WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BOA copyเจาะลึกหนี้ครัวเรือนไทยยังพุ่งต่อส่วนใหญ่มีหลักทรัพย์ค้ำ-สถาบันการเงินดูแลใกล้ชิด

    บ้านเมือง : ธปท.รายงานตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนไทยประจำไตรมาส 1/2558 พบว่ามีจำนวนรวม 10.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นำโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจและสหกรณ์ออมทรัพย์ตามลำดับ

    แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2558 ต่อเนื่องถึงท้ายปียังมีทิศทางขาขึ้น ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเฝ้าระวังของสถาบันการเงินเพื่อควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้ไม่เป็นประเด็นกังวล แม้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ต้องยอมรับว่ายังมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ ที่ช่วยบรรเทาความกังวลต่อสถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนในภาพรวม ได้แก่ ประการแรก ครัวเรือนไทยยังคงมีจุดแข็งด้านสินทรัพย์ เนื่องจากครัวเรือนกว่าร้อยละ 90 เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ประการที่ 2 หนี้สินครัวเรือนสะสมร้อยละ 46.8 ต่อจีดีพี เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งช่วยปิดความเสี่ยงให้กับระบบการเงินไทยได้ส่วนหนึ่ง

     กระนั้นก็ดี เมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศทางไปจากปัจจุบัน สถานการณ์การออมภาคครัวเรือนที่ยังคงน่ากังวล อันสะท้อนจากระดับการออมภาคครัวเรือนต่อจีดีพีที่ถดถอยลงจากอดีต คงจะกลับมาเป็นโจทย์ของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานะทางการเงินของครัวเรือนไทยในระยะยาว อันจะทำให้สามารถผ่านด่านความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ในระยะถัดไป

     ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนไทยประจำไตรมาส 1/2558 พบว่ามีจำนวนรวม 10.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อนๆ ตามความคาดหมาย สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ไม่สดใสนัก ขณะที่หากเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (ซึ่งมีการปรับวิธีการคำนวณใหม่) แล้ว พบว่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ในระดับร้อยละ 79.9 ต่อจีดีพี ขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับร้อยละ 79.6 ณ สิ้นปี 2557 โดยการปรับเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/2558 คาดว่าเป็นผลจากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภค เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีทิศทางชะลอลงหรือค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

    ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องในไตรมาส 2 ต่อเนื่องถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ดังนี้ หนี้ครัวเรือน ยังมีแนวโน้มขยับขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2558 ต่อเนื่องจนถึงปลายปี 2558 ท่ามกลางความต้องการสินเชื่อจากครัวเรือนหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือนระดับกลางขึ้นไปที่ยังคงมีอุปสงค์ในการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ ท่ามกลางจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จซึ่งทยอยเข้าสู่ตลาดและอัตราดอกเบี้ยซึ่งอยู่ในระดับต่ำอันเอื้อต่อการกู้ยืมของครัวเรือน

    ส่วนครัวเรือนระดับกลางถึงล่างบางส่วน แม้จะเผชิญข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อใหม่จากธนาคารพาณิชย์มากขึ้น แต่ด้วยนโยบายสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของภาครัฐผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ก็น่าจะช่วยผลักดันสินเชื่อเพื่อประคองการอุปโภคบริโภคและการทำธุรกิจของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวไว้ได้ ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจนาโนไฟแนนซ์คงมีบทบาทในการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กย่อมบ้าง แต่ผลต่อการขับเคลื่อนหนี้ครัวเรือนสะสมน่าจะยังค่อนข้างจำกัดเนื่องจากเป็นระยะแรกของการให้บริการสินเชื่อประเภทดังกล่าว

    ทั้งนี้ จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ระดับหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2/2558 คงขยับขึ้นไปที่ระดับร้อยละ 80.5-80.7 ต่อจีดีพี หรือขยายตัวร้อยละ 6.0-6.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2558 ส่วนสิ้นปี 2558 หนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นแตะระดับร้อยละ 81.5 ต่อจีดีพี (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 81.0-82.0 ต่อจีดีพี)

     อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าว ถือเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถาบันการเงินเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อคุมคุณภาพหนี้ จากสัญญาณเศรษฐกิจที่ยังไม่เปลี่ยนภาพไปจากช่วงต้นปี โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อเพื่ออุปโภคและบริโภคอย่างสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตซึ่งไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังสะท้อนให้เห็นผ่านการอนุมัติสินเชื่อใหม่ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น

    อีกทั้ง ยังมีการออกมาตรการเพื่อสร้างวินัยทางการเงินและจำกัดการเบิกใช้สินเชื่อในกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง เช่น การจำกัดวงเงินกดเงินสดล่วงหน้าและการพิจารณาเข้มขึ้นเมื่อมีการขอวงเงินเพิ่ม เป็นต้น ส่วนการพิจารณาให้สินเชื่อก้อนใหญ่อย่างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งแม้ว่าจะมียอดการปฏิเสธสินเชื่อที่ต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ เนื่องจากลูกค้าที่ขอสินเชื่อมีความพร้อมสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ แต่ธนาคารพาณิชย์ยังคงพิจารณาเครดิตโดยอาศัยประวัติเครดิตที่ค่อนข้างดี ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ประกอบกัน เช่น ภาระหนี้จ่ายต่อรายได้รวม พฤติกรรมการผ่อนดาวน์ รวมถึงลักษณะโครงการที่อยู่อาศัยและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ร่วมด้วย ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ราคารถยนต์มือสองที่ถึงจุดต่ำสุดแล้วคงช่วยคลายความกังวลต่อปัญหาการทิ้งรถที่วกกลับมาเป็นปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการลดดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการช่วยเหลือลูกค้านั้น คงมีผลช่วยลดภาระให้กับครัวเรือนกลุ่มเสี่ยงได้บางส่วน

    แม้ว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนและปัญหาหนี้เอ็นพีแอลของกลุ่มลูกค้ารายย่อยในภาพรวมจะยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ต้องยอมรับว่ายังมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ ที่ช่วยบรรเทาความกังวลต่อสถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนในภาพรวม ได้แก่ ประการแรก ครัวเรือนไทยยังคงมีจุดแข็งด้านสินทรัพย์ เนื่องจากครัวเรือนกว่าร้อยละ 90 เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคซึ่งมีสัดส่วนเจ้าของที่อยู่อาศัยที่ราวร้อยละ 50-60 เท่านั้น

     ซึ่งสะท้อนว่าหนี้สินภาคครัวเรือนไทยจะขยับขึ้นต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อซื้อบ้านและที่อยู่อาศัยซึ่งเพิ่มสินทรัพย์ถาวรให้กับครัวเรือน อันช่วยบรรเทาความกังวลต่อภาวะเปราะบางของภาคครัวเรือนไปได้ส่วนหนึ่ง ประการที่ 2 หนี้สินครัวเรือนสะสมกว่าครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยกว่าร้อยละ 21.2 ต่อจีดีพี เป็นหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ขณะที่หนี้เพื่อเช่าซื้อ

    รถยนต์ และหนี้เพื่อทำธุรกิจ มีสัดส่วนเท่ากันที่ราวร้อยละ 12.8 รวมเป็นร้อยละ 46.8 ต่อจีดีพี ซึ่งถือเป็นหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำของสถาบันการเงิน ซึ่งช่วยปิดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินและระบบการเงินไทยไปได้ส่วนหนึ่ง

    โดยสรุปแล้ว หนี้ครัวเรือนที่เติบโตชะลอลง ควบคู่กับจุดแข็งด้านสินทรัพย์ของครัวเรือนไทยจากการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย และหนี้สินส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คงมีส่วนช่วยปิดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินและระบบการเงินไทยได้บางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายเครดิตที่ค่อนข้างระมัดระวังของสถาบันการเงินที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ กระนั้นก็ดี ในระยะถัดไปเมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศทางไปจากปัจจุบัน หนึ่งในประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพราะอาจย้ำความเปราะบางของภาคครัวเรือน คงได้แก่ สถานการณ์การออมภาคครัวเรือนที่ปรับลดลง

    ดังจะเห็นได้จากอัตราการออมของครัวเรือนในประเทศที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีน้อยลงตามลำดับ โดยล่าสุด ณ สิ้นปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 4.6 ต่อจีดีพี ชะลอลงจาก 5 ปีย้อนหลังซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.4 ต่อจีดีพี ขณะเดียวกัน ภาพดังกล่าวยังถูกตอกย้ำด้วยอัตราการเติบโตของกลุ่มผลิตภัณฑ์เงินออมของลูกค้ารายย่อย ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2556-2557) อันสะท้อนความสามารถในการรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและภาระดอกเบี้ยของครัวเรือนที่ถดถอยลงตามระดับการออม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะกลับมาเป็นโจทย์ของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโจทย์ของภาคครัวเรือนที่จะต้องรับมือกับต้นทุนทางการเงินที่ขยับขึ้น โจทย์ของสถาบันการเงินที่จะต้องบริหารคุณภาพสินทรัพย์และดูแลลูกค้าท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนทิศทางไป รวมถึงโจทย์เชิงนโยบายของทางการในการยกระดับการออมและสร้างวินัยทางการเงินให้กับภาคครัวเรือน ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานะทางการเงินของครัวเรือนไทยได้ในระยะยาว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!