- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 17 May 2015 09:48
- Hits: 2475
กำชับสั่งห้ามทวงหนี้โหดแบงก์ชาติเรียก 5 นาโนไฟแนนซ์ซักซ้อมหลักเกณฑ์
บ้านเมือง : ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 13 พ.ค.58 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้การจัดประชุมชี้แจงแนวทางการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับหรือนาโนไฟแนนซ์ 5 ราย ได้แก่ 1.บริษัท เงินสดทันใจ 2.บริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล 3.บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ 4.บริษัท สหไพบูลย์ (2558) และ 5.บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล ที่ได้รับอนุญาตประกอบกกิจการจากกระทรวงการคลังแล้ว ให้รับทราบแนวปฏิบัติในการปล่อยกู้
นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ได้เชิญผู้ประกอบธุรกิจทั้ง 5 รายมาเพื่อชี้แจงนโยบายและแนวทางการกำกับดูแล และซักซ้อมความเข้าใจในหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องถือปฏิบัติตลอดจนช่องทางในการติดต่อประสานงานกับ ธปท. ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตแล้วต้องดำเนินธุรกิจเริ่มการปล่อยกู้ภายใน 1 ปี ภายใต้ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท และต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่เกิน 7 เท่า หรือคิดเป็นวงเงินที่ปล่อยกู้ได้รวมทุนแล้วประมาณ 400 ล้านบาท ปล่อยกู้ต่อรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท คิดดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมต่างๆได้เกิน 36% ต่อปี และหากจะดำเนินการปล่อยกู้ต้องแจ้ง ธปท.ด้วย
อย่างไรก็ดี ห้ามผู้ประกอบธุรกิจปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์รับเงินฝากหรือจัดหาเงินทุนจากประชาชน เว้นแต่การออกตั๋วเงินและเสนอขายต่อผู้ลงทุนในวงจำกัด (Private Placement) และออกหุ้นกู้ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ที่สำคัญผู้ประกอบธุรกิจต้องจำทำรายงานการปล่อยกู้ จำนวนราย วงเงินที่ปล่อยกู้ การผิดนัดชำระหนี้ หรือรายงานอื่นๆ ที่ ธปท.ให้ ธปท.และกระทรวงการคลังรับทราบภายในวันที่ 21 ของเดือนถัดไป นอกจากนี้ในการปล่อยกู้ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้บริโภค การติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรมห้ามทวงหนี้โหด และในระยะต่อไป ธปท.อาจพิจารณาถึงความเหมาะสมในการขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติด้วย
ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในช่วงสั้นเท่านั้น โดยสาเหตุปรับลดลงขณะนี้เป็นช่วงเตรียมรอผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในช่วงไตรมาส 1 เช่น กลุ่มธนาคารที่ได้เริ่มกันสำรองมากขึ้น และกลุ่มพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหุ้นจะปรับลงอีกหรือไม่ ตลท.มองว่าจะใกล้เคียงกับระดับนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ 1,400 จุด โดยแนวโน้มตลาดหุ้นในครึ่งปีหลัง ควรพิจารณาลงทุนในกลุ่มที่ได้ประโยชน์เงินบาทอ่อนค่าในกลุ่มผู้ส่งออก
นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย กล่าวถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของนักธุรกิจในช่วงไตรมาสแรก พบว่าปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.53 ตามการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทั้งในปัจจุบันและอนาคต หลังเศรษฐกิจในไตรมาสแรกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด แม้ภาครัฐได้เร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่การบริโภคภาคเอกชนยังถูกบั่นทอนจากสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น และการส่งออกที่หดตัว
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นยังสูงกว่าระดับปกติ (50) และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่เกิดวิกฤติการเมือง (49.52) เนื่องจากเศรษฐกิจและธุรกิจโดยรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัว อีกทั้งมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะส่งผลบวกต่อต้นทุนธุรกิจ รวมถึงมีความคาดหวังเชิงบวกต่อมาตรการลงทุนภาครัฐ ที่จะเริ่มเห็นผลชัดเจนในครึ่งปีหลัง
นายพูลพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นลดลง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตร ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจการเงิน ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้สินเชื่อและคุณภาพหนี้ลดลง โดยเฉพาะรายย่อย ส่วนธุรกิจเกษตรเป็นธุรกิจเดียวที่ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจปศุสัตว์มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และผลผลิตขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี
ทั้งนี้ ผลจากการส่งออกที่โตต่ำกว่าที่คาดไว้ อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนยังถูกกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ จึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 เหลือร้อยละ 3.0-3.5 อย่างไรก็ตาม การเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จะผลักดันให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนภาคเอกชนตามมา และกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น