- Details
- Category: ธปท.
- Published: Saturday, 02 May 2015 07:40
- Hits: 2769
กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%หลังแนวโน้มศก.ฟื้นต่ำกว่าคาด
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 29 เม.ย.58 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 1.50% หลังประเมินว่าเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวต่ำกว่าคาด แม้ว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐจะทำได้เพิ่มขึ้นและท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกและการบริโภคที่อ่อนแรงในไตรมาส 1/58 อีกทั้งในระยะข้างหน้ามองว่าการส่งออกยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และโครงสร้างการค้าโลก
ดังนั้น กนง.มองว่านโยบายการเงินต้องผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าการลดอตราดอกเบี้ยรอบนี้จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นได้
นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ กนง.แถลงว่า ประเด็นที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญในการตัดสินนโยบาย มีดังนี้ เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แม้การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ทำได้เพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชนที่อ่อนแรงกว่าคาดมากในไตรมาสที่ 1/58
นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าภาคการส่งออกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และโครงสร้างการค้าโลกและภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงโดยคู่ค้าหลักมีการพึ่งพาการนำเข้าลดลง รวมทั้งจากแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ การหดตัวของการส่งออกอาจส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคครัวเรือนอ่อนแอลงตามกำลังซื้อและความเชื่อมั่นที่ลดลงแรงกดดันเงินเฟ้อลดต่ำลงสอดคล้องกับอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจที่มีน้อยกว่าคาด ขณะที่ต้นทุนโดยเฉพาะราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อเนื่องเพิ่มสูงขึ้นและการคาดการณ์เงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับลดลง
ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ เสียงส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาวะที่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น ตลอดจนดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คณะกรรมการฯ เสียงส่วนน้อยเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมามีส่วนช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมมีจำกัด ขณะที่แรงขับเคลื่อนด้านการคลังที่มากขึ้นจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง จึงเห็นควรให้รอประเมินผลต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินก่อนที่จะดำเนินนโยบายเพิ่มเติม
ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้ภาวะการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินของไทยและใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมต่อไป
อินโฟเควสท์