- Details
- Category: ธปท.
- Published: Friday, 10 April 2015 22:20
- Hits: 2186
ลุ้นไตรมาส 2 หากส่งออกไม่ฟื้นจีดีพีหลุดเป้าแน่-ชี้รัฐต้องเร่งลงทุน
แนวหน้า : ลุ้นไตรมาส 2 หากส่งออกไม่ฟื้นจีดีพีหลุดเป้าแน่-ชี้รัฐต้องเร่งลงทุน ธปท.กดดันคลังเร่งเบิกจ่าย
แบงก์ชาติยอมรับเศรษฐกิจไทยซบเซามานาน ดังนั้นจีดีพี ปี 2558 ต้องลุ้นให้ส่งออก ฟื้นตัวภายในไตรมาส 2-3 หากยังต่ำ กดจีดีพีทั้งปีร่วงหลุดเป้า ชี้รัฐต้องเร่งลงทุน เพื่อให้ภาคเอกชนขยับตาม ส่วนหนี้ครัวเรือนยังไม่นาห่วง เชื่อปี’59 ลดลง หลังลูกค้ารถคันแรกเริ่มส่งค่างวดหมดแล้ว
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มป่วยมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ปี 2549 โดยอัตราการขยายตัวปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และภัยธรรมชาติ ซึ่งทำให้การลงทุนก็ปรับตัวลดลงตามไปด้วย สำหรับปี 2558 จะต้องจับตาเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 โดยเฉพาะภาคการส่งออก ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 และ 3 จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการส่งออก โดยมูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละ 19,200 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกปีนี้จึงจะโตได้ 0.8% แต่หากมูลค่าการส่งออกไทยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกปีนี้จะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ หากการส่งออกติดลบและเศรษฐกิจไตรมาส 2 ไม่ฟื้นตัว อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสที่จะโตต่ำกว่า 3.8% แต่ ธปท. ยังเชื่อว่าการส่งออกและจีดีพี ปีนี้ ยังมีความหวังที่จะขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ หรืออย่างน้อยจีดีพีปีนี้ก็มีโอกาสขยายตัวได้ 2.5% หากจีดีพีทุกไตรมาสไม่ขยายตัวเลย ธปท.จะมีการปรับประมาณการจีดีพีใหม่อีกครั้ง
สำหรับ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคือการลงทุนและการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งปีนี้ประเมินว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ 8% ซึ่งจะเห็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในปี 2559-2560
ดังนั้น หากรัฐบาลลงทุนได้ตามแผนที่วางไว้จะทำให้เอกชนลงทุนตาม ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่หมดความหวังสามารถจะขยายตัวกลับมาได้
ส่วนภาวะหนี้ภาคครัวเรือนนั้น อัตราการขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการที่ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายและสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยกู้ ซึ่งเชื่อว่าหนี้ภาคครัวเรือนจะมีแนวโน้มดีมากขึ้นปี 2559 เนื่องจากภาระหนี้จากโครงการรถยนต์คันแรกจะผ่อนชำระหมด สำหรับผู้ที่ผ่อนชำระ 4 ปี ทำให้ผู้บริโภคกลับมามีรายได้จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จากที่ปัจจุบันภาระหนี้รถยนต์คันแรกมีสัดส่วนสูงกดดันการบริโภคของประชาชน ดังนั้น จึงไม่น่ากังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่จะเพิ่มขึ้น ด้านรายได้ของครัวเรือนยังทรงตัว การจ้างงานยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อัตราการว่างงานอยู่ระดับต่ำ แต่ยังต้องติดตาม ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน เกษตรกรรมที่มีความเปราะบางด้านรายได้จากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ
ส่วนความเคลื่อนของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้น 1% ซึ่งถือว่าไม่ได้แข็งค่ามากแต่ค่าเงินประเทศอื่นในภูมิภาคต่างก็ค่าเงินอ่อนค่าลง โดยอ่อนค่าลงประมาณ 2-4% เช่น อินโดนีเซียอ่อนค่าลง 4% มาเลเซียอ่อนค่าลง 3.6% สิงคโปร์อ่อนค่าลง 2.5% ซึ่งก็ยอมรับว่าผลจากที่เงินบาทแข็งค่ากระทบการส่งออกบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลัก สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว และตลาดหลักของไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง เช่น ตะวันออกกลาง ดังนั้นจึงต้องมองหาตลาดใหม่ๆ เช่น กลุ่มประเทศอินโดจีน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม
ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวหลังทำพิธีงานสถาปนาครบรอบ 140 ปี ว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 6 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2558 ยอดเบิกจ่ายโดยรวมสิ้นเดือนมีนาคม เบิกจ่ายได้ 55% เป็นงบลงทุน 32% เป็นโครงการก่อหนี้แล้ว 64% คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการเบิกจ่ายจะเร่งรัดเบิกจ่ายได้มากกว่าครึ่งปีแรก ดังนั้น กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ มั่นใจว่างบลงทุนจะเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่ 80% และงบประจำเบิกจ่ายได้ 90%
“หลังจาก ครม.กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่ายและอาจส่งผลต่อการโยกย้าย หากทำไม่ได้ถึงเป้าหมายนั้น จากการติดตามดูการเบิกจ่ายพบว่าส่วนราชการที่มีงบลงทุนสูงเริ่มเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้น เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน “นายวิสุทธิ์ กล่าว
ด้านนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์การหนี้ครัวเรือนของไทย ซึ่งข้อมูลล่าสุดไตรมาส 4 ปี 2557 มีจำนวน 10.4 ล้านล้านบาท หรือ 85% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ว่า เป็นระดับที่ยังบริหารจัดการได้ ไม่น่าเป็นกังวล เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่มีคุณภาพมีสัดส่วนถึง 75% ได้แก่ หนี้ที่อยู่อาศัย หนี้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หนี้สินเชื่อธุรกิจ ซึ่งหนี้เหล่านี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงหนี้สหกรณ์ที่ปล่อยกู้ให้กับสมาชิก
“หนี้ที่เสี่ยงสูง เช่น หนี้เพื่อการบริโภค หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล มีสัดส่วนเพียง 25% นอกจากนี้ ยังพบว่าหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ผ่านสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และสหกรณ์ ซึ่งมีสัดส่วนการกู้ถึง 87% ดังนั้น เชื่อว่าสถาบันการเงินจะดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด”