- Details
- Category: ธปท.
- Published: Tuesday, 31 March 2015 21:33
- Hits: 1764
ธปท.เผย ศก.เดือน ก.พ.58 ฟื้นตัวช้า หลังการบริโภคภาคเอกชน-ส่งออกติดลบ แต่ย้ำทั้งปีส่งออกโต 0.8% ตามเป้า พร้อมลั่นไม่เกิดภาวะเงินฝืด
ธปท.เผย ศก.เดือน ก.พ.58 ฟื้นตัวช้า หลัง การบริโภคภาคเอกชน-ส่งออกติดลบ แต่ยังย้ำเป้าทั้งปีส่งออกโต 0.8% แม้ 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.58) ยังติดลบ ยันไม่เกิดภาวะเงินฝืด แม้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผล เงินเฟ้อทั่วไป ก.พ. 58 ติดลบ 0.52 % ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จาก ม.ค.58 ที่ติดลบ 0.41%
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยการใชัจ่ายภาคเอกชนทรงตัว เนื่องจากครัวเรือนและธุรกิจยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย การใช้จ่ายภาครัฐใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่การส่งออกสินค้าเห็นผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนและอาเซียนที่ชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งนี้ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบเป็นเดือนที่ 2 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5
"การใช้จ่ายในประเทศของครัวเรือน ธุรกิจ และภาครัฐใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนทรงตัว เนื่องจากกำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรกรยังอยู่ในระดับต่ำตามราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ทั้งข้าวและยางพารา ขณะที่รายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรยังทรงตัว"นางรุ่ง กล่าว
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่า 17,069 ล้านดอลลาร์ หดตัว 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากราคาสินค้าส่งออกหลายหมวดที่หดตัวตามราคาน้ำมันดิบ อุปสงค์ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียโดยเฉพาะจีน และกลุ่มอาเซียนรวมถึงกลุ่มประเทศยุโรป การตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือ GSP ในทุกสินค้าที่ส่งออกไปยังกลุ่มยุโรป และการเหลื่อมเดือนของเทศกาลตรุษจีนที่ตรงกับเดือนนี้ ทำให้มีวันหยุดยาวในประเทศแถบเอเชียหลายตลาด
ส่วนการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเร่งนำเข้าทองคำในช่วงที่ราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับลดลงประกอบกับฐานต่ำในระยะเดียวกันของปีก่อนตามราคาทองคำอยู่ในช่วงขาขึ้นส่งผลดุลการค้าเกินดุล 2,568 ล้านดอลลาร์ เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,508 ล้านดอลลาร์
"แม้ภาพรวมการส่งออกจะติดลบ 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.58) แต่ธปท.ยังคงมองว่าภาคการส่งออกทั้งปีนี้ยังขยายตัวได้ที่ 0.8%"นางรุ่ง กล่าว
สำหรับ ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ. 58 นั้นมองว่า แม้จะยังอยู่ในระดับติดลบ เพราะประชาชนยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย แต่ไม่ได้ถือว่าน่ากลัวจนนำไปสู่ภาวะเงินฝืด โดย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.พ. ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 0.52% เพิ่มขึ้นจาก ม.ค.58 ที่ติดลบ 0.41% เนื่องจาก ราคาพลังงานจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามในเดือนนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มปรับขึนบ้างจากเดือนก่อนตามความเชื่อมั่นของตลาด ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น ส่วนราคาอาหารสดชะลอลวตามราคาเนื้อสัตว์และไข่ไก่ เนื่องจากปริมาณผลผลิตสุกรเพิ่มขึ้นภายหลังปัญหาโรคระบาด
ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเดือน ก.พ.ติดลบ 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวได้ 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า
ขณะที่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงมาอยู่ที่ 109.6 จาก 109.7 จาก ม.ค. 58 เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ทำให้ภาคการผลิตยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่พอสมควร นอกจากนี้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอยูาในระยะเริ่มต้น
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน ก.พ.58 ดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยจาก 49.0 มาอยู่ที่ระดับ 49.4 ตามดัชนีความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและการลงทุนเป็นสำคัญ ดัชนีความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อที่ปรับดีขึ้นมาจากผู้ประกอบการในภาคที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มการค้าส่ง ส่วนหนึ่งจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ขณะที่ดัชนีด้านการลงทุนที่ปรับดีขึ้นมาจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม แต่ยังเป็นเพียงบางกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เคมีและกระดาษ
อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังทรงตัวใกล้กับระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 สะท้อนความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมองว่าความต้องการจากตลาดในประเทศต่ำยังคงเป็นข้อจำกัดสำคัญอันดับ 1 ในการดำเนินธุรกิจติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 สะท้อนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ช้า
สำหรับ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่าภาวะทางธุรกิจจะดีขึ้นจากปัจจุบัน สะท้อนจากดัชนีฯในเกือบทุกองค์ประกอบที่อยู่เหนือระดับ 50 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ปรับลดลงจากเดือนก่อนที่ 56.3 มาอยู่ที่ระดับ 54.8 ในเดือนนี้ จากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคที่มิใช่อุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อน
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย