- Details
- Category: ธปท.
- Published: Sunday, 17 May 2015 09:36
- Hits: 2196
หนี้เสียแบงก์พุ่ง 2 หมื่นล้านสินเชื่ออืดขยายตัวเพียง 4%คลังปัดเงินฝืดแค่ศก.ชะลอ
ไทยโพสต์ : พระราม 6 * ธปท.แจงผลดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 58 สินเชื่อขยายตัวชะลอลงเหลือ 4.3% หนี้เสียเพิ่ม 2.11 หมื่นล้านบาท คลังยันไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แจงแค่เศรษฐกิจตกต่ำ
นายจาตุรงค์ จันทรรังษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถา บันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรกที่ผ่านมา ขยายตัวได้ 4.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และชะลอตัวจาก 5% ในไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตังลดลง 2.9% จากไตรมาสก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นภาคการพาณิชย์ โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอีเริ่มกลับมาขยายตัวสูงขึ้นที่ 4.5% ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 7.6% และสินเชื่อรถยนต์ยังคงหดตัวต่อเนื่องโดยลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มียอดคงค้าง 2.98 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2.11 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยคิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.29% จาก 2.15% ในไตรมาสก่อน ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ทรงตัว และมีกำไรที่มาจากธุรกรรมเพื่อค้าและการขายเงินลงทุนสูงขึ้น โดยกำไรสุทธิในไตร มาสแรกอยู่ที่ 1.4% จากช่วงเดียว กันของปีก่อน
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า แนว โน้มเอ็นพีแอลไตรมาส 2 มีแนวโน้มสูงขึ้นมาจากเอสเอ็มอี และอุปโภคบริโภคมีโอกาสปรับเพิ่ม สูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรก จากภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ทยอย ฟื้นตัว และยังไม่น่าลดลงในระยะสั้น แต่ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เนื่องจากสถาบันการเงินมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง และธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,025.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ ในไตรมาสแรก ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 5.25 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันของปีก่อน
ด้าน นายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่อยู่ในภาวะเงินฝืด แต่เป็นสถาน การณ์ที่เศรษฐกิจตกต่ำชะลอตัว เรียกว่าเงินไม่มี จึงยังไม่อยากให้กังวล เนื่องจากประชาชนถูก ปฏิเสธการขอสินเชื่อจากธนาคาร เพราะธนาคารกลัวเป็นหนี้เสีย ทำให้ไม่กล้าปล่อยกู้
นอกจากนี้ ในส่วนรายได้จากการส่งออกยังคงได้น้อย เนื่องจากการส่งออกหดตัว ทำให้ เงินไม่สามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน รายได้ของเกษตรกรก็ได้น้อยลง เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทำให้รายได้ของเกษตรกรน้อยลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ ภาวะดังกล่าวถือเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ชะลอตัว เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปีนี้ซบเซามากกว่าปีที่ผ่านมา
เศรษฐกิจไทยในปีนี้ถือ ว่าโชคดี เราทำก็ไม่ได้เก่งมาก แต่เราโผล่ออกมาจากหลุมได้ หากย้อนดูเศรษฐกิจครึ่งปีแรกของปี 2557 ที่ขยายตัวติดลบ แต่ในครึ่งปีหลังรัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หามาตรการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องจนขยายตัวเป็นบวก ทำให้ทั้งปี 2557 ขยายตัวได้ 0.7% โดยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% ต่อปี" นายสมหมายกล่าว.
ธปท.เผย Q1/58 สินเชื่อแบงก์พาณิชย์ โตชะลอ-NPL เพิ่มจากศก.ฟื้นช้า เชื่อ H2 ฟื้น
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2558 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้ากว่าที่คาดส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อด้อยลงบ้าง อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองและเงินกองทุนในระดับสูง ขณะที่ผลการดำเนินงานยังมีกำไร
เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้ากว่าที่คาด กอปรกับความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากระยะเดียวกันปีก่อนชะลอตัวจากร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อน สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 68.7 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.9 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยชะลอตัวมากในสินเชื่อภาคการพาณิชย์เป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อภาคสาธารณูปโภคโดยเฉพาะโรงไฟฟ้า และการขนส่งสินค้าและสถานที่เก็บสินค้ายังขยายตัวได้ดีในอัตราสูงต่อเนื่อง สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวชะลอลงมากที่ร้อยละ 1.0 จากร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อน จากการที่บริษัทขนาดใหญ่หันไประดมทุนผ่านการออกตราสารแทนการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อ SME เริ่มกลับมาขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 4.5 หลังจากที่ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2557 สินเชื่ออุปโภคบริโภค(ร้อยละ 31.3ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 7.6 โดยยังขยายตัวในสินเชื่อเพื่อการใช้จ่ายส่วนบุคคลและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ยังคงหดตัวต่อเนื่องโดยลดลงร้อยละ 4.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน
คุณภาพสินเชื่อโดยรวมด้อยลงจากสินเชื่อ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) มียอดคงค้าง 298.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 21.1 พันล้านบาท เทียบกับยอดสินเชื่อรวมทั้งหมด 13.0 ล้านล้านบาท สัดส่วน Gross NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.29 จากร้อยละ 2.15 ในไตรมาสก่อน ขณะที่คุณภาพสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ทรงตัว สินเชื่อธุรกิจ SME ขนาดเล็กและสินเชื่ออุปโภคบริโภคมี NPL เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกัน สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) เพิ่มขึ้นเป็น 366.2 พันล้านบาท ในสินเชื่อหลายประเภท สัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมจึงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.61 เป็นร้อยละ 2.81 อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์มีการดูแลและติดตามบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 165.9
ระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2558 มีกำไรสุทธิ 52.5 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันของปีก่อน จากการตีราคาตราสารทางการเงินและการขายตราสารหนี้ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,025.1 พันล้านบาท ลดลง 18.1 พันล้านบาทจากสิ้นปีก่อน จากการไถ่ถอนและทยอยลดนับตราสารหนี้ Tier-2 ที่ขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ Basel III ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 16.6 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier-1 ratio) ทรงตัวที่ร้อยละ 13.7
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า แนวโน้ม NPLไตรมาส 2 ของสินเชื่อ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีโอกาสปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรก จากภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวและยังไม่น่าลดลงในระยะสั้น แต่ทั้งนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เนื่องจากสถาบันการเงินมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง และธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,025.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 5.25 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่าการขยายตัวสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้เป็นไปตามคาดการณ์ 7% ภายใต้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ปี 2558 ที่ 3.8 - 4% เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังคงเป้าการปล่อยสินเชื่อ และมองว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะฟื้นตัว โดยมองว่าจะมาจากการเติบโตของสินเชื่อทุกกลุ่มที่คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างน้อย 10% ในทุกกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ที่ยังมีแนวโน้มลดลง ส่วนแนวโน้มสินเชื่อรายใหญ่คาดว่าขยายตัวต่อเนื่อง
อินโฟเควสท์