WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธปท. เล็งทบทวนตัวเลข ศก.ปี58 แถลง20 มี.ค.นี้ หลังมอง ศก.ม.ค.58 ฟื้นตัวช้า ลั่นจะใช้ทุกข้อมูล ตัดสินใจนโยบายการเงินดูแล ศก.

    ธปท. เล็งทบทวนตัวเลข ศก.ปี58 แถลง20 มี.ค.นี้ หลังมอง ศก.ม.ค.58 ฟื้นตัวช้า เหตุภาคครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย ภาคธุรกิจรอความชัดเจนลงทุนรัฐ แถมส่งออก ม.ค.58 ติดลบ 2.6% นำเข้าติดลบ 14.8% เงินเฟ้อ ม.ค. 58 ติดลบ 0.41%  ลั่นจะใช้ทุกข้อมูล ตัดสินใจนโยบายการเงินดูแล ศก. พร้อมเผยเดือน ม.ค.58 มีเงินไหลออก ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ 1.89 พันล้านดอลล์ ระบุไหลออกไปลงทุนต่างประเทศ

  นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะนำข้อมูลทางเศรษฐกิจล่าสุดเพื่อพิจารณาปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี โดยปัจจุบันคาดการณ์อยู่ที่ 4.1% รวมทั้งพิจารณาตัวเลขการส่งออกทั้งปี 2558 แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นตัวเลขใด ซึ่งคงต้องรอติดตามการประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มี.ค.นี้

    สำหรับ ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2558 เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน เพราะครัวเรือนยังระมัดระวังการใช้จ่าย และธุรกิจยังรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ

    โดยแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐมีน้อยลงหลังจากที่เร่งเบิกจ่ายในเดือนก่อนๆ และการส่งออกสินค้าลดลงตามอุปสงค์จากจีนและอาเซียนที่ชะลอตัว รวมทั้งราคาสินค้าส่งออกหลายหมวดปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบ ทั้งนี้ ราคาน้ำมันโลกที่ต่ำลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

    “การบริโภคภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากครัวเรือนยังระมัดระวังในการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพราะกำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรกรถูกบั่นทอนจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ โดยเฉพาะราคายางพารา และรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรยังทรงตัว ประกอบกับภาระหนี้อยู่ในระดับสูง โดยรวมแล้วราคาน้ำมันที่ลดลงยังไม่ส่งผลดีอย่างชดเจนต่อการบริโภค”นางรุ่งกล่าว

     ขณะที่การส่งออกสินค้า เดือน ม.ค.2558  มีมูลค่า 17,163 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากราคาสินค้าส่งออกที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบอุปสงค์จากกลุ่มประเทศเอเชีย โดยเฉพาะจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงกลุ่มประเทศยุโรปที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ตามสิทธิประโยชน์จากภาษี หรือ GSP ในทุกสินค้าที่ส่งออกไปทุกกลุ่มประเทศยุโรปที่เริ่มมีผลในเดือนนี้ ทั้งนี้มีเพียงการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และ CLMV ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

  ด้านการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 15,771 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 14.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบที่หดตัวตามราคาในตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่สินค้าในหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า  ส่งผลดุลการค้า ม.ค.58 เกินดุล 1,392 ล้านดอลลาร์  ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,506 ล้านดอลลาร์

   และในเดือน ม.ค.อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัว 0.41% ตามราคาพลังงานเป็นสำคัญ โดยราคาพลังงานหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาในตลาดโลกและค่าไฟฟ้าผันแปร หรือเอฟที ในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2558 ที่ปรับลดลง 10 สตางค์ต่อหน่วย ตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลง

    สำหรับ ราคาอาหารสดชะลอลงตามราคาเนื้อสัตว์ เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากธปท. เผย ดุลบัญชีเดินสะพัด ม.ค. 58 เกินดุล 2.50 พันล้านดอลล์ 

    ส่วนดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเดือน ม.ค.อยู่ที่ 108.4 เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.2557 ที่อยู่ 108.2  อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังคงทรงตัวตามปัจจัยพื้นฐาน ทั้งรายได้นอกภาคเกษตรที่ทรงตัวและรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับต่ำ ผู้บริโภคบางส่วนจึงไม่มั่นใจที่จะใช้จ่ายประกอบกับสถาบันการเงินยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อให้กับครัวเรือน ทำให้ราคาน้ำมันที่ลดลงยังไม่ส่งผลดีต่อการบริโภคของครัวเรือนมากนัก

   อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจในเดือน ม.ค.จะฟื้นตัวล่าช้า ธปท.จะใช้นโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่นั้น มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง. จะใช้ข้อมูลทุกข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินในครั้งต่อไป ซึ่งจะมีการแถลงตัวเลขในวันที่ 11 มี.ค.นี้

 นางรุ่ง  เปิดเผยด้วยว่า ในเดือน ม.ค.2558 มีเงินไหลออกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ 1,894 ล้านดอลลาร์ โดยมีสาเหตุจากการเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศและชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงินเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ สอดคล้องกับความต้องการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ส่งออกไทยที่ลดลง

 นอกจากนี้ ยังมีผลจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนไทย ทั้งในรูปแบบการลงทุนในหลักทรัพย์ โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้นในฮ่องกง สหรัฐฯ และบราซิล และการลงทุนโดยตรงในประเทศเวียดนาม สหรัฐฯ และอินโดนีเซีย ของธุรกิจการขุดเจาะปิโตรเลียม การผลิตเคมีภัณฑ์ และธุรกิจขายปลีกและขายส่ง

     รวมทั้งการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในหลักทรัพย์ไทย ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ สอดคล้องกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และความผันผวนในตลาดการเงินโลก จากการประกาศจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE เพิ่มเติมของธนาคารกลางยุโรป รวมทั้งการยกเลิกเพดานอัตราแลกเปลี่ยน และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารสวิสเซอร์แลนด์

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย  

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!