- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 27 June 2015 12:26
- Hits: 3663
ธปท.เปิดรายงานกนง.คงดอกเบี้ยรักษา policy space รองรับความเสี่ยงในอนาคต
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.58 โดยระบุว่า กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% โดยเห็นพ้องว่าความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจยังมีอยู่และมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น จึงควรรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (policy space) ไว้สำหรับสถานการณ์ที่มีความจำเป็นและภายใต้บริบทที่การผ่อนคลายนโยบายการเงินจะเกิดประสิทธิผลมากขึ้น
อนึ่ง ในขณะนี้แรงขับเคลื่อนด้านการคลังที่มากขึ้นมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ จึงสามารถรอประเมินผลของการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาต่อภาคเศรษฐกิจจริงก่อน นอกจากนี้ กรรมการจำนวนหนึ่งเห็นว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจมีส่วนเพิ่มความไม่สมดุลทางการเงินที่อาจก่อตัวขึ้นภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมานาน เช่น พฤติกรรมแสวงหากำไรในสินทรัพย์เสี่ยง และแนวโน้มการออมของภาคครัวเรือนในระยะยาว
ในระยะต่อไปภายใต้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง คณะกรรมการฯ เห็นถึงความจำเป็นในการดูแลภาวะการเงินให้ผ่อนคลายเพียงพอและต่อเนื่องผ่านการใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่เหมาะสม ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้ policy space ที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินในระยะยาว
"ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ให้ความส่าคัญกับการพิจารณา trade-off ระหว่างประสิทธิผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม เทียบกับความจ่าเป็นในการรักษา policy space ที่มีจ่ากัดไว้ใช้ในระยะต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการดาเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาได้ช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายขึ้น ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนได้ปรับตัวในทิศทางที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น แต่การตอบสนองของธนาคารพาณิชย์ต่อการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมอาจน้อยและช้าลงในภาวะปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจจะยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากทั้งในและต่างประเทศในระยะข้างหน้า จึงควรพิจารณารักษา policy space ไว้รองรับ ความเสี่ยงดังกล่าวด้วย"รายงาน กนง.ระบุ
ทั้งนี้ กนง.มองว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด แม้ว่าทางการจีนได้ใช้มาตรการทั้งด้านการเงินและด้านการคลัง ช่วยดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลให้เศรษฐกิจเอเชียอื่นๆ (ไม่รวมญี่ปุ่น) มีแนวโน้มชะลอลงตามการส่งออกไปจีนและการค้าภายในภูมิภาคเอเชียที่หดตัว สอดคล้องกับภาคการผลิตที่ชะลอลงด้วย
ส่วนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยแรงส่งทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 1 และเดือน เม.ย.58 ชะลอลงจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง และการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย และการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการค้าโลก อย่างไรก็ดี การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ทำได้ดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่องมีบทบาทในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ
ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมสองครั้งที่ผ่านมาช่วยเพิ่ม สภาพคล่องและลดต้นทุนทางการเงินของธุรกิจได้บางส่วน ในระยะต่อไป เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ โดยมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะทำได้ดีและต่อเนื่อง รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตดี
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง ภาคครัวเรือนยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายตามรายได้ที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัว สถาบันการเงินยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และการส่งออกมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าคาดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย ทั้งนี้ แนวโน้มการฟื้นตัวของการบริโภคที่ยังเปราะบางและการส่งออกที่อ่อนแอเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนออกไป ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 58 จึงปรับลดลงมาอยู่ที่3.0% ขณะที่ประมาณการของปี 59 อยู่ที่ 4.1%
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและอาหารสดเป็นหลัก แต่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีด้วยผลของฐานราคาน้ำมันสูงที่จะทยอยหมดไป รวมทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันและอาหารสดที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นตามปริมาณการผลิตน้ำมันในตลาดโลกและอุปทานส่วนเกินของสินค้าเกษตรภายในประเทศที่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกแต่โน้มลดลงบ้าง เพราะแรงกดดันจากด้านอุปสงค์มีจำกัดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของปี 58 จึงปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ -0.5% และ 1.0% ตามลำดับ ขณะที่ประมาณการของปี 59 อยู่ที่ 1.6% และ 1.0% ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่าโอกาสของการเกิดภาวะเงินฝืดยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการอุปโภคบริโภคยังขยายตัว ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้น และการคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งก่อนช่วยให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายมากขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงทันทีหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี แรงขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดภูมิภาคในช่วงครึ่งแรกของเดือน พ.ค.58 ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางและยาวปรับเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน
อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทและดัชนีค่าเงินบาท(NEER)อ่อนค่าลงต่อเนื่องจาก การปรับมุมมองของผู้ร่วมตลาดต่อแนวโน้มค่าเงินบาทหลังการแถลงผลการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 29 เม.ย.58 และการประกาศแนวทางผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศของ ธปท.ในวันที่ 30 เม.ย.58 รวมทั้งเป็นผลจากการที่นักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ในเดือน พ.ค.สะท้อนจากเงินทุนไหลออกสุทธิจากตลาดพันธบัตรไทยในช่วงดังกล่าว
ทั้งนี้ ตลาดพันธบัตรและตลาดเงินตราต่างประเทศมีความผันผวนสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนของช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและความกังวลเรื่องการชำระหนี้ของกรีซ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดลงภายหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งก่อน แต่ในภาพรวมเป็นการปรับลดที่ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับการปรับลดหลังการประชุมเมื่อวันที่ 11 มี.ค.58
อินโฟเควสท์