- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 29 May 2015 13:00
- Hits: 2345
ผู้ว่า ธปท.มองเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น,ระบุค่าเงินมีผลต่อส่งออกเพิ่มขึ้น
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวถึงตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 58 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประกาศว่าเติบโต 0.3% ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่ยังเป็นการฟื้นตัวในอัตราที่ต่ำ
ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่าลงในขณะนี้ ส่งผลให้รายได้ของภาคการส่งออกในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกจะฟื้นตัวขึ้นมาขยายตัวได้หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพสินค้า และความต้องการของประเทศคู่ค้าด้วย อย่างไรก็ตาม การเติบโตภาคส่งออกในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับกำลังซื้อมากกว่าอัตราแลกเปลี่ยน แต่ระยะหลังที่ปริมาณการค้าโลกเริ่มลดน้อยลง เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าไม่ค่อยดี จึงทำให้ปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้าไปมีผลกับการส่งออกมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับการแข่งขันด้านราคาด้วย
“อัตราแลกเปลี่ยนจะทำให้การส่งออกเติบโตได้มากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะคงต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพสินค้า และความต้องการของผู้ค้าด้วย ที่ผ่านมาการส่งออกเติบโตจากกำลังซื้อเป็นหลัก ผลจากอัตราแลกเปลี่ยนยังมีไม่มาก แต่ช่วงหลังๆ จะเห็นว่าเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนมีผลมากขึ้น"นายประสาร กล่าว
ส่วนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่อาจมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจเป็นช่วงปลายปีนี้ แต่ทางเฟดยืนยันว่าจะคำนึงถึงผลกระทบของตลาดการเงินโลกด้วย โดย ธปท.ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้วใน 3 ส่วน ได้แก่ 1.การรักษาพื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคให้เข้มแข็ง 2.รักษาความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ 3.รักษาระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ให้มีความมั่นคง
“จาก 3 ยุทธศาสตร์ดังกล่าว เชื่อว่าจะช่วยป้องกันได้ แม้เฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไทยก็จะสามารถรับมือได้ แต่ก็ไม่ควรประมาทเนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในด้านต่างๆ ที่ต้องค่อยๆ ประเมินและติดตาม"นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมออกกฎหมายล้างหนี้ว่า หากเป็นการล้างหนี้ที่ค้างอยู่ได้จริง ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ที่มองน่าจะเป็นการเลื่อนชำระหนี้มากกว่า โดยขยายเวลาของหนี้ระยะสั้นให้เป็นหนี้ระยะยาว เพราะหากรัฐบาลไม่ดำเนินการในส่วนนี้อาจส่งผลกระทบต่องบประมาณของประเทศ ทำให้ไม่มีงบประมาณไปใช้พัฒนาประเทศ อย่างไรก็ดี มองว่าการออกพันธบัตรล้างหนี้ตามแนวทางของรัฐบาลจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดเงินมากนัก
สำหรับ กรณีที่ ธปท.ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ให้ช่วยดูแลผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากมองว่าภาคธุรกิจ SMEs ยังไม่มีความเข้มแข็งเต็มที่ โดยสายป่านในตลาดเงินยังสั้น อาจทำให้การทำธุรกิจมีอุปสรรคได้ ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จะต้องช่วยประคองดูแลผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของ SMEs เพื่อให้สามารถกลับมาช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
อินโฟเควสท์