง Global Shock ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของทั้งภาคธุรกิจและภาคเอกชนได้
ดังนั้น การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคจะต้องคำนึงถึงประเด็นที่สำคัญเหล่านี้ คือ 1.ดูแลกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้มีความยืดหยุ่น 2.การทำให้ตลาดการเงินและภาคธุรกิจเกิดความเชื่อมั่นในกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ได้ดำเนินการอยู่ 3.มีเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายและสามารถผสมผสานกันได้ เพื่อเตรียมพร้อมไว้ใช้กับแต่ละสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และ 4. ต้องมีการสื่อสารและทำความเข้าใจที่ดีกับตลาดการเงินเมื่อเกิดปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น
ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีส่วนสำคัญมาจากรายได้ภาคการส่งออกที่คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50-60% ของ GDP ยกเว้นในช่วง 2-3 ปีหลังที่การส่งออกของไทยเริ่มติดลบอันเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทั้งนี้ในอนาคตการพึ่งพาการส่งออกเพื่อช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะทำให้น้อยลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมทั้งอำนาจซื้อเติบโตไม่มากเท่าเดิมแล้ว
"โครงสร้างการค้าระหว่างประเทศอาจจะไม่สัมพันธ์กับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเท่ากับอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้ทุกประเทศต่างมีการขยาย supply chain และเริ่มลดการนำเข้าลง แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปจะเริ่มฟื้นตัวได้ แต่ก็อย่าไปคาดหวังว่าจะมีการนำเข้าสินค้ามากเท่าเดิม" นายประสาร กล่าว
ดังนั้น สิ่งที่พอจะเป็นตัวช่วยเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง คือ การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาการบริโภคในประเทศจะฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็วกว่าส่วนอื่น เพียงแต่ในปีนี้การบริโภคในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งอาจเป็นเพราะภาคการส่งออกที่หดตัวและส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชนที่อยู่ในภาคการเกษตร ประกอบกับยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีความล่าช้าในการพัฒนาหลายด้าน เพื่อเป็นการวางยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะยาว ซึ่งภาครัฐได้พยายามเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้ราว 0.5% พร้อมกันนี้ทางภาครัฐยังได้กระจายการลงทุนไปยังจังหวัดที่มีศักยภาพ รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจชายแดนด้วย ส่งผลให้ครึ่งปีหลังปีนี้จะมีเม็ดเงินจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น
"ปัจจุบันภาครัฐได้เร่งการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งล่าสุด ครม. ก็ได้อนุมัติโครงการมอเตอร์เวย์ 3 สาย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้ราว 0.5% และยังมีโครงการรถไฟฟ้ารางคู่อีก โดยภาครัฐก็ไม่ได้มีการพัฒนาเพียงแค่ในกรุงเทพฯเท่านั้น ยังมีการขยายไปยังจังหวัดที่มีศักยภาพรองรับการขยายตัวของการค้าชายแดนในอนาคตด้วย"นายอาคม กล่าว
นายอาคม มองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยถือว่ายังมีศักยภาพในการเติบโต ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดี แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม รวมมถึงการชักจูงให้ผู้ประกอบการเข้ามาพัฒนาและวิจัยต้นแบบในประเทศไทย เพื่อที่จะพัฒนาไทยสามารถเป็นผู้ออกแบบและผลิตเองได้ ขณะที่ในเชิงที่ตั้งของประเทศนับว่าเป็นจุดศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งถือว่าเป็นข้อที่ได้เปรียบอยู่แล้ว แต่ยังต้องพัฒนาเรื่องของระบบโลจิสติกส์ และการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆแก่ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นการขยายฐานการผลิตตามแนวชายแดนของประเทศด้วย
นอกจากนี้ อนาคตไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศกำลังพัฒนา จะเข้าสู่ศตวรรษของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ และจากการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ AEC จึงมองว่ากลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพน่าจะเป็นสิ่งที่เป็นความต้องการของทุกๆประเทศ และธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษาที่ยังขาดแคลนอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะเป็นสองธุรกิจที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีก 15-20 ปีข้างหน้า
"จากที่เราเป็นศูนย์กลางของ AEC และอนาคตที่จะเป็นศตวรรษของผู้สูงอายุ เราจึงมองว่าความต้องการด้านสุขภาพจะขาดแคลนในอนาคต และอีกอย่างหนึ่งคือการศึกษาที่ยังมีความต้องการอยู่ จึงมองว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับการศึกษา และธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพนั้น จะเป็นตัวช่วยในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้"นายอาคม กล่าว
ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน หลังจากเติบโตอย่างรวดเร็วในเชิงโครงสร้างในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในระยะสั้นหลังจากนี้ควรจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อปรับสมดุล ไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่การจะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้นั้นจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบจากการที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และการจ้างงานที่ยังอยู่ระดับที่ดี ตลอดจนมีองค์กรขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรม และการใช้ประโยชน์อย่างจริงจังในโครงสร้างสาธารณูปโภคที่มีอยู่
โดยขณะนี้ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ช่วยดูแลและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งมีคณะอนุกรรมการ 6 ชุดเพื่อเข้ามาขับเคลื่อน โดยในส่วนของตนได้ดูแลในส่วนของการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ก็จะมีการรวบรวมข้อมูลให้เป็นมาตรฐานและตัวชี้นำในการทำงานให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าระยะสั้น ปัญหาของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง มาจากการอำนาจการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดน้อยลง สาเหตุมาจากโครงสร้างทางสังคม โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ไม่ได้รองรับการเติบโตในรอบต่อไป ซึ่งในเชิงธุรกิจต้องหากลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหา และนำไปสู่แผนการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
อินโฟเควสท์
ศก.โลก-ภัยแล้งฉุดส่งออกวูบหอการค้าชี้สารพัดปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าทั้งปีติดลบ 3.8%
บ้านเมือง : หอการค้าไทยคาดส่งออกครึ่งปีหลังติดลบ 3.6% ทั้งปีติดลบ 3.8% เป็นการติดลบ 3 ปีติดต่อกัน เหตุปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่พาณิชย์ เผยบริษัทตั้งใหม่เดือน มิ.ย. 5.1 พันราย ลดลง 0.7% พร้อมเอาจริง บี้ค้าขายออนไลน์ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง
นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบต่อการส่งออกไทย พบว่า ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญอีกหลายรายการ โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลก ที่มีทิศทางชะลอตัว ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทย ลดลง ปัญหาเศรษฐกิจของกรีซ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าการส่งออกจะยังขยายตัวติดลบอยู่ที่ 3.6% ทำให้ทั้งปีการส่งออกของไทย ติดลบ 3.8% ซึ่งจะเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และเป็นปีที่การส่งออกหดตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี ซึ่งปัจจัยบวก จากการอ่อนค่าของเงินบาท การคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP ของสหรัฐให้กับไทย และราคาน้ำมัน มีแนวโน้มลดลง ไม่ได้ช่วยการส่งออกให้ขยายตัวได้มากนัก
"แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังซบเซา และหดตัวลงต่อเนื่องทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะมีมูลค่าเพียง 214,358 ถึง 223,456 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ -1.8% ถึง -5.8% ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และหากติดลบในอัตรามากกว่า -3.8% จะเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี"
อย่างไรก็ตาม การส่งออกมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัวลง ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกลดลง ปัญหากรีซบานปลาย ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมทั้งปัญหากลุ่มสหภาพยุโรปให้ใบเหลือง หรือ IUU กับอุตสาหกรรมประมงของไทย และปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียงการอ่อนค่าลงของเงินบาท สหรัฐ คืนสิทธิ GSP ให้ไทย รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มของฟื้นตัวที่ดีขึ้น และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในเดือน มิ.ย.58 ผู้ประกอบธุรกิจยื่น ขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศ จำนวน 5,161 ราย เพิ่มขึ้น 638 ราย คิดเป็น 14% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.58 ซึ่งมีจำนวน 4,523 ราย และลดลง 38 ราย คิดเป็น 0.7% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.57 ซึ่งมีจำนวน 5,199 คิดเป็น 0.7% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.57 ซึ่งมีจำนวน 5,199 ราย สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือน มิ.ย.58 มีจำนวน 1,322 ราย
ทั้งนี้ มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือน มิ.ย.58 มีจำนวนทั้งสิ้น 11,905 ล้านบาท ลดลง จำนวน 5,627 ล้านบาท คิดเป็น 32% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.58 ซึ่งมีจำนวน 17,532 ล้านบาท และลดลงจำนวน 5,696 ล้านบาท คิดเป็น 32% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.57 ซึ่งมีจำนวน 17,601 ล้านบาท
น.ส.ผ่องพรรณ กล่าวว่า ในครึ่งปีแรก 2558 มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศ จำนวน 31,557 ราย เพิ่มขึ้น 1,555 ราย คิดเป็น 5% เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลัง 2557 และเพิ่มขึ้น 2,091 ราย คิดเป็น 7% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2557 สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศ ในครึ่งปีแรก 2558 มีจำนวน 6,898 ราย ลดลงจำนวน 6,220 ราย คิดเป็น 47% เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลัง 2557 และเพิ่มขึ้น จำนวน 1,048 ราย คิดเป็น 18% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2557
สำหรับ แนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทในช่วงครึ่งปีหลัง (ก.ค.-ธ.ค.58) คาดว่าตลอดทั้งปีนี้ จะมีนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ประมาณ 60,000-65,000 ราย ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยได้รับปัจจัยบวกที่เป็นแรงสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐเป็นสำคัญ ซึ่งยังคงต้องติดตามปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ ภาคการส่งออก สถานการณ์ ภัยแล้ง และสภาพเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลต่อการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทโดยรวม
ในขณะนี้กรมฯ ได้เพิ่มความเข้มงวดในการจัดการกับ ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หลังจากในช่วงที่ผ่านมา โดยกรมฯ จะดำเนินการตรวจสอบเว็บไซต์ที่ซื้อขายสินค้าออนไลน์ทั้งหมด หากพบว่าไม่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้อง ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจ และส่งดำเนินคดีทุกราย หากเป็นผู้ประกอบการที่ไม่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้สั่งปรับ 2,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท และยังส่งดำเนินคดีตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วย ซึ่งมีโทษปรับเป็นแสนบาท