- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 30 June 2015 22:48
- Hits: 6147
ธปท.รับ ศก.พ.ค.58 ฟื้นตัวช้า-เปราะบาง เหตุส่งออกซบ-การบริโภคอ่อนแอ รับจับตาปัญหากรีซใกล้ชิด แต่มั่นใจตลาดเงิน-ทุนรับมือได้
ธปท.เผย ศก.พ.ค.58 ฟื้นตัวช้าและเปราะบาง เหตุ ส่งออกซบเซา- การบริโภคอ่อนแอ โดยส่งออกติดลบ 5.5% นำเข้าติดลบ 20.3% เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 1.27% แต่เชื่อครึ่งปีหลังเงินเฟ้อฟื้นตัวตามทิศทางราคาน้ำมัน หลังมองไตรมาส2/58 เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำสุดแล้ว ส่วนสถานการณ์กรีซ รับจับตาใกล้ชิด มั่นใจตลาดเงิน-ตลาดทุน รองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ พร้อมชี้ ปัญหาภัยแล้งเป็นปัจจัยเสี่ยง ต่อการขยายตัวทาง ศก.
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างช้าๆและเปราะบาง โดยมีเพียงภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายการลงทุนของภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
โดยการส่งออกวในเดือน พ.ค.2558 มีมูลค่า 18,228 ล้านดอลลาร์ หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 5.5% ซึ่งเป็นการหดตัวมากกว่าเดือนก่อน สะท้อนแนวโน้มการส่งออกที่ยังไม่ดี โดยในภาพรวมยังคงได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ยังหดตัว เศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอลงส่งผลต่อความต้องการสินค้า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกในระยะต่อไปจะขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า
ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 14,077 ล้านดอลลาร์ หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.3% โดยเป็นการหดตัวจากมุกหมวด สินค้าสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา โดยหมวดเชื้อเพลิง หดตัวสูงตามการนำเข้าน้ำมันดิบที่ราคาในตลาดโลยังคงหดตัว รวมทั้งปริมาณการนำเข้าหดตัวจากผลของฐานสูงในระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการเร่งนำเข้าน้ำมันดิบหลังการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น
ส่งผลดุลการค้าในเดือนพ.ค. เกินดุล 4,151 ล้านดอลลาร์ สูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2553 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวสูง ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล 2,025 ล้านดอลลาร์ จากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติในไทยเป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,127 ล้านดอลลาร์
สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 1.27% จากปัจจัยด้านอุปทานทั้งจากราคาพลังงานและอาหารสดเป็นสำคัญ โดยราคาพลังงานหดตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและการลดเงินจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันของภาครัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.94%
อย่างไรก็ตาม มองว่าในช่วงต่อไปอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อในระดับปัจจุบัน หรือไตรมาส 2 ถือเป็นจุดที่ต่ำสุดแล้ว
ขณะที่ ดัชนีการอุปโภคบริโภคในเดือนพ.ค. อยู่ที่ 113.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 112.0 แต่อย่างไรก็ตามยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากครัวเรือนยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย เพราะรายได้เกษตรถูกบั่นทอนจากราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงมาอยู่ที่ 117.2 จากเดือนก่อนที่ 117.8
นางรุ่ง กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาหนี้ของกรีซ ว่า ธปท.อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่อย่างไรก็ตามมองว่าตลาดการเงิน และตลาดทุนสามารถรองรับความผันผวนได้ เนื่องจากมีการคาดการณ์สถานการณ์และรับรู้ข่าวสารมาอย่างต่อเนื่องแล้ว
“สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่เรามองขณะนี้ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์กรีซที่มีความไม่แน่นอน แต่มองว่าตลาดรับรู้ข่าวสารมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งมองว่าจะรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้”นางรุ่ง กล่าว
ด้านปัญหาภัยแล้งนั้น ธปท.ยอมรับว่าเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งธปท.อยู่ระหว่างติดตามอยู่ โดยธปท.ไม่ได้ดูผลกระทบเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรเท่านั้น แต่จะดูโดยรวมว่าจะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตหรือไม่
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย