- Details
- Category: ธปท.
- Published: Wednesday, 03 June 2015 09:15
- Hits: 1967
ธปท.เผยให้น้ำหนักอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
นายเมธี สภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโบบายการเงิน (กนง.) จากนี้จะให้น้ำหนักกับผลของอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นด้วย โดยที่ผ่านมาการลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งส่งผลค่อนข้างดีต่อค่าเงินบาท ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อภาคการส่งออก เพราะค่าเงินที่อ่อนลงจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อรายรับในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกให้เพิ่มขึ้น และช่วยสินค้าส่งออกบางกลุ่มที่เน้นการแข่งขันด้านราคา แต่ในระยะยาวต้องเร่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
“ธปท.ต้องยอมรับน้ำหนักของปัจจัยค่าเงินมากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวส่งผ่านที่สำคัญ จากเครื่องมือหลักคืออัตราดอกเบี้ย โดยที่ผ่านมา กนง.ก็ติดตามค่าเงินและผลกระทบมาโดยตลอด"นายเมธี กล่าว
ทั้งนี้ กนง.ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจโตได้อย่างมีเสถียรภาพผ่านการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลัก ผสมผสานเครื่องมืออื่นๆ เพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจให้มีความสมดุล ที่ผ่านมามีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแต่ยังช้าและเปราะบางกว่าที่คาดไว้ ทั้งจากอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวช้า กนง.จึงเห็นว่าปัจจัยค่าเงินมีความสำคัญมากขึ้น
นอกจากนี้ กนง.ควรมีการสื่อสารกับสาธารณะ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องค่าเงินและผลกระทบให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวหรือสามารถบริหารความเสี่ยงจากค่าเงินได้เหมาะสมตามสถานการณ์ และยืนยันว่า กนง.ไม่ได้ละเลยติดตามพัฒนาการและผลกระทบของค่าเงิน ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทในะระยะนี้ ธปท.ยังไม่พบสัญญาการเคลื่อนย้ายเงินทุนผิดปกติ หรือมีการเก็งกำไรค่าเงิน
นายเมธี กล่าวถึงสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 5-6 เดือนที่ผ่านมา โดยยืนยันว่ายังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด แม้ว่าจะพบว่ามีสัญญาณการชะลอการใช้จ่าย แต่แนวโน้มราคาน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังเริ่มทรงๆ และปรับตัวเพิ่มขึ้น ช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงต่อไป
อินโฟเควสท์
ธปท. ยัน แม้เงินเฟ้อติดลบล่าสุด แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด ย้ำ ไม่เห็นการเก็งกำไรค่าเงินบาท - ยังใช้ดบ. เป็นเครื่องมือดูแลนโยบายการเงิน
นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน พฤษภาคม ที่ติดลบร้อยละ 1.27 และเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นั้น ยังไม่ได้ถือว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคจะชะลอตัวลงบ้าง แต่ราคาสินค้าที่ปรับลดลงส่วนใหญ่เป็นราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลง
"เชื่อว่า ในระยะข้างหน้าเมื่อราคาน้ำมันเริ่มที่จะขยับขึ้น และความต้องการของผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้ ดังนั้นจึงยังไม่น่ากังวลเกี่ยวกับเรื่องของภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด" นายเมธี กล่าว
เขากล่าวด้วยว่า กนง. ต้องการสื่อสารให้สาธารณะเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและนโยบายการเงินในปัจจุบัน ว่า กนง. ให้ความสนใจต่ออัตราแลกเปลี่ยน ไม่ได้ชอบให้เงินบาทแข็ง และพร้อมจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวส่งผ่านนโยบายการเงิน แต่เครื่องมือหลักยังคงให้น้ำหนักกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการดูแลเสถียรภาพการเงิน โดยก็ยอมรับว่า ให้น้ำหนักกับอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้น เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้งล่าสุด ประกอบกับมาตรการผ่อนคลาย การไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ มีผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงค่อนข้างเร็วและมาก ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ส่งออก ทำให้มีรายรับในสกุลเงินบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคากับสินค้าส่งออกบางกลุ่ม
"ค่าเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้การส่งออกกลับมาขยายตัวดี ดังนั้น ผู้ส่งออกจะต้องศักยภาพการผลิตและพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น"นายเมธี กล่าว
นอกจากนี้ ยังกล่าวด้วยว่า กนง. ไม่ได้ละเลยและติดตามดูความผันผวนของค่าเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายอยู่ตลอด ซึ่งพบว่า ยังไม่มีการเก็งกำไรค่าเงินบาทแต่การที่บาทอ่อนลงเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากที่ตลาดคาดการณ์ไปในทิศทางที่ว่าเงินบาทจะอ่อนค่า แม้ว่ากระแสเงินทุนต่างชาติจะไหลออกไม่มากก็ตาม ซึ่งเป็นผลกระทบเชิงจิตวิทยา
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย